ประวัติ ของ คลองปานามา

การเสนอในช่วงแรก

หลักฐานที่มีการอ้างถึงคอคอดในอเมริกากลาง ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1524 เมื่อจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และกษัตริย์แห่งสเปนพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า จักรพรรดิชาลส์ที่ 5 ได้ทรงแนะนำว่า การสร้างคลองผ่านปานามาจะสร้างความสะดวกในการเดินเรือสัญจรไปมาระหว่างสเปนกับเปรู[3] รวมไปถึงสร้างความได้เปรียบทางยุทธวิธีเหนือโปรตุเกส[4] ระหว่างการสำรวจโดยคณะสำรวจของพระองค์ระหว่างปี ค.ศ. 1788-1793 โดย อเลสซานโดร มาลาสปินาได้เสนอความเป็นไปได้และวางแผนโครงสร้างของคลอง[5]

อเมริกากลางถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ คือเป็นแผ่นดินที่มีลักษณะแคบ แบ่งโดยมหาสมุทรขนาดใหญ่ 2 มหาสมุทร ความพยายามที่จะเชื่อมการค้าเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้วในบริเวณนี้ ในปี ค.ศ. 1698 สกอตแลนด์ได้พยายามเข้ามาตั้งฐานการค้าบริเวณคอคอดปานามา โดยใช้แผนดารีเอน แต่เนื่องจากเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวย ในที่สุดก็ได้ออกจากปานามาไปในปี ค.ศ. 1700[6] และในที่สุดการรถไฟในปานามาก็ได้เกิดขึ้นเพื่อข้ามคอคอดนี้ได้เปิดใช้ในปี ค.ศ. 1855 เส้นทางสัญจรนี้ได้เอื้อหนุนให้การค้ามีความสะดวกขึ้น และเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเลือกสร้างคลองเชื่อมคอคอดปานามาในภายหลัง

ความพยายามก่อสร้างของฝรั่งเศส

ภาพการขุดบริเวณช่องเขาเกลลาร์ด เมื่อปี 1907

การรื้อฟื้นแนวความคิดในเรื่องการเชื่อมทางน้ำต่อกันระหว่างมหาสมุทรทั้ง 2 มหาสมุทรเกิดขึ้นอยู่หลายครั้งหลายครา อย่างทางเชื่อมผ่านนิการากัวก็ได้มีการสำรวจอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งคลองปานามา เองเป็นหนึ่งในสองโครงการขุดคลองที่เคยดำริมาตั้งแต่ยุคสเปนเรืองอำนาจคริสต์ศตวรรษที่ 16 แล้ว[7] จนในที่สุด การประสบความสำเร็จของการสร้างคลองสุเอซ รัฐบาลโคลอมเบียได้ให้สัมปทานกับนักผจญภัยชาวฝรั่งเศสชื่อ ลูเซียง นโปเลียน โบนาปาร์ต ไวส์ ในการขุดคลองซึ่งจะเชื่อมระหว่างสองมหาสมุทรในบริเวณจังหวัดปานามา และเขาได้ขายสัมปทานต่อให้กับบริษัทฝรั่งเศสที่บริหารโดยนายแฟร์ดีนอง เดอ เลสเซป ซึ่งดำเนินการขุดคลองปานามาในทันที[8] เขาได้เริ่มขุดคลองจากระดับน้ำทะเล (โดยไม่มีประตูกั้นน้ำ) เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1880 บริษัทฝรั่งเศสได้ทำงานอย่างรีบเร่งโดยขาดการศึกษาที่เพียงพอทั้งทางด้านภูมิประเทศและอุทกวิทยา[9] อีกทั้งโรคภัยไข้เจ็บในภูมิอากาศเขตร้อนที่คนงานก่อสร้างคลองต้องเผชิญทั้งโรคไข้เหลืองและมาลาเรีย คร่าชีวิตคนงานเป็นจำนวนมากและทำให้การก่อสร้างไม่คืบหน้าเท่าที่ควร[8] เป็นเหตุให้คนงานต่างหวาดกลัวและหนีกลับฝรั่งเศส[9] ในปี ค.ศ. 1883 บริษัทฝรั่งเศสที่ได้สัมปทานไม่สามารถทำงานต่อได้ เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บและความลำบากในการขุดคลองในระดับน้ำทะเล การขาดประสบการณ์ภาคสนามของคนงาน อย่างเช่น การเก็บเครื่องมือที่เจอห่าฝนไม่ดี ทำให้เกิดสนิมจับ[10] แต่ปัญหาหลักคือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น นับจำนวนคนที่เสียชีวิตระหว่างการขุดคลองปานามา (ระหว่างช่วงปี ค.ศ. 1881 - 1889) ได้กว่า 22,000 คน[9]

จากหนังสือ Overthrow ของสตีเฟน คินเซอร์ในปี ค.ศ. 2006 ได้กล่าวไว้ว่าในปี ค.ศ. 1898 หัวหน้าคนหนึ่งในองค์การเกี่ยวกับคลองของฝรั่งเศส คือ ฟีลีป-ชอง บูโน-วารียา ได้จ้างวิลเลียม เนลสัน ครอมเวลล์ เพื่อโกงจากสภาคองเกรสของอเมริกา ที่จะสร้างคลองปานามา ไม่ใช่คลองที่ข้ามจากนิการากัว[11]

การก่อสร้างของสหรัฐอเมริกา

ในปี ค.ศ. 1902 หลังจากได้มีการผลิตแสตมป์ 10 เซนต์ ชุดนิการากัวในสหรัฐอเมริกา ออกโดยบริษัทอเมริกันแบงก์โน้ต โดยเป็นภาพควันจากภูเขาไฟโมโมตัมโบ ซึ่งตั้งอยู่ห่างราว 160 กิโลเมตรจากสถานที่ที่เป็นแผนเสนอสร้างคลองนิการากัว จากจุดนี้เอง ครอมเวลได้สร้างข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ในนิวยอร์กซัน โดยมีรายงานว่า ภูเขาไฟโมโมตัมโบเกิดระเบิดขึ้นและเกิดแผ่นดินไหว หลังจากนั้นเขาได้ส่งใบปลิวไปพร้อมกับแสตมป์ไปให้กับวุฒิสมาชิก และในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1902 สามวันหลังจากวุฒิสมาชิกได้รับแสตมป์ พวกเขาต่างลงคะแนนให้ปานามาเป็นเส้นทางในการขุดคลองลัด จากการโกงครั้งนี้เอง ครอมเวลล์ได้รับผลประโยชน์ไปราว 8 แสนดอลลาร์สหรัฐ[11]

หลังจากที่บริษัทของนายเดอเลสเซปล้มละลายต้องขายโครงการขุดคลองทอดตลาดไป สหรัฐอเมริกาได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการขุดคลองครั้งนี้ เนื่องจากในตอนที่สหรัฐอเมริกาได้ทำสงครามกับสเปนในปี ค.ศ. 1898 เห็นว่าการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกกับตะวันออกเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ ถ้ามีคลองลัดย่นระยะทางการเดินทางของเรือรบและเรือขนส่งยุทธสัมภาระได้ก็จะเป็นผลดีอย่างยิ่งในการป้องกันประเทศ รัฐบาลจึงเห็นความสำคัญในจุดนี้[8]

โดยสหรัฐอเมริกาได้เจรจากับรัฐบาลโคลอมเบียว่า หากสหรัฐอเมริกาลงทุนขุดคลองแล้วก็ขอให้สหรัฐอเมริกาเช่าพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อดำเนินการควบคุมการเข้าออกของเรือที่ผ่านคลอง แต่การตกลงเรื่องราคาค่าเช่าที่ไม่ลงตัว รัฐบาลโคลอมเบียไม่ตกลงกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นชาวปานามากลัวว่าโคลอมเบียจะไม่แบ่งผลประโยชน์ให้เท่าที่พวกตนควรได้ จึงได้ก่อการปฏิวัติขึ้นและประกาศตัวเป็นประเทศเอกราช ซึ่งสหรัฐอเมริกาเองได้รับรองการเป็นเอกราชของปานามา และยังได้ช่วยไม่ให้โคลอมเบียยกกองทหารเข้ามาปราบปรามชาวปานามา จนในที่สุดสหรัฐอเมริกาได้ทำสัญญากับปานามาในปี ค.ศ. 1903[12] โดยปานามายกกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นระยะทางกว้าง 10 กิโลเมตร ตลอดแนวทางที่สหรัฐอเมริกาจะขุดคลอง และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการบริหารเป็นสิทธิขาดตลอดไป โดยสหรัฐอเมริกาจะจ่ายเงินตอบแทนให้ปานามาเป็นจำนวนเงิน 10 ล้านดอลลาร์ และจะให้เป็นประจำทุกปี อีกปีละ 250,000 ดอลลาร์[8] ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ได้จ่ายเงินให้แก่โคลอมเบียเป็นเงิน 25 ล้านดอลล่าร์ในปี ค.ศ. 1921 และรัฐบาลโคลอมเบียรับรองความเป็นเอกราชของปานามาในสนธิสัญญาธอมสัน-อูรูเตีย

สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทีโอดอร์ รูสเวลต์ได้ครอบครองเครื่องมือรวมถึงอุปกรณ์ขุดเจาะทั้งหมด ได้เริ่มต้นการทำงานเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1904 สิ่งสำคัญประการแรกคือ ได้เริ่มลงมือปราบปรามโรคร้ายที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการก่อสร้างคลอง พันเอก วิลเลียม ซี กอร์กัส ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการดังกล่าวกอร์กัสได้เริ่มรณรงค์ขจัดยุงชนิดหนึ่งซึ่งเป็นพาหะในการนำโรคไข้เหลืองและมาลาเรีย โดยการขจัดหนองน้ำที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และขจัดพงหญ้าที่เป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของยุงเหล่านั้น ตลอดจนกำจัดหนูซึ่งเป็นพาหะกาฬโรค เขาใช้เวลาในการกำจัดอยู่ 10 ปี รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ใช้เงินไปประมาณ 20 ล้านดอลลาร์เฉพาะในการปราบปรามโรคเหล่านี้ จนใน ค.ศ. 1914 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างคลองนี้ขึ้น โดยสหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะก่อสร้างคลองที่มีประตูกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ แทนที่จะเป็นคลองที่มีระดับน้ำเท่ากับระดับน้ำทะเล[8] และหลังจากได้ตระเตรียมระบบพื้นฐาน ระบบการก่อสร้างของระบบประตูกั้นน้ำของคลองก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง สหรัฐอเมริกาจึงได้ค่อย ๆ เปลี่ยนเครื่องมือของฝรั่งเศสมาใช้เครื่องไม้เครื่องมือขนาดใหญ่สำหรับงานที่ใหญ่ขึ้น[9]

การก่อสร้างประตูกั้นน้ำกั้นคลองปานามา ถ่ายเมื่อปี ค.ศ. 1913

จนในที่สุดวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1914 คลองปานามาก็ได้เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งเปิดก่อนแผนเดิมคือปี ค.ศ. 1916 โดยเรือขนส่งสินค้าลำแรกที่ผ่านคือ เรือที่ชื่อว่า อันคอน (Ancon)[13] ช่วงที่เปิดใช้เป็นเดือนที่เริ่มสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในยุโรป คลองซึ่งมีความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร สามารถย่นระยะการเดินทางระหว่างฝั่งทะเลด้านตะวันตกและตะวันออกของสหรัฐฯ ไปถึง 15,700 กิโลเมตร[8] ส่วนทางด้านผลสุขภาพอนามัยของคนงาน แม้ว่าวิทยาศาสตร์การแพทย์จะพัฒนาขึ้นในช่วงที่ก่อสร้างโดยสหรัฐอเมริกา แต่กระนั้น ก็มีการสูญเสียคนงานไปถึง 5,609 คน ในช่วงปี ค.ศ. 1904–1914[14] ซึ่งถ้ารวมการสูญเสียชีวิตทั้งหมดในการสร้างคลองปานามานี้ ตกอยู่ที่ราว 27,500 คน[15]

การพัฒนาในภายหลัง

ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นประเด็นที่เกิดขึ้น กระตุ้นให้เกิดการสร้างเขื่อนแมดเดนกั้นแม่น้ำชาเกรส เหนือทะเลสาบกาตูน ซึ่งเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1935 และได้สร้างทะเลสาบอาลาฮูเอลาที่เป็นเหมือนอ่างเก็บน้ำให้กับตัวคลอง[16][17] ต่อมาในปี ค.ศ. 1939 การก่อสร้างได้เริ่มขึ้น และมีการปรับปรุง การขยายประตูน้ำเซตใหม่ของคลองซึ่งกว้างพอที่จะรับน้ำหนักเรือรบอเมริกัน การทำงานส่วนนี้ใช้เวลาหลายปี และการขุดเจาะช่องทางใหม่ก็เสร็จสมบูรณ์ แต่โครงการนี้ก็ถูกยกเลิกไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[18][19]

เรือมิสซูรี (Missouri) ของสหรัฐอเมริกาแล่นผ่านคลอง ภาพถ่ายเมื่อปี 1945

หลังจากสงครามยุติ สหรัฐอเมริกาเข้ามาควบคุมคลองและพื้นที่บริเวณรอบคลอง รัฐบาลปานามาก็เริ่มแสดงความไม่พอใจว่า สนธิสัญญาที่ทำกับสหรัฐอเมริกาโดยมอบกรรมสิทธิ์ที่ดินและการบริหารงานบริเวณคลองให้สหรัฐอเมริกาเป็นสัญญาที่อยุติธรรม ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและปานามาได้เพิ่มความตึงเครียดมากขึ้น ชาวปานามาหลายคนเห็นว่าเขตบริเวณคลองปานามาเป็นของประเทศปานามา กลุ่มนักศึกษาได้เข้ามาประท้วงบริเวณรั้วของเขตบริเวณคลอง และทางสหรัฐอเมริกาก็เสริมกำลังทหารในบริเวณนั้น[20] ชาวปานามาได้ก่อการจลาจลขึ้นในปี ค.ศ. 1964 มีชาวปานามาเสียชีวิต 20 คน และชาวอเมริกัน 4 คน จนกระทั่งการเจรจาได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1974 และได้ลงนามในสนธิสัญญาตอร์รีโฮส-คาร์เตอร์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1977 ลงนามโดยประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ แห่งสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดี โอมาร์ ตอร์รีโฮส แห่งปานามา เป็นสัญญาที่ว่าด้วยขั้นตอนการครอบครองคลองให้ชาวปานามาได้เข้ามาควบคุมโดยอิสระยาวนานตราบเท่าที่ปานามารับประกันว่าจะรักษาความเป็นกลาง และยอมให้สหรัฐอเมริกากลับเข้ามาได้ทุกเมื่อ สหรัฐอเมริกาได้ยอมคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินบริเวณคลอง ในปี ค.ศ. 1979[8] ถึงแม้ว่าจะเกิดการโต้แย้งภายในสหรัฐอเมริกามาโดยตลอด สนธิสัญญานี้ก็ได้มีผลให้ปานามาเข้ามาครอบครอง สหรัฐอเมริกาก็ยอมมอบสิทธิในการบริหารคลองปานามาให้กับรัฐบาลปานามาเมื่อเที่ยงวันของวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999[21] ภายใต้การควบคุมขององค์การบริหารคลองปานามา (Panama Canal Authority หรือ ACP)

สุนทรพจน์ของจิมมี่ คาร์เตอร์เกี่ยวกับการลงนามในสนธิสัญญาคลองปานามา เมื่อวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1977

หากมีปัญหาในการเล่นไฟล์นี้ ดูที่ วิธีใช้สื่อ

แหล่งที่มา

WikiPedia: คลองปานามา http://www.businesspanama.com/investing/why_invest... http://www.canalmuseum.com http://www.cnn.com/SPECIALS/1999/panama.canal/stor... http://www.colliers.com/Content/Attachments/Corpor... http://www.czbrats.com/AmPan/index.htm http://www.czbrats.com/Articles/3rdlocks/3rdlocks.... http://www.czbrats.com/Builders/FRCanal/failure.ht... http://www.czbrats.com/Jackson/martyrs/martyrs.htm http://www.czbrats.com/Menus/Builders_menu.htm http://www.czimages.com/CZMemories/thirdlocks/tcin...