ประวัติ ของ คณะครุศาสตร์_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • พ.ศ. 2435 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ณ ขณะนั้น ทรงได้รับพระบรมราชานุญาตจัดตั้งโรงเรียนฝึกอาจารย์ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครู"
  • 1 มกราคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กเป็นสถาบันอุดมศึกษาและพระราชทานนามว่า "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ซึ่งโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • 26 มีนาคม พ.ศ. 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยแผนกครุศึกษารวมอยู่ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ใช้ชื่อว่า "แผนกฝึกหัดครู" และเมื่อคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์แยกจากกัน แผนกฝึกหัดครูเปลี่ยนชื่อเป็น แผนกครุศาสตร์ สังกัดคณะอักษรศาสตร์และครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 คณะครุศาสตร์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นคณะที่ 7 ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตาม"พระราชกฤษฎีกาแยกแผนกวิชาครุศาสตร์จากคณะอักษรศาสตร์" ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 74 ตอนที่ 63 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2500 หน้า 1164 - 1166 ประกอบด้วย 4 มาตรา มาตราที่ 3 ระบุว่า "ให้จัดตั้งคณะครุศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใหม่อีกคณะหนึ่ง" เหตุผลในการประกาศพระราชกฤษฎีกา ระบุท้ายประกาศว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประสงค์จะเป็นครู อาจารย์ และเจ้าหน้าที่บริหารการศึกษา ได้เข้าศึกษาทางวิชาการและการวิจัยในวิชาครุศาสตร์ และวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น และเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการสอน และการประกอบอาชีพเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวให้กว้างขวางขึ้นจนถึงขั้นปริญญาโท และปริญญาเอกในโอกาสต่อไป โดยมีศาสตราจารย์พูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา หัวหน้าแผนกวิชาครุศาสตร์ในขณะนั้น (ศาสตราจารย์กิตติคุณ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นคณบดีคนแรก ประกอบกับคณะครุศาสตร์มีโครงกาจัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ทดลองฝึกปฏิบัติงานครูและวิจัยงานวิชาการของคณะครุศาสตร์ จึงได้รับการจัดสรรเนื้อที่จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบริเวณด้านทิศตะวันตกของถนนพญาไท จำนวน 4 หมอน หรือประมาณ 40 ไร่ (1 หมอน เท่ากับสิบไร่) นับเป็น "คณะแรกที่ได้บุกเบิกออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย" และเมื่อเป็น “คณะครุศาสตร์” ได้แบ่งการสอนออกเป็น 4 แผนกวิชา คือ 1. แผนกวิชาสารัตถศึกษา 2. แผนกวิชาประถมศึกษา 3. แผนกวิชามัธยมศึกษา และ 4. แผนกวิชาวิจัยการศึกษา 10 มิถุนายน พ.ศ. 2501 ได้จัดตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น เพื่อเป็นแหล่งปฏิบัติการวิจัยในการทดลองสอนของนิสิตคณะครุศาสตร์ในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ พ.ศ. 2502 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพลศึกษา พ.ศ. 2506 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาจิตวิทยา แผนกวิชานิเทศและบริหารการศึกษาและแผนกวิชาโสตทัศนศึกษา พ.ศ. 2510 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาพยาบาลศึกษา พ.ศ. 2512 แยกการบริหารงานโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกเป็นฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาศิลปศึกษา พ.ศ. 2513 เปิดโครงการทดลองชั้นอนุบาล พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งแผนกวิชาอุดมศึกษา พ.ศ. 2522 มีพระราชบัญญัติให้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานจาก “แผนกวิชา” เป็น “ภาควิชา” พ.ศ. 2529 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. 2531 ภาควิชาพยาบาลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นคณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2536 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งภาควิชาดนตรีศึกษา พ.ศ. 2539 ภาควิชาจิตวิทยาได้รับการสถาปนาเป็นคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2541 ภาควิชาพลศึกษาได้รับการสถาปนาเป็นสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งต่อมาเป็น คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ใกล้เคียง