ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ของ ขี้ผึ้งห่ออาหาร

มลภาวะจากพลาสติก

พลาสติกห่ออาหาร และวัสดุห่ออาหารรที่ใช้ครั้งเดียวอื่น ๆ (ที่รีไซเคิลไม่ได้) จะไปสิ้นสุดลงในหลุมฝังกลบขยะ (บ่อขยะ) หรือลงสู่ทะเลและมหาสมุทร ห่อพลาสติกจะใช้เวลาหลายปีในการย่อยสลายและละลายสารเคมีบางส่วนลงในทะเล และบางส่วนระเหยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสัตว์ในธรรมชาติจากการติดรัด (เช่นแมวน้ำ หรือเต่าที่มีเชื่อกหรือถุงพลาสติกพันติดรอบคอ) การทับถม หรือกินเข้าไป [9]

ขี้ผึ้งห่ออาหาร จึงอาจเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับการช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก และนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ดีกว่าการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ถุงซิปล็อค และฟิล์มพลาสติกห่ออาหาร ขี้ผึ้งห่ออาหารมีศักยภาพในการช่วยลดขยะที่ย่อยสลายยาก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลภาวะจากขยะพลาสติก [10]

การผลิตและการบริโภคพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของ มูลนิธิ Ellen McArthur Foundation ระบุว่ามีการผลิตพลาสติก 78 ล้านตันในปี 2556 เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2555 และ 40% ของจำนวนนี้ถูกฝังกลบ พลาสติกมากกว่า 8 ล้านตันระบายออกสู่มหาสมุทรต่าง ๆ ในแต่ละปี [11] ที่สำคัญคือ แสงแดดและการเคลื่อนไหวของน้ำทะเลอาจทำให้พลาสติกแตกตัวเป็น ไมโครพลาสติก ซึ่งการกระจายตัวของพลาสติกเหล่านี้ในมหาสมุทรส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและชีวิตมนุษย์เองด้วย [12]

นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา แนวโน้มสู่ความยั่งยืนได้นำไปสู่การตระหนักถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และการปฏิบัติที่ไม่ยั่งยืนอื่น ๆ ที่อาจมีต่อสิ่งแวดล้อม [10] บริษัทต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และได้จัดสรรทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น บริษัท อื่น ๆ ได้เกิดขึ้นที่มุ่งเน้นการลดการใช้พลาสติกเป็นศูนย์ ขณะเดียวจัดหาทางเลือกที่ยั่งยืนแทนการใช้พลาสติก

การทิ้งอาหาร

ประมาณ 33-50% ของอาหารทั้งหมดที่ผลิตทั่วโลกถูกทิ้งโดยไม่ได้กิน (เช่น การจัดการทิ้งของหมดอายุตามคำแนะนำ การปอกส่วนที่ดูไม่น่ากินทิ้ง การกินเหลือ การประกอบอาหารและการจัดเลี้ยงอาหารมากเกินจำเป็น) [13] ความสูญเปล่านี้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (30 ล้านล้านบาท) ต่อปี เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตอาหารต้องใช้ทรัพยากรมาก ที่มาพร้อมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า (ขยายพื้นที่ในการผลิตวัตถุดิบอาหาร) มลพิษทางน้ำและอากาศ (จากการใช้น้ำในการผลิตการใช้เครื่องจักร และเคมีที่มากเกิน) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก [14] ในห่วงโซ่การผลิตและการบริโภคอาหาร "ครัวเรือน" เป็นส่วนที่สร้างขยะอาหารที่ใหญ่ที่สุด ในโลกตะวันตกขยะอาหารกว่า 50% เกิดขึ้นภายในบ้าน ในปี 2018 Schanes, Dobernig และGözetได้ทำการทบทวนแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับขยะอาหารในครัวเรือนอย่างเป็นระบบและได้ข้อสรุปว่าครัวเรือนต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่างความตั้งใจที่ดีในการป้องกันไม่ให้ขยะอาหารและความชอบในเรื่องรสชาติความสดความสะอาดและความปลอดภัยของอาหาร มีการทิ้งอาหารหรืออาหารเหลือทิ้งจึงมาพร้อมกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ

การใช้งานหลักของขี้ผึ้งห่ออาหารคือ การถนอมอาหารภายในครัวเรือน ประมาณว่าอาหารประมาณ 1.3 พันล้านตันต่อปี ถูกทิ้ง ซึ่งสร้างทั้งความสูญเสียทางการเงิน และก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ [15] ขี้ผึ้งห่ออาหารอาจเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอาหารได้ เนื่องจากทำจากวัสดุที่ระบายอากาศได้ซึ่งช่วยให้อาหารคงความสดได้นานขึ้น ขี้ผึ้งห่ออาหารมีศักยภาพในการลดขยะอาหาร จากคุณสมบัติในการต่อต้านจุลินทรีย์ที่อาจป้องกันการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์อาหาร [1]