ศาลฎีกา ของ คดีระหว่างพนักงานอัยการ_กับพิมล_กาฬสีห์_และนภาพันธ์_กาฬสีห์

ภาพรวม

คดีนี้มาถึงศาลฎีกาใน พ.ศ. 2510 โดยศาลฎีกาได้กำหนดประเด็นพิจารณาดังนี้

  1. ประเด็นที่ 1 ผู้เสียหายถูกกระทำชำเรา จริงหรือไม่
  2. ประเด็นที่ 2 ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ใช่หรือไม่
  3. ประเด็นที่ 3 ผู้เสียหายได้สมัครใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ใช่หรือไม่
  4. ประเด็นที่ 4 หญิงจะเป็นตัวการร่วมในการข่มขืนกระทำชำเรา ได้หรือไม่

ประเด็นที่ 1 ผู้เสียหายถูกกระทำชำเรา จริงหรือไม่

  1. สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายได้ถูกกระทำชำเราจริงหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์
    1. ผลการตรวจพยานหลักฐานที่ยึดมาจากบ้านของจำเลยทั้งสอง ซึ่งปรากฏว่า ผู้ปูนอนที่ยึดมา มีคราบโลหิตรอยใหญ่ เป็นโลหิตหมู่โอ อันเป็นหมู่โลหิตของจำเลยที่ 1 และมีคราบโลหิตเล็ก ๆ เป็นโลหิตหมู่บี อันเป็นหมู่โลหิตของผู้เสียหาย
    2. ผลการตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และช่องคลอดของผู้เสียหาย ซึ่งปรากฏว่า ปากช่องคลอดมีแผลปริใหม่ ๆ หนึ่งแผล และมีโลหิตซึมออกจากแผล กับทั้งเยื่อพรหมจารีขาดหายไป
    3. คำเบิกความของพันตำรวจโทกรณ์กิจ มุทิรางกูร แพทย์ผู้ตรวจอวัยวะสืบพันธุ์และช่องคลอด ซึ่งกล่าวว่า บาดแผลที่ปากช่องคลอดของผู้เสียหายนั้น เกิดจากของอันใหญ่กว่าช่องคลอดเล็กน้อยได้ผ่านเข้าไป เช่น อวัยวะสืบพันธุ์ของชายในระยะแข็งตัวเต็มที่ทิ่มตำเข้าไป และเป็นแผลที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงที่ล่วงมาก่อนตรวจ
  2. ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า ผู้เสียหายได้ถูกกระทำชำเราจริง

ประเด็นที่ 2 ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรา ใช่หรือไม่

  1. สำหรับประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำชำเราผู้เสียหายจริงตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาหรือไม่นั้น ฝ่ายจำเลยทั้งสองอ้างว่า
    1. คืนเกิดเหตุ ราว 20:00 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ให้ผู้เสียหายตักน้ำขึ้นมา เพื่อให้จำเลยที่ 1 ใช้ล้างพู่กันเขียนการ์ตูน และให้ผู้เสียหายทำความสะอาดโต๊ะทำงานจำเลยที่ 1 เท่านั้น เผอิญจำเลยที่ 1 มีอาการจุก จำเลยที่ 2 จึงกดท้องให้อยู่บนเตียง แล้ววานให้ผู้เสียหายช่วยกดด้วยเท่านั้น จากนั้น จำเลยทั้งคู่ได้นั่งสอบถามประวัติของผู้เสียหายจน 21:00 นาฬิกา แล้วให้ลงไปข้างล่างได้
    2. ขณะนั้น ผู้เสียหายขอเบิกเงินล่วงหน้าหนึ่งเดือน จำเลยที่ 2 ไม่ให้ เพราะเกรงจะหนีก่อนครบเดือน ผู้เสียหายไม่พอใจ จึงเดินลงไป เข้าห้องปิดประตู แล้วไม่ขึ้นมาอีก จนสว่าง 06:00 นาฬิกา ก็มีเจ้าพนักงานตำรวจมาถึงบ้านแล้วแจ้งว่า "สารวัตรให้เชิญไปโรงพัก โดยผู้เสียหายไปแจ้งว่า ถูกจำเลยข่มขืนชำเรา"
    3. คดีนี้ จำเลยเข้าใจว่า ถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง เพื่อต้องการเงิน หรือให้จำเลยเสียชื่อเสียง แต่ใครจะเป็นผู้หนุนหลัง จำเลยไม่ทราบ
  2. เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายโดยตลอดแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า
    1. ถ้ารูปคดีเป็นดั่งจำเลยต่อสู้ ในระหว่างดำเนินคดี ผู้เสียหายก็น่าจะหาทางเรียกร้องเอาเงินจากจำเลยบ้างเป็นแน่ แต่นี่ผู้เสียหายเพิ่งเข้ามาอยู่บ้านจำเลยยังไม่ทันข้ามคืนก็เหตุ แล้วไปร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจในเช้ามืดของวันถัดมา ถ้าผู้เสียหายแต่งเรื่องขึ้น ภายในระยะเวลาอันสั้นเพียงนี้ ที่ไหนจะได้รายละเอียดมากมายเช่นนั้น
    2. อนึ่ง ที่จำเลยสืบว่า ผู้เสียหายคงโกรธจำเลยที่ 2 ที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าให้ จึงแกล้งใส่ความนั้น ถ้าเป็นจริง ทำไมผู้เสียหายไม่กล่าวหาแต่เพียงจำเลยที่ 2 คนเดียว และเพียงสาเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าเท่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าผู้เสียหายจะกล่าวหาจำเลยทั้งสองเป็นข้อหาอุกฉกรรจ์ขนาดนี้
  3. ศาลฎีกาจึงเชื่อว่า ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราโดยพฤติการณ์ตามคำฟ้องของโจทก์จริง

ประเด็นที่ 3 ผู้เสียหายได้สมัครใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเรา ใช่หรือไม่

สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้เสียหายได้สมัครใจยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราใช่หรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์อันเริ่มต้นแต่จำเลยที่ 2 เรียกผู้เสียหายขึ้นไปนวดจำเลยที่ 1 แล้วให้จับอวัยวะสืบพันธุ์จำเลยที่ 1 รูดขึ้น ๆ ลง ๆ ช่วยกันเปลื้องผ้าผู้เสียหาย แล้วจำเลยที่ 2 ช่วยจับตัวและกดขาผู้เสียหาย เพื่อให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราผู้เสียหายจนบรรลุความเสียวสุดยอดทางเพศนั้น เป็นการที่ผู้เสียหายตกอยู่ในภาวะอันมิอาจต่อต้านหรือขัดขืนได้เลย ที่ไหนจะเรียกได้ว่าผู้เสียหายสมัครใจ

ศาลฎีกาจึงเห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งคู่เป็นความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ป.อ. มาตรา 276 และกระทำอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 278

ประเด็นที่ 4 หญิงจะเป็นตัวการร่วมในการข่มขืนกระทำชำเรา ได้หรือไม่

สำหรับข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ซึ่งว่า ตนเป็นหญิง ทีไหนจะเป็นตัวการร่วมข่มขืนกระทำชำเราหญิงด้วยกันได้นั้น องค์คณะผู้พิพากษาได้นำประเด็นนี้ขึ้นสู่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ในการประชุมครั้งที่ 8/2510 โดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติว่า

"...ความผิดในเรื่องข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดที่ร่วมกันกระทำผิดได้ โดยผู้ร่วมกระทำผิดมิต้องเป็นผู้ลงมือกระทำชำเราด้วยทุกคน เพียงแต่คนใดคนหนึ่งกระทำชำเรา ผู้ที่ร่วมกระทำผิดทุกคนก็มีความผิดฐานเป็นตัวการ ตาม ป.อ. มาตรา 83 แล้ว และตาม ป.อ. มาตรา 276 ก็หาได้บัญญัติให้ลงโทษแต่เฉพาะชายเท่านั้น ในบทกฎหมายมาตรานี้ บัญญัติแต่เพียงว่า “ผู้ใดกระทำผิด ฯลฯ” เท่านั้น ฉะนั้น แม้จำเลยที่ 2 จะเป็นหญิง เมื่อได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ร่วมกันกระทำผิด ศาลก็ลงโทษจำเลย ฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้"

พิพากษา

ในวันที่ 22 มีนาคม 2510 องค์คณะผู้พิพากษาลงความเห็นว่า

"ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาต่าง ๆ ขึ้นวินิจฉัยโดยยืดยาว สรุปแล้วไม่เชื่อคำของผู้เสียหายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น"

และมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ตาม ป.อ. มาตรา 276 และกระทำอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 278 อันเป็นกรณีกระทำความผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา 90 จึงให้ลงโทษตามบทหนักที่สุด คือ ป.อ. มาตรา 276 โดยจำเลยที่ 1 นั้น ให้จำคุก มีกำหนดสามปี และเอาบวกโทษที่รอไว้ในคดีอาญาเลขแดงที่ 2388/2505 ของศาลแขวงธนบุรี มาบวกกับโทษในคดีนี้ รวมเป็นโทษจำคุก มีกำหนดสามปี หนึ่งเดือน ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น ให้จำคุก มีกำหนดสองปี

ใกล้เคียง

คดีระหว่างนายทะเบียนพรรคการเมือง กับพรรคประชาธิปัตย์ (2553) คดีระหว่างบริษัทมอนซานโต้แคนาดากับชไมเซอร์ คดีระหว่างพนักงานอัยการ กับพิมล กาฬสีห์ และนภาพันธ์ กาฬสีห์ คดีระหว่างล็อกเคบินรีพับลิกันส์ กับสหรัฐ คดีระบายข้าวจีทูจี คดีระหว่างบราวน์กับคณะกรรมการการศึกษา คดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรีกับณัชกฤช จึงรุ่งฤทธิ์ คดีระหว่างบริษัท 303 ครีเอทีฟ จำกัดกับเอเลนิส คดีระหว่างบริษัทแอปเปิลกับบริษัทซัมซุงอิเล็คทรอนิกส์ จำกัด คดีระหว่างรัฐมินนิโซตากับชอวิน