ประวัติ ของ กิมลี

กิมลี เป็นบุตรของโกลอิน คนแคระที่ได้ร่วมผจญภัยกับ บิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ในเรื่องเดอะฮอบบิท เป็นบุตรหลานผู้สืบตระกูลของ ดูรินผู้เป็นอมตะ ผู้นำของเจ็ดบิดาของคนแคระผู้ยิ่งใหญ่ในยุคโบราณกาล กิมลีมีกำเนิดในตระกูลเจ้าแห่งคนแคระ แต่ไม่ได้อยู่ในลำดับสืบสันตติวงศ์โดยตรง เขายังเป็นญาติใกล้ชิดกับ บาลิน เจ้าผู้ครองคาซัดดูม ในยุคที่สาม ซึ่งเคยร่วมเดินทางผจญภัยกับบิลโบ แบ๊กกิ้นส์ ด้วยเช่นกัน

กิมลีเดินทางมายังริเวนเดลล์พร้อมกับบิดา เพื่อแจ้งข่าวสถานการณ์ในเอเรบอร์ เขาได้เข้าร่วมในที่ประชุมของเอลรอนด์ และได้รับเลือกให้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในคณะพันธมิตรแห่งแหวน ในฐานะตัวแทนของเหล่าคนแคระ

กิมลีมีอคติกับพวกเอลฟ์มาแต่ไหนแต่ไร และมักมีเหตุขัดแย้งกับเลโกลัส เจ้าชายเอลฟ์แห่งเมิร์ควู้ดอยู่เนืองๆ จนเมื่อเขาได้พบกับเลดี้กาลาเดรียล แห่งลอธลอริเอน ความคิดเกี่ยวกับเอลฟ์ของเขาจึงเปลี่ยนไป ด้วยความงดงาม ความเมตตา และความปรานีของนางประทับใจกิมลีอย่างมาก เมื่อคณะพันธมิตรแห่งแหวนจะออกเดินทางจากลอธลอริเอน กาลาเดรียลขอให้แต่ละคนขอของขวัญสำหรับตัวได้ กิมลีไม่ได้ขอสิ่งมีค่าอันใดเลยนอกจากเส้นเกศาสีทองเหลือบเงินอันงดงามของนาง ซึ่งนางได้มอบเส้นเกศาให้แก่กิมลีถึง 3 เส้น หลังจากนั้น สัมพันธภาพระหว่างกิมลีกับเลโกลัสก็ดีขึ้นเป็นลำดับ

กิมลีได้แสดงความสามารถในการรบเป็นที่ประจักษ์หลายครั้งในสมรภูมิต่างๆ ของสงครามแหวน โดยเฉพาะอย่างที่การรบที่เฮล์มสดีพ หลังสิ้นสุดสงครามแหวน กิมลีได้นำเหล่าคนแคระพลเมืองของดูรินจำนวนมากมาตั้งอาณาจักรใหม่ขึ้นที่อะกลารอนด์ เขาได้ขึ้นเป็นลอร์ดแห่งอะกลารอนด์คนแรก เหล่าคนแคระช่วยกันซ่อมแซมฟื้นฟูสภาพอันพินาศจากสงครามให้กลับคืนดี ผลงานที่สำคัญของพวกเขาคือ ประตูใหญ่ของนครมินัสทิริธ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยโลหะและมิธริล และยังช่วยซ่อมแซมสถานที่สำคัญต่างๆ ในนครอีกเป็นจำนวนมาก

ไม่มีที่ใดบันทึกว่า กิมลีเสียชีวิตเมื่อใด แต่ตามที่ปรากฏในหนังสือสมุดปกแดงแห่งเวสต์มาร์ช หลังจากที่กษัตริย์อารากอร์นสิ้นพระชนม์ในปีที่ 120 ของยุคที่สี่ กิมลีได้ออกเดินทางไปยังดินแดนอมตะทางทิศประจิมพร้อมกับเลโกลัส

หนังสือ
การประพันธ์และกระแสตอบรับ
งานที่เกี่ยวข้อง
ตัวละคร
     
    หนังสือ
    ละครเวที
    วิทยุ
    ภาพยนตร์
      วิดีโอเกม
      เกมอื่นๆ
      บทความเกี่ยวกับวรรณกรรมนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์