ภูมิหลัง ของ คณะราษฎร

ราชอาณาจักรสยามปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ชาติได้ประสบกับปัญหาซึ่งเกิดจากรัฐบาลต้องรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจที่ร้ายแรงและภัยคุกคามจากต่างชาติ (จักรวรรดิอังกฤษและจักรวรรดิฝรั่งเศส) นอกจากนี้ ประเทศยังประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขนานใหญ่เมื่อชาวเมืองและชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครเริ่มขยายจำนวนขึ้น และเริ่มแสดงความต้องการสิทธิเพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาล และวิจารณ์ว่ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพ

คณะราษฎรประกอบด้วยกลุ่มบุคคลผู้ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักเรียนทหารที่ศึกษาและทำงานอยู่ในทวีปยุโรป โดยเริ่มต้นจากปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย และประยูร ภมรมนตรี[lower-alpha 2] นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ก่อนที่จะหาสมาชิกที่มีความคิดแบบเดียวกันเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 7 คน ได้แก่ [3]

  1. ร้อยโท แปลก ขีตตะสังคะ นักเรียนวิชาทหารปืนใหญ่ ประเทศฝรั่งเศส
  2. ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศฝรั่งเศส
  3. ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี นักเรียนวิชารัฐศาสตร์ ประเทศฝรั่งเศส
  4. ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี นักเรียนวิชาทหารม้า ประเทศฝรั่งเศส
  5. ตั้ว ลพานุกรม นักเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
  6. จรูญ สิงหเสนี[lower-alpha 3] ผู้ช่วยราชการสถานทูตสยามในประเทศฝรั่งเศส
  7. แนบ พหลโยธิน นักเรียนวิชากฎหมาย ประเทศอังกฤษ

และได้ทำการประชุมครั้งแรกที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ (Rue Du Sommerard) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 ซึ่งติดต่อกันนานถึง 5 วัน 4 คืน โดยมีร้อยโท แปลก ที่สมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ เรียกว่า "กัปตัน" เป็นประธานในการประชุม[4] ที่ประชุมมีมติตกลงที่จะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" รวมทั้งพยายามหลีกเลี่ยงการนองเลือด เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในการปฏิวัติฝรั่งเศสและการปฏิวัติรัสเซีย[5] ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการถือโอกาสเข้ามาแทรกแซงจากมหาอำนาจที่มีอาณานิคมอยู่ล้อมรอบสยามในสมัยนั้น คือ อังกฤษและฝรั่งเศส[6]

ในการประชุมครั้งนั้น กลุ่มผู้ก่อการได้ตั้งปณิธานในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพื่อให้สยามบรรลุเป้าหมาย 6 ประการ[6] ซึ่งต่อมาหลังจากปฏิวัติยึดอำนาจได้แล้ว ก็ได้ประกาศเป้าหมาย 6 ประการนี้ไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และต่อมาได้เรียกว่าเป็น "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" โดยหลัก 6 ประการนั้นคือ[6]

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในทางการเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. จะต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

และที่ประชุมได้ลงมติให้ ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า จนกว่าจะหาผู้ที่เหมาะสมกว่าได้[3]

หลังจากการประชุมนั้น เมื่อคณะผู้ก่อการได้กลับมาประเทศสยาม ก็ได้พยายามหาสมาชิกเพื่อเข้าร่วมการก่อการปฏิวัติ โดยได้ติดต่อประชาชนทุกอาชีพ ทั้งพ่อค้า ข้าราชการพลเรือน และทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทหารระดับสูงที่มีแนวความคิดอย่างเดียวกันมานานก่อนหน้านี้ 4-5 ปีแล้ว[7] จนได้สมาชิกทั้งสิ้น 115 คน แบ่งเป็นสายต่าง ๆ คือ

โดยที่ประชุมคณะราษฎรตกลงกันว่า ในเรื่องของการปฏิวัติ ตลอดจนสถาปนาความมั่นคง และความปลอดภัยของบรรดาสมาชิก และของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหาร และในส่วนของการร่างคำประกาศ ตลอดจนการร่างกฎหมาย และการวางเค้าโครงต่าง ๆ ของประเทศ เป็นหน้าที่ของฝ่ายพลเรือน[5]