ครุย ของ ครุยและเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกในรัชกาลที่ 7

ครุยพระบรมราชูปถัมภก

ครุยพระบรมราชูปถัมภก หรือ ครุยบัณฑิตพิเศษ เป็นฉลองพระองค์ครุยสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระบรมราชูปถัมภกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ สถาปนาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ที่ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นพระบรมราชูปถัมภกแห่งโรงเรียนนี้ นอกจากนี้ การทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกนั้น จะถวายเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลังพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้วเท่านั้น

ครุยพระบรมราชูปถัมภกมีลักษณะเป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดใช้สักหลาด "สีเหลือง" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบรมราชจักรีวงศ์[9] มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง ตอนกลางติดแถบทองกว้าง 5 เซนติเมตร และมีตราพระเกี้ยวเงินติดทับบนสำรดตรงหน้าอกทั้ง 2 ข้าง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นปฐม เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2473 และได้ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเมื่อ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2533

สำหรับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์การจัดการเรียนการสอนยังไม่ถึงขั้นปริญญา จึงมีการทูลเกล้าฯ ถวายเข็มบัณฑิตพิเศษของโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ ในฐานะพระบรมราชูปถัมภกแทนการถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก ส่วนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น เนื่องจากพระองค์ยังไม่ได้ทรงรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงไม่ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฉลองพระองค์ครุยพระบรมราชูปถัมภก[4]

ครุยวิทยฐานะ

รูปครุยดุษฎีบัณฑิต (บัณฑิตวิทยาลัย) สวมทับเครื่องแบบปกติขาว

ครุยดุษฎีบัณฑิต

ครุยดุษฎีบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นเอก เป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบรอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีแดง" ตามสีพื้นของครุยดุษฎีบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[10] และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันอังคาร[9] มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง เว้นระยะไว้ 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 5 มิลลิเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีแถบสักหลาดขนาด 1 เซนติเมตร สีตามสีประจำคณะ และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 3.5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรด บนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง[11]

สำหรับการแต่งกายของบัณฑิตชายนั้น ให้ใส่ชุดสากลสีกรมท่า สวมทับเสื้อเชิ้ตสีขาวแล้วผูกเนคไทสีกรมท่าที่มีรูปพระเกี้ยวน้อยหลายองค์ สวมถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ สวมครุยวิทยฐานะ ส่วนบัณฑิตหญิงนั้น สวมกระโปรงสีกรมท่าไม่มีลวดลาย ความยาวคลุมเข่า ไม่ผ่าด้านข้างหรือผ่าด้านหน้า สวมเสื้อเชิ้ตสีขาวแขนยาวมีปกไม่มีลวดลาย สวมถุงน่องใยบัวสีเนื้อและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ สวมครุยวิทยฐานะ ถ้าบัณฑิตเป็นข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ ให้แต่งแบบปกติขาวสวมครุยวิทยฐานะ ไม่สวมหมวก

ครุยมหาบัณฑิต

ครุยมหาบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นโท มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยดุษฎีบัณฑิต แต่พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีดำ"[11] ตามสีของครุยมหาบัณฑิตและบัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด[10] และเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระบรมราชสมภพในวันเสาร์[9] ส่วนการแต่งกายของบัณฑิตชายและหญิงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับดุษฎีบัณฑิต

ครุยบัณฑิต

ครุยบัณฑิต หรือ ครุยบัณฑิตชั้นตรี มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยมหาบัณฑิต แต่ตอนกลางสำรดมีเส้นไหมกลม ขนาด 2 มิลลิเมตร สีตามสีประจำคณะ แทนแถบสักหลาด[11]

สำหรับการแต่งกายของบัณฑิตชาย สวมเครื่องแบบงานพระราชพิธีและรัฐพิธีสำหรับนิสิตชาย กล่าวคือ เสื้อคอปิดสีขาวแบบราชการ แนวอกเสื้อกลัดด้วยดุมโลหะสีเงินรูปพระเกี้ยว 5 ดุม แผงคอทำด้วยผ้าสักหลาดหรือกำมะหยี่ สีตามสีประจำคณะ กางเกงขายาวสีขาว ถุงเท้าและรองเท้าหุ้มส้นสีดำ ส่วนบัณฑิตหญิง สวมเครื่องแบบงานพระราชพิธีและรัฐพิธีสำหรับนิสิตหญิง

ครุยประจำตำแหน่ง

ครุยประจำตำแหน่งต่าง ๆ ของ จุฬาฯ

คณาจารย์ประจำ

ครุยคณาจารย์ประจำ เป็นครุยผ้าโปร่งขาว มีสำรดติดขอบ รอบแขนและปลายแขน พื้นสำรดทำด้วยสักหลาด "สีชมพู" มีขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร มีแถบทองกว้าง 1 เซนติเมตร ทาบทับบนริมทั้ง 2 ข้าง เว้นระยะไว้ 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง เว้นระยะอีก 7.5 มิลลิเมตร มีแถบทองขนาด 1 เซนติเมตร ทั้งสองข้าง ตอนกลางสำรดมีเส้นไหมกลมสีทองขนาด 2 มิลลิเมตร และมีตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีเงิน ขนาดสูง 3.5 เซนติเมตร ติดตามทางดิ่งกลางสำรด บนแถบสักหลาดตอนหน้าอกทั้งสองข้าง[11]

อุปนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย

ครุยประจำตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยคณาจารย์ประจำ แต่ตราพระเกี้ยวทำด้วยโลหะสีทอง[11]

นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี

ครุยประจำตำแหน่งนายกสภามหาวทยาลัยและอธิการบดี มีลักษณะเช่นเดียวกับครุยประจำตำแหน่งอุปนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย แต่มีสายสร้อยทำด้วยโลหะสีทอง พร้อมด้วยเครื่องหมายประจำคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยตามแบบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนด ประดับระหว่างตราพระเกี้ยวทั้ง 2 ข้าง[11]

ตัวอย่างแถบสำรด

ใกล้เคียง

ครุยและเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครุยวิทยฐานะในสหราชอาณาจักร ครุย ครุยเซอร์เวทคลาสสิก ครุยวิทยฐานะไทย ครุยวิทยฐานะในสหรัฐ ครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ครุยเซอร์เวท ครุยเซอร์ เอ็มเค 2 ครุ และ ลหุ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ครุยและเข็มวิทยฐานะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://www.council.chula.ac.th/sites/default/files... http://www.gccu.chula.ac.th/gccu50/index.php?optio... http://www.memocent.chula.ac.th/article/%E0%B8%9E%... http://www.memocent.chula.ac.th/article/%E0%B8%A7%... http://www.chula.ac.th/about/symbol_prakew/relatel... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2473/A/...