ประวัติการตีพิมพ์ ของ การเสียดินแดนของไทย

แผนที่ประวัติอาณาเขตต์ไทย พิมพ์โดยกรมแผนที่ทหารเมื่อ พ.ศ. 2483

ชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย จัดพิมพ์ครั้งแรกโดยกรมแผนที่ทหารเมื่อประมาณ พ.ศ. 2478-2479[4] ส่วนแผนที่ประวัติอาณาเขตไทยก็พิมพ์ขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 เช่นกัน แต่ฉบับที่แพร่หลายเป็นอีกฉบับหนึ่งซึ่งตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2483 ในช่วงที่อุดมการณ์มหาอาณาจักรไทยที่สนับสนุนโดยรัฐบาลจอมพล ป. กำลังแพร่หลาย และมีกระแสเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส แผนที่นี้ถูกแจกจ่ายไปยังโรงเรียนและหน่วยงานของรัฐเป็นวงกว้าง จนทูตของอังกฤษและฝรั่งเศสออกมาคัดค้าน รัฐบาลจึงได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับการพิมพ์แผนที่ดังกล่าว แต่หลังจากนั้นลูกน้องคนสนิทของจอมพล ป. คนหนึ่งก็เข้ามาจัดการแจกจ่ายแผนที่แทน[3]

ขบวนการเรียกร้องดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนอย่างกว้างขวาง และประเทศไทยภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. ก็ได้ส่งทหารเข้าสู้รบในกรณีพิพาทอินโดจีนใน พ.ศ. 2483 เพื่อยึดดินแดนที่เสียไปคืน ประเทศไทยได้ประโยชน์จากการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยได้ผนวกดินแดนดังกล่าวบางส่วน แต่ก็ต้องสละการอ้างสิทธิ์ไปหลังญี่ปุ่นแพ้สงคราม แม้บรรยากาศทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไป แต่แผนที่เหล่านี้ก็ยังคงอยู่ได้จากการนำมาเผยแพร่ผ่านสื่อการสอนในโรงเรียน

ใน พ.ศ. 2500 พ.อ.พูนพล อาสนจินดา อดีตเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารและศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดทำชุดแผนที่ที่คล้ายกัน (ซึ่งรวมทั้งชุดแผนที่ประวัติศาสตร์ไทย และแผนที่ประวัติอาณาเขตไทย) ให้กับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช โดยใช้ชื่อว่า บันไดประวัติศาสตร์ไทยแต่โบราณ แผนที่ชุดนี้ถูกพิมพ์ขายเป็นแผ่นขนาดประมาณหน้าหนังสือพิมพ์ และถูกนำไปใช้ตามโรงเรียนอย่างแพร่หลาย[5]

ใน พ.ศ. 2506 แผนที่ชุดนี้ถูกทำขึ้นอีกแบบหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเรียนแผนที่ภูมิศาสตร์ที่วาดโดยนายทองใบ แตงน้อย ครูใหญ่โรงเรียนจากปราจีนบุรี แผนที่ของทองใบถูกจัดพิมพ์โดยไทยวัฒนาพานิชเช่นกัน และเป็นแบบเรียนที่ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกใช้อย่างแพร่หลายในโรงเรียนทั่วประเทศมาหลายสิบปี โดยพิมพ์ครั้งที่ 44 ไปใน พ.ศ. 2557[6] คนไทยส่วนใหญ่ทุกวันนี้ต่างคุ้นเคยกับแผนที่ชุดนี้จากหนังสือของนายทองใบ[3][7]

หลังจากนั้นแผนที่ชุดนี้ โดยเฉพาะแผนที่ประวัติอาณาเขตไทย ก็ยังถูกทำขึ้นใหม่อีกหลายแบบหลายครั้ง บางฉบับทำขึ้นโดยนักประวัติศาสตร์เพื่อกล่าวถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์[3] บางฉบับก็ทำขึ้นโดยองค์กรหรือกลุ่มที่นำมาใช้ในทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนกับกัมพูชา ใน พ.ศ. 2546 หลังเกิดเหตุโจมตีสถานทูตไทยในการจลาจลในพนมเปญ กรมแผนที่ทหารได้จัดทำแผนที่แสดงการเสียดินแดนของสยามขึ้นมาใหม่ ซึ่งอ้างเหตุการณ์สูญเสียดินแดนถึง 13 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากแผนที่ก่อนๆ หน้าที่มักระบุประมาณ 8 ครั้ง และเมื่อเหตุพิพาทปราสาทพระวิหารปะทุขึ้นอีกใน พ.ศ. 2551 ก็มีวิดีโอที่ไม่ระบุผู้จัดทำถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งนำเสนอแผนที่อีกแบบหนึ่งที่นับการสูญเสียดินแดนถึงสิบสี่ครั้ง[5]

ใกล้เคียง

การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง การเสกสมรสระหว่างราชวงศ์ การเสียชีวิตของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ การเสียกรุงคอนสแตนติโนเปิล การเสียชีวิตของไมเคิล แจ็กสัน การเสด็จออกมหาสมาคมในรัชกาลที่ 9 การเสียดินแดนของไทย การเสริมสร้างกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเสียชีวิตของภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเสียดินแดนของไทย https://so06.tci-thaijo.org/index.php/pub_jss/arti... https://pacificaffairs.ubc.ca/book-reviews/the-los... https://thesiamsociety.org/wp-content/uploads/1964... https://issuu.com/textbooksproject/docs/imaginedth... https://www.museumsiam.org//km-detail.php?CID=177&... https://www.isranews.org/content-page/item/13544-2... http://kmlo.crma.ac.th/kmnew/wp-content/uploads/20... http://www.edu.ru.ac.th/images/edu_article/2561-00...