วิวัฒนาการ ของ คฤหาสน์ชนบท

คฤหาสน์ลองลีตในวิลท์เชอร์คฤหาสน์แฮ็ทฟิลด์ในฮาร์ทฟอร์ดเชอร์คฤหาสน์มองตาคิวท์ในซัมเมอร์เซ็ท

คฤหาสน์ชนบทของอังกฤษวิวัฒนาการมากว่า 500 ปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้นที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่มักจะเป็นสถานที่มีการสร้างระบบป้องกันศัตรูและแสดงฐานะของผู้เป็นเจ้าของว่าเป็นผู้ครองมาเนอร์ (Manorialism) มาถึงสมัยทิวดอร์เมื่อบ้านเมืองมีความสงบขึ้น การก่อสร้างที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ที่ไม่มีการสร้างระบบป้องกันข้าศึกก็เริ่มมีกันขึ้น

นโยบายการยุบอารามของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 เป็นการเปลี่ยนมือของคริสต์ศาสนสถานมาเป็นของผู้เป็นคนโปรดของพระองค์เป็นจำนวนมากมาย เมื่อได้มาแล้วบุคคลเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นคฤหาสน์ชนบท คฤหาสน์โวเบิร์นแอบบี (Woburn Abbey), คฤหาสน์ฟอร์ดแอบบี (Forde Abbey) และคฤหาสน์อื่นๆ ที่มีคำว่า “แอบบี” หรือ “ไพรออรี” ต่อท้ายชื่อเป็นคฤหาสน์ที่เคยเป็นคริสต์ศาสนสถานมาก่อนและมาเปลี่ยนมาเป็นคฤหาสน์ชนบทในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 คำอื่นๆ ที่อยู่ในชื่อคฤหาสน์ที่ให้ความหมายถึงที่มาของคฤหาสน์ชนบท ก็ได้แก่คำว่า “พาเลซ”, “คาสเซิล”, “คอร์ต”, “ฮอลล์”, “พาร์ค”, “เฮาส์”, “มาเนอร์”, “เพลซ” และ “เทาเออร์เฮาส์”

เมื่อมาถึงครึ่งหลังของรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 และต่อมาสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 เท่านั้นที่คฤหาสน์ชนบทเริ่มจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ออกแบบโดยสถาปนิกที่ถือกันว่าเป็นจุดสุดยอดของสถาปัตยกรรมคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษ และเริ่มจะเป็นสิ่งที่เป็นที่น่าสังเกต คฤหาสน์เบอร์ลีย์ (Burghley House), คฤหาสน์ลองลีต (Longleat House) และ คฤหาสน์แฮ็ทฟิลด์ (Hatfield House) อาจจะเป็นคฤหาสน์ที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในบรรดาคฤหาสน์ชนบทที่สร้างในช่วงนี้ คฤหาสน์แฮ็ทฟิลด์เป็นคฤหาสน์แรกในอังกฤษที่แสดงลักษณะอิทธิพลของสถาปัตยกรรมอิตาลีของยุคเรอเนสซองซ์ ซึ่งเป็นการยุติการสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะติดค้างจากการก่อสร้างสถาปัตยกรรมกอธิคที่มี “หอเล็กหอน้อย” เมื่อมาถึงรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 สถาปัตยกรรมพาเลเดียนของอินนิโก โจนส์ (Inigo Jones) ก็เปลี่ยนโฉมหน้าของสถาปัตยกรรมที่อยู่อาศัยของอังกฤษอย่างสิ้นเชิง แม้ว่าสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกจะมาเป็นที่นิยมต่อมาแต่สถาปัตยกรรมพาเลเดียนในหลายรูปแบบที่มามีสถาปัตยกรรมบาโรกขวางอยู่ช่วงหนึ่งก็เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลกว่าสถาปัตยกรรมลักษณะอื่นมาจนกระทั่งถึงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เมื่ออิทธิพลของกรีกโบราณค่อยๆ เข้ามาวิวัฒนาการเป็นสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิกที่สนับสนุนอย่างแข็งแรงโดยโรเบิร์ต อาดัม (Robert Adam)

คฤหาสน์ชนบทที่เป็นที่รู้จักกันบางแห่งมักจะสร้างโดยสถาปนิกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ได้แก่คฤหาสน์มองตาคิวท์ (Montacute House), คฤหาสน์แชตสเวิร์ธ (คฤหาสน์แชตสเวิร์ธ) และคฤหาสน์เบล็นไฮม์ (Blenheim Palace) สิ่งที่น่าสนใจคือคฤหาสน์สองหลังหลังเป็นวังดยุก มองตาคิวท์แม้ว่าจะสร้างโดยเซอร์เอ็ดเวิร์ด เฟลิปส์ (Edward Phelips) ผู้เป็น “Master of the Rolls” ในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญลำดับสามของระบบยุติธรรมของอังกฤษในสมัยนั้น แต่ก็เป็นคฤหาสน์ที่อยู่ในความครอบครองของตระกูลขุนนางชนบทที่ไม่มีคฤหาสน์ในเมือง (townhouse) แทนที่จะเป็นของชนชั้นเจ้านาย คฤหาสน์มองตาคิวท์อยู่ในมือของตระกูลเฟลิปส์มาจนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อหมดความร่ำรวยลงจนไม่สามารถรักษาคฤหาสน์ไว้ได้

แต่คฤหาสน์ชนบทที่ไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนักเป็นจำนวนมากมักจะเป็นของทั้งผู้ดีชนบทและชนชั้นเจ้านายการก่อสร้างก็วิวัฒนาการไปเป็นหลายแบบหลายลักษณะที่เกิดจากการตีความหมายโดยสถาปนิกท้องถิ่นหรือบางครั้งก็มาจากจินตนาการของรสนิยมของสถาปัตยกรรม เช่นที่คฤหาสน์บริมพ์ตัน เดอเวร์ซี (Brympton d'Evercy) ในซัมเมอร์เซ็ทที่เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานจากหลายสมัยแต่กลมกลืนกันด้วยการใช้หินแฮมฮิลล์สีอ่อนในการสร้างทั้งหมด

การเปลี่ยนแปลงบางครั้งก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่นเมื่อวิลเลียม เคนท์ออกแบบคฤหาสน์รูสแชม (Rousham House) ใหม่เสร็จไม่เท่าใดก็มาถูกเปลี่ยนอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเพื่อให้มีที่ทางพอสำหรับบุตรธิดาของเจ้าของทั้งสิบสองคน คฤหาสน์แคนนอนสแอชบี (Canons Ashby) ของครอบครัวของกวีจอห์น ไดรเด็น (John Dryden) เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในการแสดงการเปลี่ยนแปลง ที่เริ่มด้วยการเป็นบ้านฟาร์มของยุคกลางที่มาขยายรอบลานในสมัยทิวดอร์ มาในสมัยสจวตก็มีการตกแต่งเพดานพลาสเตอร์อย่างหรูหรา ต่อมาในสมัยจอร์เจียในคริสต์ศตวรรษที่ 18 สมัยจอร์เจียก็มีการตกแต่งด้านใหม่ ผลก็คือสถาปัตยกรรมผสมผสานจากหลายสมัยแต่ดูเหมือนจะกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นอย่างดีที่เรียกได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมการก่อสร้างคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษ คฤหาสน์วิลท์ตัน (Wilton House) คฤหาสน์อันสง่างามที่สุดแห่งหนึ่งในอังกฤษก็มีประวัติคล้ายคลึงกัน ขณะที่ไดรเด็นเป็นเพียงผู้ดีท้องถิ่น แคนนอนสแอชบีจึงสร้างโดยสถาปนิกท้องถิ่น แต่คฤหาสน์วิลท์ตันเป็นของตระกูลเอิร์ลแห่งเพมโบรคผู้มีอำนาจที่สามารถจ้างสถาปนิกชั้นหนึ่งได้ตามต้องการ เริ่มต้นด้วยโฮลไบน์ อีก 150 ปีต่อมาก็เป็นอินนิโก โจนส์ และต่อมาไวแอ็ตต์ ตามด้วยแชมเบอร์ส สถาปนิกแต่ละคนก็ใช้ลักษณะสถาปัตยกรรมต่างกันไปและดูจะไม่ให้ความสนใจสิ่งที่สร้างในบริเวณที่ไม่ไกลนัก “การปรับปรุง” มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อสร้างแต่ต่อมาลักษณะต่างๆ เหล่านี้เป็นคุณลักษณะที่ทำให้สถาปัตยกรรมการก่อสร้างคฤหาสน์ชนบทของอังกฤษมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นตัวของตัวเอง เมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นในโลกแล้วชนชั้นสูงของอังกฤษก็เห็นจะเป็นชาติเดียวที่อนุญาตหรือแสวงหาความไม่คำนึงถึงลักษณะความแตกต่างของลักษณะสถาปัตยกรรมต่างๆ

ใกล้เคียง

คฤหาสน์วิปลาส (เกมกระดาน) คฤหาสน์โว-เลอ-วีกงต์ คฤหาสน์ชนบท คฤหาสน์สตอแกล คฤหาสน์เบรกเกอส์ คฤหาสน์โวเบิร์น คฤหาสน์ สัมผัสผวา คฤหาสน์คลิฟเดิน คฤหาสน์โรมัน คฤหาสน์แฟรีแยร์