ประวัติ ของ คาตานะ

ยุคนาระ

เดิมนักรบชาวญี่ปุ่นใช้ดาบจากจีนและเกาหลีในการสู้รบ ในยุคนาระ (Nara Period) ประมาณปี พ.ศ. 1193-1336 หรือประมาณ 1,300 ปีเศษที่แล้ว ปัญหาที่พบคือเวลาสู้รบดาบมักหักออกเป็นสองท่อน จักรพรรดิจึงสั่งให้ช่างตีดาบปรับปรุงดาบให้ดีขึ้นกว่าเดิม ช่างตีดาบยุคแรกมีชื่อว่า "อามากูนิ" เขาพัฒนาการตีดาบไม่ให้หักง่ายด้วยการใช้เหล็กที่ดี และมีการศึกษาวิธีทำให้เหล็กแข็งแกร่งกว่าเดิม เหล็กที่ดีของญี่ปุ่นได้จากการถลุง มีชื่อว่า "ทามาฮางาเนะ" (Tamahagane) อามากูนิพบว่าการที่จะให้ได้ดาบคุณภาพดีต้องควบคุมของสามสิ่ง คือ การควบคุมความเย็น การควบคุมปริมาณคาร์บอน และการนำสิ่งปะปนที่อยู่ในเหล็กออก ปริมาณคาร์บอนคือหัวใจสำคัญในการตีดาบ หากใส่คาร์บอนในเหล็กมากไปเหล็กจะเปราะ ใส่น้อยไปเหล็กจะอ่อน จึงต้องใส่ในปริมาณที่พอเหมาะ เหล็กถูกนำมาหักแบ่งเป็นชิ้นเล็กวางซ้อนกันก่อนหลอม และนำไปตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นจึงพับเหล็กเป็นสองชั้นขณะยังร้อนๆ แล้วตีซ้ำอีกครั้งแล้วครั้งเล่า เหล็กจะซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นหมื่น ๆ ชั้น ทำให้คาร์บอนกระจายไปจนทั่วเนื้อเหล็ก แล้วจึงนำไปตีแผ่ออกให้เป็นใบดาบ จะได้ใบดาบที่ดีเนื้อเหล็กแกร่งและคมไม่หักอีกต่อไป

ยุคคามากูระ

ในยุคคามากูระ (Kamakura Period) ราวปี พ.ศ. 1735-1879 จักรพรรดิสั่งให้ช่างตีดาบศึกษาวิธีการตีเหล็กจากยุคโบราณ ยุคนี้ถือเป็นจุดเริ่มยุคทองของดาบซามูไร มีการพัฒนาดาบให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยมีการเพิ่มวิธีการผสมเหล็กสองชนิดเข้าด้วยกัน เหล็กที่มีความแข็งจะมีปริมาณคาร์บอนสูงใช้ทำเป็นตัวดาบ และเหล็กอ่อนที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำใช้ทำเป็นไส้ดาบเพื่อให้ยืดหยุ่น จากเหล็กสองชนิดที่ถูกนำมาพับและตีมากกว่าสิบชั้น ทำให้เกิดชั้นเล็กๆ เป็นทวีคูณเป็นหมื่นชั้น ช่างตีดาบจะพับเหล็กแข็งให้เป็นรูปตัวยู และนำเหล็กอ่อนมาวางไว้ตรงกลางเพื่อเป็นไส้ใน แล้วนำไปหลอมและตีรวมกันให้แผ่ออกเป็นใบดาบ จากนั้นนำไปหลอมในอุณหภูมิที่เหมาะสมซึ่งมากกว่า 700 องศาเซลเซียส แล้วจึงนำมาแช่น้ำเย็น การแช่น้ำต้องระมัดระวังมาก หากแช่ไม่ดี ดาบจะโค้งเสียรูป เหล็กที่มีความแข็งต่างกันเมื่อทำให้เย็นทันทีจะหดตัวต่างกัน ถือเป็นเคล็ดลับที่ทำให้ใบดาบโค้งได้รูปตามธรรมชาติ ดาบสามารถฟันคอขาดได้ในครั้งเดียว บาดแผลที่ได้รับจากดาบจะเจ็บปวดมาก ซามูไรยังต้องเรียนรู้การใช้ดาบอย่างช่ำชองว่องไวและคล่องแคล่ว ให้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย จากความสามารถนี้เองทำให้ซามูไรเพียงคนเดียวสามารถสังหารศัตรูที่รายล้อมตนกว่าสิบคนได้ภายในชั่วพริบตาด้วยดาบเพียงเล่มเดียว แต่ประเพณีการต่อสู้ของชนชั้นซามูไรคือการต่อสู้ "ตัวต่อตัวอย่างมีมารยาทด้วยดาบ" ผู้แพ้ที่ยังมีชีวิตอยู่คือผู้ที่ไร้เกียรติ ซามูไรจึงไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ การฆ่าตัวตายอย่างสมเกียรติด้วยการทำ "เซ็ปปูกุ" คือเกียรติยศของซามูไร

ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 1817 ชาวมองโกลของกุบไลข่านบุกญี่ปุ่นที่อ่าวฮากาตะ ด้วยกองทัพเรือ 800 ลำ และกำลังพลสามหมื่นนาย เหล่าซามูไรต้องการจะสู้กันตัวต่อตัวอย่างมีมารยาทเยี่ยงสุภาพบุรุษกับนักรบระดับผู้นำ แต่ไม่ได้ผล พวกซามูไรต้องปะทะสู้ที่ชายหาดกับฝูงธนูอาบยาพิษและระเบิด เป็นสงครามที่ไม่มีระเบียบและตกเป็นรอง พายุไต้ฝุ่นช่วยทำลายกองเรือของชาวมองโกลจนหมดสิ้น การรบครั้งแรกเหมือนการหยั่งเชิงของชาวมองโกลเพื่อดูกำลังของศัตรู อีกเจ็ดปีต่อมาพวกมองโกลกลับมาอีกครั้งด้วยกองเรือ 4,000 ลำ พร้อมกองทหารอีกสองแสน พวกซามูไรรบพุ่งกับลูกธนูอย่างกล้าหาญ พวกเขาตัดเรื่องมารยาททิ้งไป ตกกลางคืนเหล่าซามูไรพายเรือลอบเข้าโจมตีพวกมองโกลประชิดตัวด้วยการใช้ดาบที่ช่ำชอง ดาบทหารมองโกลไม่มีทางสู้ดาบซามูไรได้เลย ระหว่างสงครามพายุไต้ฝุ่นก็ทำลายกองเรือของมองโกลอีกครั้ง กองเรือสองในสามจมไปกับทะเลพายุ ทหารมองโกลจมน้ำตายนับหมื่น พวกที่ว่ายน้ำเข้าฝั่งก็ตายด้วยคมดาบอย่างหมดทางสู้ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเมืองนี้ถูกปกป้องจากพระเจ้า และตั้งชื่อลมพายุนี้ว่า "คามิกาเซะ" (Kami-Kaze) หมายถึงลมศักดิ์สิทธิ์ หรือลมผู้หยั่งรู้ หลังจากนั้นพวกมองโกลก็ไม่ได้กลับมาตีญี่ปุ่นอีกเลย

หลังจากสงครามสิ้นสุด บ้านเมืองอยู่ในความสงบ พบว่าหลังจากการรบที่ผ่านมาดาบมักจะบิ่น จักรพรรดิจึงสั่งให้ช่างตีดาบหาวิธีแก้ไข ช่างตีดาบที่สร้างสมดุลของความแข็งและความอ่อนของเหล็กและพัฒนาโครงสร้างของดาบออกเป็นเหล็กสามชิ้น คือ "มาซามูเนะ" ราวปี พ.ศ. 1840 ดาบของมาซามูเนะถือเป็นดาบที่พัฒนาถึงขั้นสูงสุด ในญี่ปุ่นไม่มีช่างตีดาบคนใดจะเทียบได้ เขาสร้างความสมดุลของความแข็งของคมดาบ เคล็ดลับการทำดาบคือการผสมเหล็กสามชนิดเข้าด้วยกัน เหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนสูงจะใช้เป็นใบดาบด้านข้างที่เรียกว่า "กาวางาเนะ" (Gawa-gane) และด้านคมดาบ (ฮางาเนะ "Ha-gane") ใช้เหล็กที่แข็งมากโดยผ่านการพับและตีถึง 15 ครั้ง ซึ่งสามารถสร้างชั้นของเหล็กที่ซ้อนกันถึง 32,768 ชั้น ทำให้เหล็กเหนียวและแกร่งมากกว่าส่วนอื่น ๆ ส่วนเหล็กที่มีปริมาณคาร์บอนต่ำจะใช้เป็นส่วนไส้ใน (Core Steel) ทำให้มีความยืดหยุ่นเรียกว่า "ชิงาเนะ" (Shi-gane) แล้วนำไปหลอมที่อุณหภูมิประมาณ 800 องศาเซลเซียสให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงนำมาตีแผ่ออกเป็นใบดาบ ช่างตีดาบคนอื่น ๆ เริ่มเลียนแบบในเวลาต่อๆ มา

ช่างตีดาบในยุคเดียวกันที่มีชื่อเสียงเทียบเคียงมาซามูเนะ คือ "มูรามาซะ" กล่าวกันว่าใครที่มีดาบของ "มูรามาซะ" ไว้ครอบครอง เลือดจะสูบฉีดให้อยากที่จะชักดาบออกมาสังหารคู่ต่อสู้เพราะความคมของมัน ในขณะเดียวกันซามูไรที่ครอบครองดาบของ "มาซามูเนะ" กลับสงบนิ่งเยือกเย็น