ประดัลเสรี ของ กีฬาในประเทศกัมพูชา

เป็นการชกมวยแบบพื้นบ้านในกัมพูชา ลักษณะคล้ายมวยไทยและมีการจัดการแข่งขันทั่วไปในกัมพูชา โดยแข่งครั้งละ 5 ยก ยกละ 3 นาที พักยกละ 1-2 นาที ก่อนชกจะมีการไหว้ครู มีการบรรเลงดนตรีระหว่างการแข่งขันซึ่งประกอบด้วยกลองชนิด skor yaul ปี่ และฉิ่ง กติกาการแข่งขันที่สำคัญได้แก่ ไม่อนุญาตให้ซ้ำเติมคนล้ม ห้ามกัด หากอีกคนสู้ไม่ได้ กรรมการจะยุติการแข่งขัน ผู้ชนะอาจชนะโดยชนะน็อค เมื่อทำให้คู่ต่อสู้ล้มแล้วไม่สามารถสู้ต่อได้ภายใน 10 วินาที โดยกรรมการเป็นผู้นับ ถ้าสู้กับครบยกจะตัดสินด้วยคะแนน ถ้าคะแนนเท่ากันถือว่าเสมอ

ประวัติ

รูปแบบการชกมวยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคล้ายคลึงกัน คาดว่าในอดีตเป็นศิลปะการต่อสู้ที่พัฒนาขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ชาวเขมรเชื่อว่าประดัลเสรีเกิดขึ้นก่อนการต่อสู้แบบอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีหลักฐานจากรูปสลักหินในปราสาทนครวัดแต่ยังไม่มีหลักฐานอื่นเพิ่มเติม

ในช่วงที่กัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประดัลเสรีกลายเป็นกีฬาโดยเพิ่มการสวมนวมและการแข่งขันเป็นยก ระหว่างสงครามกลางเมืองกัมพูชา เมื่อเขมรแดงโค่นล้มรัฐบาลนอยมตะวันตกของลน นลเมื่อ 17 เมษายน พ.ศ. 2518 เขมรแดงมีแผนจะกำจัดอิทธิพลของตะวันตกออกไปและสร้างสังคมในอุดมคติ[2] บุคคลที่มีความรู้ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเก่าและผู้เคยเป็นครู แพทย์ ทหาร นักแสดง นักร้องจะถูกประหารชีวิต ชาวกัมพูชาถูกบังคับให้อยู่ภายในค่ายใช้แรงงาน ในช่วงนี้ประดัลเสรีถูกห้ามแข่ง นักมวยส่วนมากถูกประหารเช่นกัน ทำให้ศิลปะการต่อสู้ชนิดนี้ลดลงอย่างมาก ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2522 กองกำลังเขมรฝ่ายตรงข้ามกับเขมรแดงร่วมกับกองทัพเวียดนามโค่นล้มรัฐบาลเขมรแดงลง หลังจากนั้น ประดัลเสรีจึงได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง

ปัจจุบัน

นักมวยในกัมพูชา

หลังจากที่มีการฟื้นฟู ประดัลเสรีได้เป็นที่นิยมไปทั่วประเทศ มีการเปิดค่ายฝึกเป็นจำนวนมาก และมีผู้มาฝึกเป็นจำนวนมากเช่นกัน ทั้งชาวกัมพูชาและชาวต่างชาติ มีการจัดการแข่งขันทุกสัปดาห์ และมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ปัจจุบัน กัมพูชาพยายามสนับสนุนประดัลเสรีเพื่อแข่งกับมวยไทยในเชิงการตลาด

ความพยายามของกัมพูชาในการรวมมวยสุวรรณภูมิ

กัมพูชาเคยพยายามที่จะรวมกีฬามวยในสุวรรณภูมิเข้าด้วยกันในการประชุมอาเซียน พ.ศ. 2538 ในช่วงที่มีการแข่งขันมวยไทยสมัครเล่นชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ กัมพูชาต้องการให้เปลี่ยนชื่อมวยไทยเป็นมวยสุวรรณภูมิ ซึ่งจะรวมมวยไทย มวยลาว ประดัลเสรีของกัมพูชา และมวยในพม่า แต่ไทยไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าแต่ละชาติมีการชกมวยในรูปแบบของตนเอง อีกทั้งมวยไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติแล้ว ต่อมา กัมพูชาจึงไม่ร่วมแข่งขันมวยไทยในกีฬาซีเกมส์ พ.ศ. 2548