ประวัติ ของ คลองสุไหงบารู

ในอดีตพื้นที่บริเวณจังหวัดปัตตานีเป็นเมืองที่มีความเจริญจากการค้าขาย ทั้งมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากจนเกินบริโภคสามารถส่งเป็นสินค้าส่งออกได้ และเพราะด้วยพื้นที่ของจังหวัดปัตตานีติดอ่าวไทย ก็ยิ่งทำให้ปัตตานีมีชื่อเสียงจากการเป็นเมืองท่า เป็นที่ตั้งสถานีการค้า และเป็นจุดแลกเปลี่ยนสินค้าจากนานาชาติ[1] กระทั่งหัวเมืองมลายูตกเป็นประเทศราชของสยาม จึงได้มีการแบ่งหัวเมืองมลายูออกเป็น 7 หัวเมือง อันได้แก่ เมืองตานี เมืองยะหริ่ง เมืองสายบุรี เมืองรามัน เมืองระแงะ เมืองยะลา และเมืองหนองจิก[2] ทั้งนี้รัฐบาลกลางสยามยังให้อิสระแก่เจ้าเมืองต่าง ๆ ในการจัดเก็บภาษีภายในบ้านเมืองของตนได้ปรกติโดยเฉพาะภาษีผ่านทางจากพ่อค้าที่ล่องเรือลงไปค้าขายยังเมืองที่อยู่พื้นที่ชั้นใน[1] ทำให้เจ้าเมืองมีรายได้จากภาษีสำหรับการพัฒนาด้านต่าง ๆ

แต่ในกรณีของเมืองตานีและเมืองหนองจิกซึ่งมีพรมแดนติดต่อกันและใช้ทรัพยากรหลายอย่างร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือแม่น้ำปัตตานีที่ไหลลงมาจากพื้นที่ชั้นในของจังหวัดยะลา ถือเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญยิ่งในด้านการค้า เพราะแม่น้ำนี้จะไหลลงสู่อ่าวไทยที่เมืองตานี แต่ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทยนั้นแม่น้ำปัตตานีได้ไหลวกเข้าไปในตำบลคอลอตันหยงและตำบลยาบี อันเป็นเขตแดนของเมืองหนองจิกเสียก่อน ด้วยเหตุนี้เมืองหนองจิกจึงได้ตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าและภาษีปากเรือที่ด่านคอลอตันหยงที่พ่อค้าจึงต้องเสียภาษีหากล่องเรือไปค้าขายที่เมืองยะลา ครั้นเมื่อพ่อค้านำสินค้าจากยะลาขึ้นมาขายที่เมืองตานีก็ต้องเสียภาษีที่ด่านเมืองตานีอีกเป็นครั้งที่สอง เหล่าพ่อค้าจึงนิยมใช้เส้นทางคลองตุยงอันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปัตตานีออกอ่าวไทยที่ปากน้ำบางตาวาเมืองหนองจิก โดยไม่ยอมผ่านเข้าเมืองตานีจะได้มิต้องจ่ายภาษีซ้ำสองให้เปลืองทรัพย์[1] อันส่งผลให้เจ้าเมืองตานีขาดรายได้จากภาษีสินค้าและปากเรือ[3] ทั้งภาคหลวงอากรดีบุกที่ปากน้ำ[4]

ต่อมาพระยาวิชิตภักดี (ตนกูสุไลมาน ซาฟุดดิน) หรือตนกูบอสู เจ้าเมืองตานีได้มีคำสั่งให้ขุดคลองลัดแม่น้ำปัตตานีเรียกว่าคลองสุไหงบารู อันเป็นภาษามลายูท้องถิ่นแปลว่า "คลองใหม่" ขึ้นในปี พ.ศ. 2435[1] เป็นแนวตรงจากบ้านปรีกีจนถึงบ้านอาเนาะปูโละในอำเภอยะรัง รวมความยาว 7 กิโลเมตร[3][4][5] คลองนี้ยังปรากฏในบันทึกรายงานการเสด็จฯ ตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า[1]

"…ขากลับนี้จึงได้ลงเรือพายขึ้นตามลำน้ำเมืองตานีไปประจบล่องลงทางลำน้ำเมืองหนองจิก ระยะทางเรือพาย ๕ ชั่วโมงเสศ ทางลำน้ำนี้มีบ้านช่องเปนระยะเนื่องกันตลอดไม่มีที่ป่า ที่ฝั่งทั้งสองข้างเปนทุ่งนาโดยมาก มีคลองลัดซึ่งพระยาตานีได้ขุดด้วยเหตุอันปลาดแห่งนี้ ด้วยแม่น้ำนี้ปลายน้ำมาแต่เมืองยะลาไหลไปในเขตรแดนหนองจิกก่อนแล้วจึงวงมาออกปากน้ำเมืองตานี สินค้าที่ล่องมาตามลำน้ำถึงพรมแดนเมืองหนองจิก ๆ ตั้งเก็บภาษีผ่านเมืองตรงนั้น ครั้นเรือล่องเข้าพรมแดนเมืองตานี ๆ เก็บอิกซ้ำ ๑ เปนที่ย่อท้อของพ่อค้าภากันไปออกทางปากน้ำเมืองหนองจิกเปนอันมากเพื่อเหตุที่จะหนีภาษีสองซ้ำ พระยาตานีจึงคิดขุดคลองลัดขึ้นในพรมแดนเมืองตานีไปทะลุออกลำน้ำใหญ่เหนือพรมแดนเมืองหนองจิกกันไห้เรือหลีกลงมาทางนี้ได้"

หลังการขุดคลองสำเร็จลุล่วงแล้ว ก็ทำให้ด่านเก็บภาษีที่ด่านคอลอตันหยงของเมืองหนองจิกเป็นอันต้องปิดลงเนื่องจากขาดรายได้[1] แต่ผลกระทบระยะยาวของเมืองหนองจิกคือเส้นทางน้ำที่เปลี่ยนทิศทาง จากเดิมที่สายน้ำขนาดใหญ่ที่เคยพัดพาตะกอนและแร่ธาตุต่าง ๆ ทำให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์นั้น วันนี้กลับหดแห้งแรงไหลกลายเป็นคลองขนาดเล็กจากที่เคยผลิตข้าวได้เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นนับศตวรรษก็ยิ่งสำแดงผลร้ายตามมาคือ นาที่เคยมีขนาดใหญ่มากจนเป็นแหล่งเกษตรกรรมส่งออกสำคัญของปัตตานีกลายเป็นนาร้างเพราะดินขาดความอุดมสมบูรณ์เสียแล้ว ทั้งยามหน้าแล้งก็ถูกน้ำเค็มรุกจนดินกลายสภาพเป็นดินเปรี้ยว มีน้ำกร่อยเพาะปลูกข้าวไม่ได้อีกต่อไป[1][4] ซึ่งในปัจจุบันได้มีความพยายามฟื้นฟูนาร้างนับหมื่นไร่เหล่านี้ให้ราษฎรกลับมามีอาชีพเลี้ยงตัวอีกครั้ง[6][7][8]

ใกล้เคียง