บทบาทในการเมืองไทย ของ คณะราษฎร

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จแล้ว นับว่าคณะราษฎรได้มีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงในทางการเมืองและสังคมของประเทศไทย เป็นระยะเวลาประมาณ 15 ปี จนกระทั่งมาหมดบทบาทอย่างสิ้นเชิงในปลายปี พ.ศ. 2490 จากการรัฐประหารของคณะนายทหาร ภายใต้การนำของพลโท ผิน ชุณหะวัณ และจากนั้นได้ให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงแม้จอมพล ป. จะเป็นสมาชิกคณะราษฎรก็ตาม แต่สมาชิกและบุคคลร่วมคณะในรัฐบาลก็มิได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรเลย โดยรัฐประหารครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการล้างอำนาจทางการเมืองของคณะราษฎรเสียสิ้น[6] และจากนั้นต่อมาแม้สมาชิกคณะราษฎรหลายคนจะยังมีชีวิตอยู่ และยังอยู่ในเส้นทางสายการเมืองก็ตาม แต่ก็มิได้มีบทบาทอย่างสูงเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว[8][3]

ปัจจุบันสมาชิกคณะราษฎรทั้งหมดเสียชีวิตแล้ว โดยคนสุดท้ายที่เสียชีวิตคือ ร้อยโท กระจ่าง ตุลารักษ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552 ด้วยอายุ 98 ปี[9]