คดีวอเตอร์เกต
คดีวอเตอร์เกต

คดีวอเตอร์เกต

คดีวอเตอร์เกต (อังกฤษ: Watergate scandal) คือเหตุอื้อฉาวทางการเมืองระหว่างช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1970 ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ลักลอบโจรกรรมสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1972 ในขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน พยายามปกปิดหลักฐานถึงการข้องเกี่ยวในเหตุโจรกรรมดังกล่าว จนในที่สุดเรื่องอื้อฉาวนี้นำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ซึ่งเป็นการลาออกครั้งแรกและครั้งเดียวของประธานาธิบดีในประวัติศาสตร์อเมริกัน เหตุการณ์นี้ยังนำไปสู่การฟ้องร้อง, การไต่สวน, การลงโทษ และการจำคุกบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง 43 คน รวมไปถึงคณะทำงานระดับสูงของรัฐบาลนิกสันอีกหลายสิบคนเหตุอื้อฉาวเริ่มต้นขึ้นด้วยการจับกุมชายห้าคนในคดีลักลอบโจรกรรมข้อมูลในที่ทำการใหญ่พรรคเดโมแครต ณ อาคารวอเตอร์เกตคอมเพลกซ์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1972 โดยสำนักงานสอบสวนกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) เชื่อมโยงเส้นทางการเงินของคนร้ายทั้งห้าคนจนสาวไปถึงกองทุนหนึ่ง ซึ่งเป็นกลุ่มระดมทุนสำหรับการลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของนิกสัน[1][2] ขณะที่หลักฐานทั้งหมดพุ่งชี้ไปยังคณะทำงานของประธานาธิบดี รวมไปถึงพนักงานเบิกความฟ้องในคณะทำงานสืบสวนคดีวอเตอร์เกตซึ่งตั้งโดยวุฒิสภา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1973 คณะสอบสวนเปิดเผยว่าภายในห้องทำงานของประธานาธิบดีนิกสันมีระบบบันทึกเสียงอยู่ และได้บันทึกการสนทนาต่าง ๆ เอาไว้มากมาย[3][4] ใจความจากเทปบันทึกเสียงเหล่านั้นชี้ให้เห็นว่าประธานาธิบดีนิกสันเคยพยายามที่จะปกปิดถึงการมีส่วนรู้เห็นในการโจรกรรมข้อมูล ณ ที่ทำการพรรคเดโมแครต[2][5] หลังจากมีการต่อสู้ฟ้องร้องคดีความจำนวนมากมายหลายรอบในชั้นศาล ศาลฎีกาสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกามีคำตัดสินให้ประธานาธิบดีต้องส่งมอบเทปบันทึกเสียงทั้งหมดแก่พนักงานสืบสวนของรัฐ นิกสันจึงต้องจำยอมส่งมอบเทปตามคำตัดสินหลังจากเผชิญแรงกดดันจากสังคม, การฟ้องร้องในสภาผู้แทนราษฎร และมีความเป็นไปได้สูงว่าวุฒิสภาจะมีมติลงโทษประธานาธิบดี นิกสันจึงลาออกจากการเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ณ วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1974[6][7] ซึ่งประธานาธิบดีคนต่อมา เจอรัลด์ ฟอร์ด ได้ทำการนิรโทษกรรมให้แก่นิกสันคดีดังกล่าวนี้ถูกสอบสวนโดยผลมาจากการที่ เดอะวอชิงตันโพสต์ หนังสือพิมพ์ชื่อดังของอเมริกา คอยผลักดันและติดตามข่าวสารโดยตลอด ทำให้สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอ จำเป็นต้องทำการสืบสวนและผลักดันตนเองให้พ้นจากอำนาจของนิกสัน

ใกล้เคียง

คดีวอเตอร์เกต คดีขอให้ศาลสั่งให้เป็นหญิง คดีอื้อฉาวการลงทุนกับแมดอฟฟ์ คดีอากง คดีอุทลุม คดีระหว่างโอเบอร์กะเฟลกับฮ็อดจิส คดีระหว่างอัยการสูงสุดกับทักษิณ ชินวัตรและพจมาน ชินวัตร