ทวีปอเมริกา ของ ความแพร่หลายของภาษาสเปน

ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ปัจจุบันมีประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา 13 แห่งที่ระบุให้ภาษาสเปนหรือภาษาคาสตีล (การเรียกชื่อต่างกันในแต่ละประเทศ) เป็นภาษาราชการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ได้แก่ ประเทศโบลิเวีย (ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านความเห็นชอบเมื่อปี ค.ศ. 2007 หมวด 1 บทที่ 1 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โดยมีสถานะเป็นภาษาราชการร่วมกับ "ภาษาของเชื้อชาติและชนพื้นเมืองต่าง ๆ ในเขตชนบททุกภาษา"[1] เช่น ภาษาไอย์มารา ภาษากาบีเนญา ภาษากายูบาบา ภาษากวารานี ภาษากวาราซูเว ภาษาเกชัว ภาษาอูรู-ชีปายา และภาษาซามูโก), โคลอมเบีย (ร่วมกับภาษาและภาษาถิ่นของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในพื้นที่ของกลุ่มนั้น ๆ),[2] คอสตาริกา,[3] คิวบา,[4] เอกวาดอร์,[5] เอลซัลวาดอร์,[6] กัวเตมาลา,[7] ฮอนดูรัส,[8] นิการากัว (รัฐธรรมนูญของประเทศ หมวด 2 มาตรา 12 ได้ระบุเพิ่มไว้ว่า "ภาษาของชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของนิการากัวจะมีฐานะเป็นภาษาราชการเช่นกันในกรณีต่าง ๆ ตามแต่กฎหมายจะกำหนด"),[9] ปานามา,[10] ปารากวัย (เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษากวารานี),[11][12] เปรู (เป็นภาษาราชการร่วมกับภาษาเกชัว ภาษาไอย์มารา และภาษาของชนพื้นเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่ที่ชนกลุ่มนั้นอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก)[13] และเวเนซุเอลา (รัฐธรรมนูญของประเทศได้ระบุเพิ่มไว้ว่า "ภาษาพื้นเมืองต่าง ๆ จะมีสถานะทางการสำหรับชนพื้นเมืองเหล่านั้นด้วย และภาษาเหล่านั้นต้องได้รับความเคารพในทั่วทุกพื้นที่ของสาธารณรัฐ ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติ")[14] ส่วนประเทศและดินแดนในภูมิภาคลาตินอเมริกาอีก 6 แห่งที่ไม่ได้ระบุให้ภาษานี้เป็นภาษาราชการอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แม้จะใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลักเช่นกัน ได้แก่ อาร์เจนตินา,[15] ชิลี,[16] สาธารณรัฐโดมินิกัน,[17] อุรุกวัย,[18] เม็กซิโก[19] (เป็นภาษาราชการโดยพฤตินัย)[20] และปวยร์โตรีโก[21] ซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา

ภาษาสเปนกลับมามีความสำคัญอีกครั้งในประเทศบราซิล เนื่องจากความใกล้ชิดและการค้าที่ขยายตัวขึ้นระหว่างบราซิลกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาสเปน เช่น ในฐานะสมาชิกตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง[22] ในปี ค.ศ. 2005 รัฐสภาบราซิลได้ผ่านร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการสอนภาษาสเปนเป็นภาษาต่างประเทศในโรงเรียนมัธยมศึกษาทั้งของรัฐบาลและของเอกชน[23]นอกจากนี้ ตามเมืองและหมู่บ้านตามชายแดนหลายแห่งของประเทศ โดยเฉพาะชายแดนที่ติดกับอุรุกวัยและอาร์เจนตินา ยังมีผู้ใช้ภาษาผสมระหว่างภาษาสเปนกับภาษาโปรตุเกสซึ่งเรียกว่า "ปอร์ตูญอล" (portuñol)[24]

ส่วนในประเทศเฮติซึ่งตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของเกาะฮิสปันโยลา ภาษาฝรั่งเศส และภาษาครีโอลเฮติ (เป็นภาษาผสมที่ได้รับอิทธิพลบางส่วนจากภาษาสเปน) เป็นเพียงสองภาษาที่มีฐานะเป็นภาษาราชการของประเทศ แต่ผู้คนในบริเวณเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านบนเกาะเดียวกัน (คือสาธารณรัฐโดมินิกัน) จะเข้าใจภาษาสเปนในระดับพื้นฐานและนำมาใช้สนทนากันได้อย่างไม่เป็นทางการ

ประเทศนอกภูมิภาคลาตินอเมริกา

ภาษาสเปนในสหรัฐอเมริกา:
สีน้ำเงินเข้ม: ประชากรในรัฐมากกว่าร้อยละ 28 พูดภาษาสเปนที่บ้านของตน
สีน้ำเงิน: ประชากรในรัฐมากกว่าร้อยละ 12.2 พูดภาษาสเปนที่บ้านของตน (ค่าเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกา)
สีฟ้า: ประชากรในรัฐมากกว่าร้อยละ 3 พูดภาษาสเปนที่บ้านของตน

ในสหรัฐอเมริกา ภาษาสเปนจะใช้กันมากในรัฐต่าง ๆ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ เช่น รัฐเท็กซัส นิวเม็กซิโก แอริโซนา และแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเม็กซิโกมาก่อน นอกจากนี้ก็ยังใช้กันตามเมืองใหญ่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ชิคาโก ไมแอมี ฮิวสตัน แซนแอนโทนีโอ เดนเวอร์ บอลทิมอร์ หรือซีแอตเทิล

ภาษาสเปนมีประวัติความเป็นมาอันยาวนานในสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่า ชื่อรัฐ เมือง หมู่บ้าน รวมทั้งสถานที่ภูมิศาสตร์หลายแห่งต่างได้รับการตั้งชื่อเป็นภาษานี้ เช่น โคโลราโด ("ทาด้วยสีแดง") ฟลอริดา ("เต็มไปด้วยดอกไม้") ซานตาเฟ ("ความเชื่ออันบริสุทธิ์") ลาสเวกัส ("ที่ราบอันอุดมสมบูรณ์") ลอสแอนเจลิส ("เหล่าทูตสวรรค์") แซคราเมนโต ("พิธีรับเป็นคริสต์ศาสนิกชน") และเซียร์ราเนวาดา ("ภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ") เป็นต้น ผู้ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาษาสเปนในประเทศนี้ ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ใช้ภาษาสเปนเป็นภาษาหลักมากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก[25] และภาษาสเปนยังเป็นภาษาต่างประเทศที่มีผู้เรียนมากที่สุดในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ของประเทศอีกด้วย[26]

ในรัฐนิวเม็กซิโก ภาษาสเปนเป็นภาษาที่ใช้ในการบริหารงานของรัฐ แม้ว่ารัฐธรรมนูญของรัฐจะไม่ได้กำหนดให้ภาษาใดภาษาหนึ่งเป็นภาษาราชการก็ตาม ภาษาสเปนที่ใช้ในรัฐนี้มีต้นกำเนิดในช่วงการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 และยังคงสามารถรักษาลักษณะดั้งเดิมไว้ได้มากจนถึงปัจจุบัน

ในประเทศเบลีซซึ่งเป็นอดีตอาณานิคมของสหราชอาณาจักร ภาษาสเปนไม่ได้รับการกำหนดให้เป็นภาษาราชการ แต่จากผลการสำรวจสำมะโนประชากรเมื่อปี ค.ศ. 2000 พบว่าชาวเบลีซร้อยละ 52.1 สามารถใช้ภาษาสเปนในการสื่อสารได้ดีมาก[27][28] โดยประชากรส่วนใหญ่ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากชาวสเปนซึ่งได้ตั้งรกรากในบริเวณนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่กระนั้น ภาษาอังกฤษก็ยังคงเป็นภาษาราชการเพียงภาษาเดียวของประเทศ[29]

บนเกาะอารูบา (ดินแดนโพ้นทะเลของประเทศเนเธอร์แลนด์ในทะเลแคริบเบียน) มีผู้พูดภาษาสเปนเป็นจำนวนมาก ในทางตรงกันข้าม ในเกาะเพื่อนบ้านอย่างกือราเซาและโบแนเรอกลับมีผู้พูดเป็นจำนวนน้อย เกาะทั้งสามสามารถรับสื่อแขนงต่าง ๆ เป็นภาษานี้จากประเทศเวเนซุเอลาได้โดยเฉพาะช่องโทรทัศน์ เนื่องจากมีที่ตั้งใกล้ชิดกันมาก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการสอนภาษาสเปนขั้นพื้นฐานในโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในอารูบาและอดีตเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส เนื่องจากข้อผูกพันทางการค้าและความสำคัญด้านการท่องเที่ยวของประเทศที่ใช้ภาษาสเปนในภูมิภาคแคริบเบียน อย่างไรก็ตาม ดินแดนเหล่านี้ก็ใช้ภาษาดัตช์และภาษาปาเปียเมนโตเป็นภาษาราชการของตนเท่านั้น

สเปนได้เข้ายึดตรินิแดดและโตเบโกเป็นอาณานิคมในปี ค.ศ. 1498 แต่ต่อมาเกาะทั้งสองก็ตกไปอยู่ภายใต้การครอบครองของชาติยุโรปชาติอื่น ๆ และในที่สุดก็ตกเป็นของสหราชอาณาจักรก่อนจะได้รับเอกราช ประเทศนี้จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก อย่างไรก็ตาม การที่มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ ทำให้ตรินิแดดและโตเบโกได้รับอิทธิพลจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลักค่อนข้างมาก ผลสำรวจสำมะโนประชากรครั้งล่าสุดแสดงให้เห็นว่ามีประชากรมากกว่า 1,500 คนที่ใช้ภาษาสเปน[30] ปัจจุบัน รัฐบาลตรินิแดดและโตเบโกได้เริ่มดำเนินการตามแผน "ภาษาสเปนในฐานะภาษาต่างประเทศภาษาที่หนึ่ง" (SAFFL) ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. 2005[31] เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจและการค้าของประเทศเป็นหลัก โดยกำหนดให้มีการเรียนการสอนภาษาสเปนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา และวางเป้าหมายไว้ว่า ภายในห้าปี ลูกจ้างภาครัฐร้อยละ 30 จะต้องใช้ภาษาสเปนระดับพื้นฐานได้ดี[30]

ใกล้เคียง

ความแพร่หลายของภาษาสเปน ความแตกแยกระหว่างตีโต-สตาลิน ความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียต ความแม่นยำเท็จ ความแปรปรวนร่วมเกี่ยว ความแข็งของธาตุ (หน้าข้อมูล) ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ความแป้น ความแข็งแกร่งของรหัสผ่าน ความแผ่รังสี

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความแพร่หลายของภาษาสเปน http://www.censusdata.abs.gov.au/ABSNavigation/pre... http://www.censusdata.abs.gov.au/ABSNavigation/pre... http://www.investaustralia.gov.au/NR/rdonlyres/A6E... http://www.cso.gov.bz/publications/MF2000.pdf http://www20.gencat.cat/docs/Llengcat/Documents/Da... http://www.bcn.cl/leyes/pdf/actualizado/242302.pdf http://www.secretariasenado.gov.co/senado/basedoc/... http://www.aprendemas.com/Noticias/html/N1960_F170... http://diariocultura.blogspot.com/2007/12/guinea-e... http://www.brazzilmag.com/index2.php?option=com_co...