ประวัติ ของ คณะมนุษยศาสตร์_มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีประวัติความเป็นมายาวนานพร้อมกับการสถาปนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2486 โดยเริ่มต้นจากการเป็น “แผนกวิชาภาษาอังกฤษ” ในสังกัดคณะกสิกรรมและสัตวบาล มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้นสองของตึกชีววิทยา (ปัจจุบันคือ อาคารศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) ทำหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษให้กับนิสิตคณะกสิกรรมและสัตวบาล คณะวนศาสตร์ คณะการประมง และคณะสหกรณ์

ต่อมา เมื่อมีการสถาปนา “คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์” ในปี พ.ศ. 2509 แผนกวิชาภาษาอังกฤษ จึงได้โอนมาสังกัดยังคณะแห่งนี้ โดยเป็น “แผนกวิชาภาษา” มี รองศาสตราจารย์ประชุม ทัพภะสุต เป็นหัวหน้าแผนกวิชา มีสำนักงานอยู่ที่ตึกธรรมศักดิ์มนตรี (ปัจจุบันคือ ที่ทำการของกลุ่มงานวิจัยระบบตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำ กลุ่มวิจัยเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร)[1] และได้เปิดสอนในรายวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ภาษาเขมร ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต รับผิดชอบการผลิตศิลปศาสตรบัณฑิต ในสาขาวิชาภาษาต่าง ๆ กับการสอนภาษาในฐานะ “วิชาพื้นฐาน” ให้แก่นิสิตของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

บัณฑิตรุ่นแรกของคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้บรรจุ “คณะอักษรศาสตร์” ไว้เป็นคณะวิชาใหม่ในแผนงานผลิตบัณฑิตของแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษา ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) ของส่วนราชการในกำกับทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ[2] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้ความเห็นชอบการจัดตั้ง “คณะมนุษยศาสตร์” แทนคณะอักษรศาสตร์ในการประชุมครั้งที่ 4/2523 ภายใต้แนวคิดที่จะปรับการศึกษาวิชาการแนวอักษรศาสตร์มาผสานกับการศึกษาเพื่ออาชีพ ด้วยการสร้างหลักสูตรในสาขาวิชาที่ไม่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แต่เดิมและไม่ใช่สาขาวิชาในคณะอักษรศาสตร์ที่มีในมหาวิทยาลัยอื่นขึ้น อาทิ สาขาวิชาการเดินทางและการท่องเที่ยว การโรงแรม เลขานุการ สื่อสารมวลชน และดนตรี เป็นต้น[3]

ดังนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2524 จึงได้มีการโอน “ภาควิชาภาษา” ออกมาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ และ “ภาควิชาปรัชญาและศาสนา” ออกมาจากคณะสังคมศาสตร์ มาตั้งเป็นคณะวิชาใหม่มีชื่อว่า “คณะมนุษยศาสตร์” โดยมี อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรกของคณะ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้นสองและสามของตึกภาษา-สถิติ (ปัจจุบันคือ ตึกสถิติ-คณิตศาสตร์-คอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์) ซึ่งเป็นที่ทำการเดิมของภาควิชาภาษา จนกระทั่งคณะมนุษยศาสตร์มีอาคารเป็นของตนเองในปี พ.ศ. 2530

เมื่อเริ่มแรกคณะมนุษยศาสตร์ ประกอบด้วย 7 ภาควิชา โดยได้รับโอนภาควิชาภาษามาจากคณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ แล้วมาแยกตามสาขาวิชาการออกเป็น 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาภาษา ภาควิชาภาษาศาสตร์ และภาควิชาวรรณคดี นอกจากนี้ยังได้รับโอนภาควิชาปรัชญาและศาสนามาจากคณะสังคมศาสตร์อีก 1 ภาควิชา และจัดตั้งภาควิชาใหม่ 3 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ ภาควิชาศิลปาชีพ และภาควิชาศิลปนิเทศ

พ.ศ. 2536 จัดตั้งศูนย์ภาษาเป็นหน่วยงานภายใน เพื่อให้บริการอบรมภาษาต่างประเทศแก่บุคคลทั่วไป

พ.ศ. 2537 แยกภาควิชาภาษาออกเป็น 2 ภาควิชา คือ “ภาควิชาภาษาต่างประเทศ” และ “ภาควิชาภาษาไทย” ทำให้มีภาควิชาเพิ่มขึ้นเป็น 8 ภาควิชา

พ.ศ. 2543 จัดตั้งสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในฐานะที่พระองค์ได้ทรงทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประเทศชาติในด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก โดยเฉพาะในด้านภาษาและวัฒนธรรม โดยเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะมนุษยศาสตร์ มีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาคุณภาพทางวิชาการด้านภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษา

พ.ศ. 2549 จัดตั้งสถาบันขงจื๊อ ตามข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวแห่งประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมด้านการสอนและงานวิจัยที่ เกี่ยวข้องกับภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมทั้งเป็นศูนย์ทดสอบภาษาจีนมาตรฐานที่เรียกว่า “HSK” (Hanyu Shuiping Kaoshi)

พ.ศ. 2549 สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อนุมัติจัดตั้งศูนย์จัดการศึกษาโครงการพิเศษ คณะมนุษยศาสตร์ เพื่อทำหน้าที่ประสานการบริการโครงการจัดการศึกษาภาคพิเศษของคณะมนุษยศาสตร์ ทั้งในส่วนงานด้านธุรการและประสานด้านการบริการวิชาการของหลักสูตรระดับ ปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาภาคพิเศษในทุกสาขาของคณะ

พ.ศ. 2552 รวมภาควิชาบรรณารักษศาสตร์กับสาขาวิชาสื่อสารมวลชน ภาควิชาศิลปนิเทศแล้วจัดตั้งเป็นภาควิชาใหม่คือ “ภาควิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์” และปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสาขาดนตรี ภาควิชาศิลปนิเทศ จัดตั้งเป็น “ภาควิชาดนตรี” จำนวนรวมภาควิชาของคณะยังคงเป็น 8 ภาควิชาเช่นเดิม

พ.ศ. 2555 แยกสาขาวิชาภาษาจีน และสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ออกจากภาควิชาภาษาต่างประเทศ และจัดตั้งเป็น “ภาควิชาภาษาตะวันออก” ซึ่งนอกจากจะมีการเรียนการสอนวิชาเอกภาษาจีนและภาษาญี่ปุ่นแล้ว ยังเปิดหลักสูตรในระดับปริญญาตรีเพิ่มอีก 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก วิชาเอกภาษาจีนธุรกิจ (ภาคพิเศษ) และหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาตะวันออก วิชาเอกภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ (ภาคพิเศษ) นอกจากนี้ภาควิชาภาษาตะวันออกยังมีวิชาเลือกภาษาเกาหลีและภาษาอาเซียน ได้แก่ ภาษาเวียดนาม ภาษามลายู และภาษาพม่า เพื่อการเตรียมพร้อมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำนวนรวมภาควิชาของคณะเพิ่มขึ้นเป็น 9 ภาควิชา

พ.ศ. 2557 คณะมนุษยศาสตร์ได้รับโอนสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตรจากมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นหน่วยงานสนับสนุนของคณะ และจะยกฐานะของศูนย์ทดสอบภาษาอังกฤษซึ่งเดิมดำเนินการโดยภาควิชาภาษาต่างประเทศ ให้เป็นศูนย์ทดสอบทางภาษาเพื่อรองรับการทดสอบสมรรถภาพทางภาษาที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาเกาหลี ฯลฯ

อาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ คณบดีคนแรกของคณะมนุษยศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์ได้ปรับแนวคิดจากการศึกษาที่เสร็จสมบูรณ์ในตัวเองมาเป็นการศึกษาที่เป็นเครื่องมือที่เอื้อต่อการนำไปประกอบอาชีพ แต่ยังคงธำรงเนิ้อหาวิชาการสาขามนุษยศาสตร์ไว้ด้วย ภายใต้แนวคิดของอาจารย์ ดร.กัญจนา สินธวานนท์ คณบดีคนแรกของคณะ และผู้ร่วมงานก่อตั้งคณะมนุษยศาสตร์ ดังที่กล่าวไว้ในบทสรุปวิสัยทัศน์ว่า

สิ่งที่ควรบันทึกเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็คือคำประกาศของคณะมนุษยศาสตร์ที่ว่า ในความหมายเดิม มนุษยศาสตร์ เป็นการศึกษาที่เน้นหนักด้านจิตใจ ถือการพัฒนาสติปัญญา คุณธรรม และรสนิยมของบุคคลเป็นคุณค่าสูงสุด แต่ปัจจุบัน มนุษยศาสตร์ ขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมถึงการศึกษาที่นำไปเป็นประโยชน์ใช้สอยได้โดยตรงอีกด้วย การจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์จึงเป็นไปตามหลักปรัชญาการศึกษาเพื่ออาชีพ (Career Education) คือเป็นการผสมผสานกันระหว่างวิชาการกับอาชีพ ด้วยตระหนักดีว่าความรู้ทางอาชีพจำเป็นต้องควบคู่ไปกับวิชาการและการพัฒนาจิตใจของผู้ศึกษา จึงจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริง[4]

ดังนั้น รูปแบบของการจัดการศึกษาของคณะมนุษยศาสตร์ในปัจจุบันจึงมี 2 รูปแบบ คือ แบบเน้นความลึกซึ้งทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และแบบเน้นวิชาชีพโดยผสมผสานกับวิชาการ ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ทำให้คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความโดดเด่น แตกต่าง และยังคงความทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้

ใกล้เคียง

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คณะมนุษยศาสตร์ และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร