กุสินาราในสมัยพุทธกาล ของ กุสินารา

มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยาน

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต— พระอานนท์[2]

สถานที่สันนิษฐานว่าเป็นที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุแก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง 8 ในกุสินารานคร

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน

การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม