กิจกรรมนักศึกษา ของ คณะศิลปศาสตร์_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การรับเพื่อนใหม่ของคณะฯ

คณะกรรมการนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (กนศ.ศศ.) เป็นผู้จัดกิจกรรมรับเพื่อนใหม่ของคณะฯ หรืองาน "สืบสานตำนานศิลป์" ขึ้นเป็นประจำทุกปี จัดขึ้น ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกับวันแรกพบของมหาวิทยาลัย เดิมกำหนดเป็นวันที่ 11 พฤษภาคมของทุกปี อันจะตรงกับวันปรีดี ต่อมาหลังจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยจึงได้เปลี่ยนมาจัดระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ก่อนวันงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ในงานจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาใหม่ได้รู้จักบริเวณสำคัญต่าง ๆ รอบมหาวิทยาลัย ให้นักศึกษาใหม่ทำความรู้จักกับนักศึกษารุ่นพี่และเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน รวมถึงให้นักศึกษารุ่นพี่ทำความรู้จักกับนักศึกษาใหม่ ทำให้สามารถให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษากันได้ในระหว่างเปิดภาคเรียนใหม่ อันจะทำให้นักศึกษาใหม่สามารถปรับตัวและเตรียมพร้อมสำหรับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยได้ดียิ่งขึ้น

กลุ่มโต๊ะและตระกูล

คณะศิลปศาสตร์ แบ่งกลุ่มนักศึกษาหรือที่เรียกว่า "โต๊ะ" ออกเป็น 6 ตระกูล และแต่ละตระกูลก็จะแบ่งย่อยไปเป็นกลุ่มเล็ก ๆ อีก เช่น จอว์ 1 จอว์ 2 จอว์ 3 เป็นต้น โดยนักศึกษาใหม่แต่ละคนจะต้องสุ่มจับฉลากเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกโต๊ะได้เพียง 1 โต๊ะเท่านั้น และจะเป็นสมาชิกโต๊ะนั้นไปตลอดตั้งแต่เรียนไปจนจบจนถึงทำงานก็จะมีกิจกรรมที่ให้ทำร่วมกันเสมือนเป็นครอบครัวในมหาวิทยาลัยที่ช่วยเสริมสัมพันธ์พี่น้อง ดังนั้นจุดประสงค์ในการที่ทุกคนควรมีโต๊ะ—ตระกูลเป็นของตัวเองก็เพื่อสะดวกในการให้คำแนะนำหรือให้ปรึกษา การทำกิจกรรมก่อให้เกิดความคุ้นเคยสนิทสนมกลมเกลียวกันระหว่าง "เพื่อนใหม่" ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของมหาวิทยาลัยที่ผู้ที่เข้ามาศึกษา ณ มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีความเท่าเทียมกัน ไม่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เราคือเพื่อนกัน และได้ตั้งชื่อกลุ่มโต๊ะต่าง ๆ ตามสถานที่สำคัญในบริเวณอาคารของคณะศิลปศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดังนี้

  • จิ๊งหน่อง — ตั้งตามชื่อเล่นของประติมากรรมที่ตั้งอยู่ใจกลางลานน้ำพุฝั่งที่ติดกับอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีชื่อทางการแต่เดิมว่า "นักศึกษา" ปั้นขึ้นโดยเขียน ยิ้มศิริ ประติมากรชาวไทย ซึ่งได้แนวคิดมาจากประติมากรรม "นักคิด" (Le Penseur) ของฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละท่าทางของหุ่นมีดังนี้ มือขวาแตะมุมปาก มือซ้ายถือตำราเรียน เท้าซ้ายก้าวไปข้างหน้า หมายความว่า เป็นผู้คงแก่การศึกษา ที่เปี่ยมด้วยวิชาความรู้ และเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ ก้าวไปข้างหน้าเสมอ

"เราเริงรื่นชื่นบานวันวัยใส

เป็นสายใยถักทอสานต่อฝัน

จิ๊งคือเราเราคือจิ๊งไม่ทิ้งกันร้อยใจมั่นรวมกันเป็นหนึ่งเดียว"

  • ลานโพ — ตั้งชื่อตามลานหน้าอาคารคณะฯ ซึ่งมีต้นโพปลูกไว้กลางลาน โดยเป็นจุดนัดหมายรวมพลของนักศึกษาในเหตุการณ์เดือนตุลาคม

"ลานโพเรา นามนี้ นั้นมีศักดิ์

โพปกปักษ์ ประวัติศาสตร์ คู่สยาม

รอต้นกล้า ต้นใหม่ ใต้ฟ้าครามเจริญงาม เคียงคู่ ดินสอโดม"

  • สวนศิลป์ — ตั้งชื่อตามลานกว้างภายในอาคารคณะฯ ซึ่งเป็นลานพักผ่อนหย่อนใจที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้มากมาย

"สวนศิลป์นี้ดูแลกันฉันท์พี่น้อง

รักปรองดองกลมเกลียวกันไม่ขาดสาย

เริ่มแรกพบแม้จากกันไม่เสื่อมคลายผูกเป็นสายสินสัมพันธ์ไม่เปลี่ยนแปลง"

  • ปากจอว์ — เป็นประติมากรรมทรงโค้งคร่อมบนประตูทางเข้าอาคารคณะศิลปศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ มีลักษณะคล้ายขากรรไกรบนของปลาฉลาม นักศึกษาจึงมักนิยมเรียกว่า "จอว์" (Jaw)

"ชาตินักรบไว้ลายใครท้าสู้

มาลองดูคมเขี้ยวกัดไม่ปล่อย

ตระกูลจอว์เลือดร้อนเราเฝ้าคอยฉลามน้อยฝูงใหม่มาพบกัน"

  • ลายสือ — ตั้งชื่อตามลายสลักอักษรลายสือไทยขนาดใหญ่ด้านข้างอาคารคณะฯ เพื่อแสดงถึงการระลึกถึงรากเหง้าและความเป็นไทย ทั้งนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่ามีอยู่สองตัวอักษรที่สลักตัวลายสือผิดไป

"คืออักษรที่สลักปักตรงหน้า

เปล่งเสียงว่า'ลายสือ'ชื่อเล่าขาน

เกียรติประวัติตระกูลเรามีมานานไม่ว่าใครต่างเล่าขาน "ลายสือไทย""

  • น้ำพุ — ตั้งชื่อตามลานน้ำพุด้านในอาคารด้านติดกับอาคารคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ปัจจุบันคือตึกบัณฑิตศึกษา 3 ชั้น) ให้ความร่มรื่นร่มเย็นแก่บริเวณอาคารด้านนั้น มักจะเปิดเฉพาะในวันสำคัญ เช่น วันพิธีพระราชทานปริญญาบัตร และยังเป็นที่ตั้งของประติมากรรม "นักศึกษา" หรือจิ๊งหน่องอีกด้วย

"คือสายน้ำ ที่ไม่พบ เพื่อเพียงผ่าน

คือสายธาร ที่กลมเกลียว ไม่เปลี่ยนผัน

คือสายใย ที่ผูกเรา เข้าด้วยกันคือน้ำพุ สัมพันธ์ ของพวกเรา"

โครงการสานสัมพันธ์อักษรศิลป์ (One Arts)

งานกีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 4 คณะวิชาด้านภาษาและมนุษยศาสตร์ ได้แก่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เดิมใช้ชื่อว่า "งานสานสัมพันธ์อักษร" โดยเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 คณะอักษรศาสตร์ของประเทศไทย แต่ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มาเข้าร่วมด้วยในภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นงาน Tri Arts และล่าสุด ทางคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยเช่นกัน ทำให้มีมากกว่า 3 มหาวิทยาลัย จึงตั้งชื่อกิจกรรมขึ้นมาใหม่ว่างาน One Arts เพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้ง 4 มหาวิทยาลัย ภายในงานมีการแข่งขันกีฬา การแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมต่าง ๆ การเชียร์โต้ และโชว์เชียร์ลีดเดอร์จากแต่ละคณะ

ใกล้เคียง

คณะศิลปกรรมศาสตร์และวัฒนธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะศิลปศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์