หลักสูตรและการเรียนการสอน ของ คณะนิติศาสตร์_มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดสอน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) และหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.)

นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) / Bachelor of Law (LL.B.)

การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตครอบคลุมเนื้อหา 4 หมวดวิชา คือ ยกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายมหาชน

การศึกษาตลอดหลักสูตรประกอบด้วย หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน หมวดการศึกษาวิชากฎหมาย เป็นหมวดวิชาพื้นฐานสำคัญในการประกอบวิชาชีพกฎหมายและสามารถนำไปใช้ในการศึกษากฎหมายขั้นสูงต่อไป และ หมวดวิชาชีพ ซึ่งเป็นวิชาเลือกนั้นจะเป็นการศึกษากฎหมายเฉพาะด้าน อาทิ กฎหมายธุรกิจ กฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมหาชน ฯลฯ ตามความสนใจของนักศึกษา ทั้งนี้ คณะนิติศาสตร์ฯ มีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ

การเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ฯ จะเน้นให้นักศึกษาคิดเป็นทำเป็นสามารถแก้ปัญหากฎหมายได้ด้วยตัวเอง ฝึกให้รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษและสืบค้นข้อมูลโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนการเรียนของนักศึกษาด้วยการจัดโปรแกรมดังกล่าวทั้งในรูปแบบซีดีรอมหรือการสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง พร้อมกันนี้ได้จัดหาตำราเกี่ยวกับกฎหมายจากต่างประเทศที่ทันสมัยให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม

นิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.) / Master of Law (LL.M.)

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์ จึงได้พัฒนาหลักสูตรที่จะคุ้มครองความคิดสร้างสรรค์เหล่านั้นไว้ ด้วยการเปิดหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตทางด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านกฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศและธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อผลิตนักกฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและสามารถใช้กฎหมายได้อย่างสร้างสรรค์

ผู้ที่จะศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขานิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับรอง

การศึกษาในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตนั้น แบ่งออกเป็น 2 แผนการศึกษา คือ แผน ก. คือ เลือกทำวิทยานิพนธ์ และ แผน ข. คือ เลือกทำสารนิพนธ์ ซึ่งทั้งสองแผนการศึกษาต้องผ่านการสอบประมวลความรอบรู้ (Comprehensive Examination) ทั้งการสอบข้อเขียนและการสอบปากเปล่า

ในส่วนของคณาจารย์นั้น บัณฑิตวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์พิเศษซึ่งเป็นนักวิชาการและนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง ทั้งจากผู้พิพากษา อัยการ ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษในสาขาที่เปิดสอน นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาบรรยายพิเศษด้วย

ใกล้เคียง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น คณะนิติราษฎร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์