ในวัฒนธรรมร่วมสมัย ของ ข้าพเจ้าเป็นคนบาป

ในภาษาพูดปัจจุบัน ชาวตะวันตกจะอุทาน "mea culpa" เพื่อยอมรับว่า ตนได้ทำสิ่งผิด โดยเฉพาะสิ่งที่ย่อมหลีกพ้นได้ถ้าใช้ความระมัดระวังตามสมควร มีการใช้เช่นนี้แม้ในสถานการณ์เล็กน้อย เช่น ถ้านักฟุตบอลยอมรับว่า ทีมแพ้เพราะตนไม่ยิงประตู ก็อาจอุทานว่า "mea culpa" ในบางประเทศมีการใช้ถ้อยคำอื่นที่มีความหมายอย่างเดียวกัน เช่น ในสหรัฐอเมริกามีภาษาปากว่า "my bad"

คำอุทาน "mea culpa" นี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษเมื่อมีการใช้ในภาพยนตร์แอนมิเมชัน คนค่อมแห่งนอเทรอดาม (1996) ของวอลต์ดิสนีย์พิกเจอส์ ช่วงที่ผู้พิพากษาโกล็ด ฟร็อลโล (Claude Frollo) ซึ่งมีอุดมการณ์กวาดล้างพวกยิปซีที่ลักลอบเข้ากรุงปารีส กลับหลงใหลในหญิงยิปซีชื่อ "แอสเมรัลดา" (Esméralda) อย่างบ้าคลั่ง จึงตัดสินใจตามจับนางเพื่อให้ได้นางมาครอง แม้จะต้องเผากรุงปารีสทิ้งทั้งกรุงก็ตาม และถ้านางปฏิเสธก็จะประหารชีวิตนางเสียให้สาสม เขาร้องเพลง "Hellfire" ("ไฟจากขุมใด") ภาวนาและระบายความในใจของเขาต่อพระแม่มารีย์ โดยไม่ยอมรับว่า เป็นความผิดของเขา แต่โทษว่า นางแอสเมรัลดาเป็นแม่มดและทำคุณไสยใส่เขา ในเพลงดังกล่าว ได้ประสมคำ "mea culpa, mea culpa, mea máxima culpa" เป็นพื้นหลังเมื่อผู้พิพากษาฟร็อลโลร้องว่า ไม่ใช่ความผิดของตน นอกจากนี้ ยังมีถ้อยคำบางส่วนจากบทสารภาพบาปด้วย[5] ถือกันว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่ "รุนแรง" (dark) ที่สุดเท่าที่มีในบรรดาภาพยนตร์ของดิสนีย์ เพราะนำเสนอทั้งนรกและความหื่นกามอันเป็นหัวเรื่องที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก คณะกรรมการประเมินภาพยนตร์ของประเทศยุโรปหลาย ๆ ประเทศจัดระดับภาพยนตร์เองไว้ที่ "PG" (Parental Guidance - ผู้ปกครองโปรดให้คำแนะนำ)[5]