การคัดเลือกพันธุ์ลูกกุ้งกุลาดำ ของ กุ้งกุลาดำ

ข้อควรพิจารณาในการเลือกซื้อลูกพันธุ์กุ้งกุลาดำ 1. เลือกจากโรงเพาะฟักที่เชื่อถือได้ ถ้ามีโอกาสควรไปดูโรงเพาะฟักแห่งนั้น ดูการจัดการ วิธีการมาตรฐานในการผลิต สิ่งเหล่านี้จะช่วยในการตัดสินใจเพราะถ้าแหล่งผลิตลูกกุ้งทำถูกต้องตามหลักวิชาการ มีการควบคุมคุณภาพทำให้มาตรฐานการผลิตสูง จะทำให้เราแน่ใจว่าลูกกุ้งที่ได้นั้นแข็งแรงและปลอดโรค2. พิจารณาสภาพของลูกกุ้ง ปกติผู้เลี้ยงที่มีประสบการณ์จะมารถบอกถึงความแข็งแรงหรือสมบูรณ์ของลูกกุ้งได้ ในกรณีที่ไม่คุ้นเคยอาจใช้หลักต่อไปนี้ในการพิจารณาซึ่ง ลูกกุ้งที่แข็งแรงควรจะมีลักษณะดังนี้ ลำตัวโปร่งใส ว่ายทวนกระแสน้ำ ลักษณะภายนอกต้องปกติสมบูรณ์

การจัดการคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงกุ้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำในปัจจุบันได้แก่ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพน้ำที่แย่ลง เนื่องจากมลภาวะต่าง ๆ ที่มาจากการเลี้ยงอย่างหนาแน่นและการปล่อยของเสียต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำมากเกินไป ทำให้เกิดการหมักหมมในแม่น้ำลำคลอง และบริเวณปากแม่น้ำหรือตามแนวชายฝั่งทะเลจนถึงระดับที่การเลี้ยงในหลาย ๆ พื้นที่ต้องมีความเสี่ยงต่อกุ้งเป็นโรคตายสูงมาก การจัดการเรื่องคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงมีความสำคัญมาก ผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ตลอดจนแนวทางการในการป้องกันและแก้ไข เพื่อลดปัญหาต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อสุขภาพของกุ้ง คุณสมบัติของน้ำที่มีความสำคัญในการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมีดังนี้

1. ความเค็ม กุ้งกุลาดำเป็นกุ้งที่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลงของความเค็มได้ในช่วงกว้าง และถ้าความเค็มเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ สามารถปรับตัวอยู่ที่ความเค็มเกือบศูนย์เป็นเวลานานพอสมควรหรือความเค็มที่เพิ่มขึ้นจนถึง 45 ppt. แต่ความเค็มที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 10-15 ppt.

2. ความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) pH ของน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของกุ้งกุลาดำมาก เนื่องจาก pH ของน้ำนั้นมีผลต่อคุณสมบัติของน้ำตัวอื่น ๆ เช่นความเป็นพิษของแอมโมเนียและไฮโดรเจนซัลไฟด์ เป็นต้น pH ที่เหมาะสมแก่การเลี้ยงกุ้งควรอยู่ระหว่าง 7.5-8.5 แต่การเจริญเติบโตที่ดีที่สุดในบ่อจะอยู่ที่ pH ของน้ำระหว่าง 8.0-8.5 การเปลี่ยนแปลง pH ของน้ำในบ่อขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น คุณสมบัติของดิน ค่าความเป็นด่างของน้ำ การผลิตและการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับปริมาณแพลงก์ตอนพืช

3. ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีผลต่อการกินอาหาร การเจริญเติบโตและสุขภาพของกุ้ง ถ้าปริมาณออกซิเจนต่ำเกินไปอาจมีผลทำให้กุ้งตายได้ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในบ่อเลี้ยงจะเปลี่ยนแปลงคล้ายกับ pH คือ มีค่าต่ำสุดในตอนเช้ามืดเนื่องจากการใช้ไปในการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ในบ่อ และการหายใจของสิ่งมีชีวิตในบ่อ หลังจากนั้นแพลงก์ตอนพืชเริ่มมีการสังเคราะห์แสงปริมาณออกซิเจนจะเพิ่มขึ้นและสูงสุดในตอนบ่าย ความสามารถในการละลายของออกซิเจนในน้ำขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและความเค็มของน้ำ โดยที่น้ำที่มีความเค็มและอุณหภูมิเพิ่มขึ้นออกซิเจนจะละลายน้ำได้น้อยลง ปริมาณออกซิเจนที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 4 ppm. จนถึงจุดอิ่มตัว

4. แอมโมเนียและไนไตรท์ ในบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบพัฒนานั้นจะมีปริมาณของสารประกอบไนโตรเจนที่ก้นบ่อเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากขบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์ที่ก้นบ่อแล้วปล่อยแอมโมเนียออกมา นอกจากนั้นสัตว์น้ำยังปล่อยของเสียออกมาในรูปของแอมดมเนียสู่แหล่งน้ำโดยตรง ในสภาวะที่มีออกซิเจนแบคทีเรียจำพวก nitrifying bacteria จะเปลี่ยนแอมโมเนียเป็นไนไตรท์และไนเตรท ตามลำดับ แอมโมเนีย เป็นสารประกอบไนโตรเจนที่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ แอมโมเนียที่พบอยู่ในน้ำจะอยู่ใน 2 รูปแบบ คือ แอมโมเนียซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และแอมโมเนียมอิออนซึ่งไม่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ ในการวัดแอมโมเนียโดยทั่วไปจะวัดรวมทั้งสองรูปแบบ แอมโมเนียทั้งสองรูปแบบนี้จะเปลี่ยนกลับไปมาตาม pH และอุณหภูมิของน้ำ โดยเฉพาะถ้า pH สูงขี้นอัตราส่วนของแอมโมเนียที่เป็นพิษจะสูงขึ้น ทำให้ความเป็นพิษต่อสัตว์น้ำจะมากขึ้นด้วย ซึ่งในบ่อเลี้ยงกุ้งกุลาดำปริมาณแอมโมเนียในรูปที่เป็นพิษไม่ควรเกิน 0.1 ppm.

5.ไฮโดรเจนซัลไฟด์ การเกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ เนื่องจากในสภาพก้นบ่อที่ขาดออกซิเจนจะทำให้แบคทีเรียบางชนิดที่สามารถใช้กำมะถันในการย่อยสลายสารอินทรีย์ได้ ย่อยสลายสารอินทรีย์บริเวณพื้นบ่อได้เป็นสารประกอบซัลไฟด์ :ซึ่งสารประกอบซัลไฟด์ที่อยู่ในรูปของ H2S จะมีปริมาณมากขึ้นเมื่อ pH ของน้ำต่ำลง และก็จะทำให้มีความเป็นพิษสูงขึ้นด้วย ระดับความเข้มข้นของไฮโดรเจนซัลไฟด์สูงสุดที่ไม่เป็นอันตรายต่อกุ้งกุลาดำ คือ 0.033 ppm.

การเปลี่ยนถ่ายน้ำ

การเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นการช่วยชะล้างธาตุอาหารและแพลงก์ตอนพืชออกจากบ่อช่วยกำจัดสารพิษที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น แอมโมเนีย และยังช่วยปรับระดับความเค็มและอุณหภูมิไม่ให้สูงมากเกินไป การระบายน้ำทิ้งควรระบายน้ำในส่วนที่ใกล้พื้นบ่อ และประตูระบายน้ำควรอยู่ตรงข้ามกับประตูน้ำเข้า อัตราการเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ของปริมาตรน้ำในบ่อต่อวัน ถ้ามีฝนตกมากต้องระบายน้ำชั้นบนออกและเมื่อเลี้ยงกุ้งไปแล้ว 2 เดือน ควรเปลี่ยนอวนกรองน้ำที่ประตูระบายน้ำออกให้มีตาที่โตขึ้นเพื่อระบายน้ำได้สะดวก

การรักษาและฟื้นฟูสภาพพื้นบ่อระหว่างเลี้ยง

สารอินทรีย์ต่างๆ เช่น เศษอาหารที่เหลือ ขี้กุ้ง ขี้แดด ตลอดจนซากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงกุ้งจะตกทับถมลงสู่ก้นบ่อ ดังนั้นก่อนที่น้ำในบ่อจะเน่าเสียมักพบว่าพื้นบ่อเน่าเสียก่อนเสมอ ซึ่งกุ้งเป็นสัตว์ที่หากินตามพื้น เมื่อสภาพพื้นบ่อเริ่มเสียย่อมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กุ้งเป็นโรคดังนั้นหลังจากปล่อยกุ้งลงเลี้ยงแล้วประมาณ 1/2 เดือน ควรตรวจสภาพพื้นบ่ออย่างสม่ำเสมอย่างน้อย 7-15 วันต่อครั้ง เมื่อพบว่าของเสียต่าง ๆ ถูกกระแสน้ำพัดพาไปรวมที่ใดก็ควรจะกำจัดออกโดยเร็วก่อนที่พื้นบ่อจะเน่าเสีย ทั้งนี้การรักษาและฟื้นฟูสภาพพื้นโดยรอบชานและพื้นบ่อ นอกจากจะช่วยรักษาและฟื้นฟูสภาวะแวดล้อมภายในให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยของกุ้งแล้วยังเป็นการป้องกันไม่ให้กุ้งเกิดโรคอีกด้วย