ประวัติ ของ คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์_มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เดิมชื่อ"โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล"ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาลวชิรพยาบาลเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2497โดยมีวัตถุประสงค์ในการผลิตพยาบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพยาบาลปฏิบัติงานในโรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลนครกรุงเทพ ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 อาจารย์อบทิพย์ แดงสว่าง อาจารย์ผู้ปกครองโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล และผู้วางหลักสูตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย ระยะการศึกษา 4 ปี ซึ่งเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้หลักสูตรการศึกษา 4 ปี พบว่าสถานที่ของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยมีความคับแคบ จึงมองหาสถานที่ที่เหมาะสม และพบสถานที่ดินติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนั้นก็คือ วังวัฒนาที่ประทับเดิมของพลเรือตรี นายแพทย์หม่อมเจ้าถาวรมงคล ไชยยันต์ และหม่อมหลวงคลอง ไชยยันต์(สนิทวงศ์) น่าจะเป็นสถานที่เหมาะสมที่จะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยวชิรพยาบาล เพราะบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม และสถานที่กว้างขวาง อีกทั้งใกล้กับแหล่งที่ฝึกภาคปฏิบัติ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของวิชาชีพพยาบาล ท่านจึงเจรจาและขออนุมัติเพื่อซื้อที่ดินจากหม่อมหลวงคลอง ไชยยันต์ จำนวน 6 ไร่ 73 ตารางวา ปี พ.ศ. 2514 ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาครั้งแรก เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลและผดุงครรภ์(เทียบเท่าอนุปริญญา) และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยพยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์วชิรพยาบาล"

ต่อมาโรงพยาบาลกลาง ประสบปัญหาการขาดแคลนพยาบาล จึงได้เปิดดำเนินการโรงเรียนพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ แห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ตั้งอยู่เลขที่ 514 ถนนหลวง แขวงเทพศิรินทร์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร บนเนื้อที่ 4 ไร่ 51 ตาราวา มีชื่อว่า "โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยโรงพยาบาลกลาง" เป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย รับผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี และต่อมาปี พ.ศ. 2515 ได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาเป็น"หลักสูตรการพยาบาลอนามัยและผดุงครรภ์" และเปลี่ยนชื่อเป็น "วิทยาลัยพยาบาลโรงพยาบาลกลาง"

ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่า วิทยาลัยฯ ทั้งสองแห่งดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเช่นเดียวกันและเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครเหมือนกัน จึงได้รวมกิจการเข้าเป็นวิทยาลัยเดียวกัน สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร และได้ขอพระราชทานนามจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานนามว่า “วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์” ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2519

ปี พ.ศ. 2531 วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 106 ตอนที่ 120 ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2532 และเปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็นพยาบาลศาสตรบัณฑิต

ปี พ.ศ. 2536 วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ได้เข้าเป็นสถาบันสมทบของมหาวิทยาลัยมหิดลตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัยในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ 111 ตอนพิเศษ 44ง ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 เรื่องการรับวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์เข้าสมทบในมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2537

ปี พ.ศ. 2541 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี วชิระ หรือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ในปัจจุบัน ได้ย้ายวิทยาลัยจากบริเวณอาคาร 1 (อาคารบรมราชชนนี) และอาคาร 3 ของวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ (วชิรพยาบาล) ไปอยู่ภายในบริเวณโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี

ปี พ.ศ. 2544 สำนักการแพทย์ กทม. มีความประสงค์ที่จะใช้พื้นที่บริเวณวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ (โรงพยาบาลกลาง) เป็นสำนักงานของสำนักการแพทย์ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์จึงส่งมอบอาคาร 3 ชั้น และอาคาร 6 ชั้น ซึ่งเคยใช้เป็นห้องเรียน ห้องพักนักศึกษา ห้องประชุมขนาดใหญ่ ห้องทำการฝ่ายปกครอง และห้องพักอาจารย์ของวิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ (โรงพยาบาลกลาง) ให้กับสำนักการแพทย์ กทม. เพื่อให้เป็นที่ทำการเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

วิทยาลัยฯ ได้มีการพัฒนามาเป็นลำดับในด้านหลักสูตรเพื่อให้ได้บัณฑิตทางการพยาบาลที่มีคุณภาพ ความสามารถทางวิชาชีพพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ในการให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ฉบับปรับปรุงปี พ.ศ. 2546 เป็นหลักสูตรที่วิทยาลัยฯ ได้พัฒนามาโดยตลอดและผ่านการรับรองหลักสูตรจากสภามหาวิทยาลัยมหิดล และผ่านการเห็นชอบหลักสูตรจากสภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548

ต่อมาในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2553[1] ได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับใน วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 โดยให้โอน ภารกิจและงบประมาณของ วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์ สำนักการแพทย์ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของกรุงเทพมหานคร โดยใช้ชื่อว่า "คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์" [2]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2554 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (พระนามในขณะนั้น) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช” และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2556[3]

ใกล้เคียง

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์_มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช http://192.168.120.209/internetkcn/2558/20150709.p... http://58.97.116.116/KCN-Journal/Main.html/ http://58.97.116.116/mis/?sid=4&dp=21/ http://58.97.116.116/mis/?sid=4&dp=22/ http://58.97.116.116/mis/?sid=4&dp=23/ http://58.97.116.116/mis/?sid=4&dp=24/ http://58.97.116.116/mis/?sid=4&dp=25/ http://58.97.116.116/mis/?sid=4&dp=26/ http://www.enttrong.com/909 http://www.kcn.ac.th/