วิวัฒนาการของตุลาการในทางนิรุกติศาสตร์ ของ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ_(ประเทศไทย)

คำว่า "ตุลาการ"

คำ "ตุลาการ" นั้น มีที่มาจากคำว่า "ตุลา" ซึ่งแปลว่า ตราชู หรือคันชั่ง + "การ" แปลว่า กระทำ หรือผู้กระทำ เป็นการอุปมาว่าผู้ตัดสินคดีความพึงตั้งอยู่ในความเที่ยงตรงไม่เอนเอียงเปรียบประดุจตราชู และด้วยเหตุนี้ รูปตราชูจึงเป็นสัญลักษณ์สากลของวงการตุลาการและวงการกฎหมาย คำว่า "ตุลาการ" นั้นจึงแปลว่า "ผู้กระทำความเที่ยงตรง" โดยปริยาย[2]

คำว่า "ตระลาการ"[2]

อนึ่ง เท่าที่มีการค้นพบ คำว่า "ตุลาการ" นี้เพิ่งใช้กันในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง ก่อนหน้านั้นจะใช้คำว่า "ตระลาการ" หรือ "กระลาการ" แทน ซึ่งมีความเดียวกันทั้งสามคำ

หลักฐานของการใช้คำ "ตระลาการ" นี้ ได้แก่ ที่ปรากฏในพระอัยการลักษณะตระลาการ จุลศักราช 1058 (พ.ศ. 2239-2240) อันตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา และบทพระอัยการเพิ่มเติมลักษณะตระลาการ จุลศักราช 1090 (พ.ศ. 2271-2272) อันตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ กฎหมายทั้งสองฉบับนี้บัญญัติถึงรายละเอียดแห่งอำนาจหน้าที่ในการตัดสินอรรถคดีของตุลาการ ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นกฎหมายวิธีพิจารณาความ (อังกฤษ: procedural law) ตามความเข้าใจในปัจจุบัน ใจความของกฎหมายดังกล่าวยึดหลักการเดิมตามคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ฉบับภาษาบาลีและปรับปรุงให้เข้ากับสภาพสังคมอยุธยา เป็นต้นว่า

1. มีการบัญญัติว่า ตุลาการนั้นต้องปราศจากอคติหรือความลำเอียงทั้งสี่ คือ ฉันทาคติ-ความลำเอียงเพราะรัก โทษาคติ-ความลำเอียงเพราะโกรธ ภยาคติ-ความลำเอียงเพราะกลัว และโมหาคติ-ความลำเอียงเพราะหลงหรือโง่

2. กับทั้งยังกล่าวว่า ตุลาการนั้นได้ชื่อว่าเป็น "อิสโร" (อิสฺสโร) คือ ผู้มีอิสรภาพในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี

3. ตลอดจนมีข้อความสาปแช่งตุลาการที่ประพฤติมิชอบในหน้าที่ เป็นต้นว่า เกียรติยศและโภคศรีสวัสดิ์แห่งตุลาการผู้นั้นจะถอยเสื่อมสูญไปประดุจพระจันทร์ในวันกาฬปักษ์ (วันข้างแรม) และจะประสบกับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ถ้าตุลาการผู้ใดกินสินบนสินจ้างมิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามพระธรรมศาสตร์ เมื่อตายไปจะตกนรกหมกไหม้ทนทุกขเวทนาชั่วนิรันดร์ กลายเป็นเปรตมีเล็บมือใหญ่เท่าใบจอบ มีเปลวไฟปรากฏอยู่รอบตัว เปรตนั้นจะคอยควักเอารุธิรมังสะ (เลือดและเนื้อ) ของตนกินเป็นอาหาร

นอกจากนี้ คำว่า "ตระลาการ" ยังมีกระเส็นกระสายในบทกฎหมายอื่น ๆ ของสมัยอยุธยา เช่น ลักษณะอุทธรณ์ที่ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาท มีคำว่า "ผู้พิพากษาตระลาการ" และในลักษณะโจรห้าเส้นที่กล่าวถึงผู้ร้ายประเภทซึ่งจำอยู่ ณ คุก ตะราง หรือทิม ว่ามิให้สอดเสียสินบนให้แก่ "ตระลาการ" เป็นต้น

บรรดากฎหมายเก่าที่มีคำว่า "ตระลาการ" นี้ แม้เมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรีแล้วก็ยังมีผลใช้บังคับต่อมา จนกระทั่งในสมัยรัตนโกสินทร์ ในจุลศักราช 1166 (พ.ศ. 2347-2348) ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการที่มีสติปัญญาจำนวนสิบเอ็ดนายเป็นคณะกรรมการชำระกฎหมายทั้งปวงที่มีอยู่ในหอหลวง แล้วให้อาลักษณ์จัดทำไว้เป็นสามฉบับประทำตราสามตรา ดังที่เรียกติดปากกันจนทุกวันนี้ว่า "กฎหมายตราสามดวง" กระนั้น คำว่า "ตระลาการ" ก็ยังปรากฏอยู่

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กฎหมายหลายฉบับที่ตราขึ้นก็ยังใช้คำ "ตุลาการ" อยู่ กระทั่งมีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลทหารบก รัตนโกสินทรศก 126 (พ.ศ. 2450)[3] ปรากฏคำว่า "ตุลาการศาลกรมยุทธนาธิการ" ซึ่งราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า "...ดูเหมือนจะเป็นครั้งแรกที่เริ่มใช้คำนี้ในกฎหมาย หลังจากนั้นกฎหมายเกี่ยวกับราชการศาลของฝ่ายทหารต่อ ๆ จนปัจจุบันนี้ก็เรียกผู้พิพากษาของศาลทหารว่า ตุลาการศาลทหาร"

ส่วนด้านศาลพลเรือนนั้น การใช้คำ "ตุลาการ" ปรากฏครั้งแรกในพระบรมราชโองการประกาศจัดระเบียบราชการกระทรวงยุติธรรม ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2455)[4] อันตราขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศนี้กำหนดให้อธิบดีศาลฎีกา (ประธานศาลฎีกาในปัจจุบัน) มีหน้าที่ดำริวางระเบียบราชการแผนกตุลาการ ในราชการฝ่ายตุลาการนั้นให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมปรึกษาหารือและฟังความคิดเห็นอธิบดีศาลฎีกา หลังจากนั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พุทธศักราช 2471[5] ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้ใหม่หลายครั้งเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ได้มีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2515[6] ประกาศฉบับนี้ ราชบัณฑิตยสถานกล่าวว่า[2]

...ให้ยกเลิกความในบางมาตราแห่งพระราชบัญญัตินั้น [พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ] และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งความใหม่ที่ให้ใช้แทนนั้นกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของบุคคลเป็นอันมากในขณะนั้น ได้ก่อให้เกิดปัญหาทางการเมือง และมีการแสดงความเห็นคัดค้านอย่างกว้างขวาง ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนั้นจึงไม่มีโอกาสที่จะมีผลในทางปฏิบัติ...

ในวันที่ 25 ธันวาคม 2515 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงตราพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 299 ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2515 พ.ศ. 2515[7] โดยมาตรา 2 ว่าให้พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับย้อนหลังไปถึงวันที่ 13 ธันวาคม ปีนั้นเอง ซึ่งเป็นวันที่ประกาศคณะปฏิวัตินั้นเริ่มมีผลใช้บังคับ

คำว่า "ตุลาการ" นี้ นอกจากใช้ในราชการศาลยุติธรรมฝ่ายทหารและพลเรือนแล้ว ยังใช้ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยหลายแห่ง เช่น ในสนธิสัญญาการพาณิชย์และการเดินเรือระหว่างประเทศไทยกับอังกฤษ พ.ศ. 2480[8] ข้อ 1 (3) ได้กล่าวถึงเจ้าหน้าที่และสุภาตุลาการในการรัษฎากร (อังกฤษ: the fiscal authorities and tribunals)

ใกล้เคียง

ข้าราชการไทย ข้าราชการพลเรือนสามัญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการฝ่ายตุลาการ (ประเทศไทย) ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ข้าราชสำนัก ข้าราชการ ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ข้าราชการฝ่ายตุลาการ_(ประเทศไทย) http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFil... http://rirs3.royin.go.th/dictionary.asp http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2480/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2515/A/... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Judges...