กาฮารีงัน
กาฮารีงัน

กาฮารีงัน

กาฮารีงัน (อินโดนีเซีย: Kaharingan) คือศาสนาพื้นเมืองของชาวดายะก์บนเกาะบอร์เนียวของประเทศอินโดนีเซีย โดย กาฮารีงัน นั้นมีความหมายว่าพลังแห่งชีวิตและความเชื่อ คือเชื่อในการมีอยู่เทพเจ้า ที่มีเทพเจ้าสูงสุดเพียงพระองค์เดียวตามหลักปรัชญาปัญจศีลของอินโดนีเซียข้อที่หนึ่ง ซึ่งกาฮารีงันเองก็รับอิทธิพลฮินดูจากชวามาช้านานแล้ว รัฐบาลจึงมองว่ากาฮารีงันไม่ใช่ศาสนา หากแต่ถือเป็นเพียงศาสนาฮินดูท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง และอาจเป็นเพราะศาสนาฮินดูเป็นหนึ่งในหกศาสนาที่รัฐบาลอินโดนีเซียให้การยอมรับอย่างเป็นทางการ[1][2] กาฮารีงันมีเทศกาลที่สำคัญคือเทศกาลตีวะฮ์ (Tiwah) ที่จะมีการบูชายัญควาย วัว หมู และไก่ถวายแด่องค์เทพเจ้า[3]กาฮารีงัน มาจากคำดายะก์เก่าว่า ฮาริง (Haring) แปลว่า "ชีวิต" หรือ "มีชีวิตอยู่" โดยมีสัญลักษณ์ประจำศาสนาคือภาพต้นไม้แห่งชีวิตที่มีกิ่งก้านสาขาและหอก ยอดบนสุดจะมีรูปนกเงือกและดวงอาทิตย์ ที่สองสิ่งหลังนี้เป็นสัญลักษณ์แทนเทพเจ้าสูงสุดคือ รันยิงมาฮาลาลา (Ranying Mahalala) โดยจะมีพ่อหมอที่เรียกว่าบาเลียน (Balian) เป็นผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือทำพิธีกรรมไสยศาสตร์อื่น ๆ หากชาวกาฮารีงันถึงแก่มรณกรรมก็จะมีพิธีศพครั้งแรกคือการฝัง ก่อนขุดศพขึ้นมาประกอบพิธีอีกครั้งโดยนำกระดูกมาไว้ในซันดุง (Sandung) ซึ่งเป็นโกศที่มีลักษณะเหมือนศาลพระภูมิตามคติไทย และเชื่อว่าวิญญาณของบรรพชนที่ตายไปจะเป็นผีดีมาปกป้องหมู่บ้านจากภยันตรายปัจจุบันชาวดายะก์หลายเผ่านิยมเข้ารีตศาสนาคริสต์และอิสลามกันมากขึ้น ผู้ที่นับถือกาฮารีงันก็ลดลงอย่างน่าใจหาย