กลับคืนสู่ราชบัลลังก์ ของ คาโรลที่_2_แห่งโรมาเนีย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงให้สัตย์ปฏิญาณต่อหน้ารัฐสภาโรมาเนียในวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1930

เจ้าชายคาโรลเสด็จกลับโรมาเนียในวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1930 หลังจากเกิดการรัฐประหารที่ดำเนินการโดยนายกรัฐมนตรีอียูลิว มานิว จากพรรคเกษตรกรแห่งชาติ เจ้าชายคาโรลทรงได้รับการยอมรับจากรัฐสภาในฐานะพระมหากษัตริย์แห่งโรมาเนียในวันถัดมา ในทศวรรษต่อมากษัตริย์คาโรลที่ 2 จะทรงพยายามเข้าไปมีบทบาททางสังคมการเมืองโรมาเนีย โดยครั้งแรกทรงใช้พระราชอำนาจจัดการความเป็นศัตรูกันระหว่างพรรคเกษตรกรและพรรคเสรีนิยมและฝ่ายต่อต้านชาวยิว ต่อมา (มกราคม ค.ศ. 1938) ทรงใช้พระราชอำนาจแต่งตั้งรัฐมนตรีประจำกระทรวงต่างๆ กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงพยายามจัดตั้งลัทธิบูชาบุคคลของพระองค์เองเพื่อต่อต้านอิทธิพลที่กำลังเติบโตขึ้นของพวกผู้พิทักษ์เหล็ก (Iron Guard) เช่นการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารยุวชน ที่เรียกว่า สตราจาเตรี (Straja Țării) ใน ค.ศ. 1935 สแตนลีย์ จี. เพนย์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกัน บรรยายถึงกษัตริย์คาโรลที่ 2 ว่าเป็น "กษัตริย์ที่น่าเหยียดหยาม เลวทรามและกระหายอำนาจที่สุด มากกว่าราชบัลลังก์แห่งอื่นใดในยุโรปศตวรรษที่ 20"[14] พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นตัวละครที่มีสีสันในสายตาของริชาร์ด คาเวนดิช นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ที่ว่า

"ทรงฉลาดหลักแหลม ดื้อรั้นและบุ่มบ่าม ทรงรักในสตรี แชมเปญและความเร็ว กษัตริย์คาโรลมักจะทรงขับรถแข่งและเครื่องบิน และในวาระโอกาสสำคัญมักจะทรงปรากฏด้วยฉลองพระองค์แบบในละครเพลงซึ่งมีแพรแถบริบบิ้น สายสร้อยและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เพื่อจมเรือพิฆาตขนาดเล็ก"[15]

มาเรีย บูเคอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวโรมาเนียได้เขียนถึงกษัตริย์คาโรลที่ 2 ว่า

"แน่นอน พระองค์ทรงโปรดความหรูหรา ทรงประสูติมาอย่างอภิสิทธิ์ชน พระองค์ไม่ทรงเคยคาดหวังเรื่องอื่นใดเลยนอกจากพระชนม์ชีพที่ยิ่งใหญ่สุขสบายดังที่ทรงพบเห็นจากราชสำนักอื่นๆในยุโรป แต่พระชนม์ชีพของพระองค์ก็ไม่ได้เป็นที่แปลกประหลาดหรือพิลึกพิลั่นเหมือนมลทินที่ไร้ค่าของนิโคไล เชาเชสกู พระองค์โปรดสิ่งที่ดูยิ่งใหญ่แต่เรียบง่าย ซึ่งพระราชวังของพระองค์เป็นเครื่องยืนยันถึงเหตุนี้ กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงหลงใหลในลูเปสคู การล่าสัตว์และรถยนต์อย่างแท้จริง พระองค์ไม่ทรงเคยยอมสละสิ่งเหล่านี้เลย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงโปรดที่จะเสนอภาพพระองค์เองแบบน่าประทับใจและเป็นที่นิยมต่อหน้าสาธารณชน พระองค์มักจะทรงสวมเครื่องแบบทางทหารพร้อมประดับเหรียญตราต่างๆ และทรงเป็นผู้อุปการะการกุศลทั่วดินแดน พระองค์ทรงโปรดการเดินขบวนสวนสนามและงานเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ และทรงเฝ้าดูการจัดกิจกรรมเหล่านี้อย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็ไม่ได้ใช้กิจกรรมเหล่านี้ในการแสดงพระราชอำนาจของพระองค์เหมือนดังที่เชาเชสกูใช้กิจกรรมดังกล่าวแสดงอำนาจในช่วงปลายสมัยของเขา"[16]

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงมีภาพลักษณ์เป็นผู้นำประชานิยม พระองค์ทรงเสนอภาพพระองค์เองในฐานะผู้พิทักษ์ของสามัญชนทั่วไปเพื่อต่อต้านกลุ่มชนชั้นนำที่นิยมฝรั่งเศส (พวกสมาชิกพรรคเสรีนิยม) พระองค์เป็นภาพลักษณ์ที่ผสมผสานกันระหว่างชาตินิยมและอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์[17] กษัตริย์คาโรลทรงมีแนวโน้มของการรวมความเป็นประชานิยม ลัทธิอำนาจนิยมและลัทธิชาตินิยมที่เกลียดกลัวชาวต่างชาติอย่างคลุมเคลือเข้าด้วยกัน และรวมถึงกลุ่มศาสนาออร์ทอดอกซ์ด้วย เมื่อมองโดยผิวเผินจะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก แม้ว่าอุดมการณ์ของกษัตริย์คาโรลจะสร้างการปลุกเร้าน้อยกว่าอุดมการณ์ของคอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู "ท่านผู้นำ" (ของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก) ผู้ซึ่งมีความฉกาจฉกรรจ์ที่ถ่ายทอดข้อความลัทธิชาตินิยมสุดโต่งอันเกลียดชังชาวต่างชาติยิ่ง อีกทั้งมีความยึดมั่นในออร์ทอดอกซ์ที่เข้มข้นอย่างมีอาคมขลัง และมีแนวคิดต่อต้านชาวยิวอย่างรุนแรงสุดโต่ง เขาเป็นนักประชานิยมที่ดูถูกพวกคนชนชั้นนำทุกคนและเขาเป็นผู้เชิดชูความตายจากการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นประสบการณ์ที่สวยงาม น่าสรรเสริญ มีเกียรติและน่าหลงใหลที่สุดในโลก[17] คอดรีอานูเป็นบุรุษผู้มีเสน่ห์ในการเชิดชูความตาย เขาได้ทำให้กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเป็นลัทธิเชิดชูความตายที่น่าสะพรึงกลัวและเขามักจะส่งสาวกของเขาไปปฏิบัติภารกิจฆ่าตัวตาย หลังจากก่อคดีฆาตกรรมแล้ว สาวกผู้พิทักษ์เหล็กจะไม่ค่อยพยายามหลบหนีและจะรอคอยให้ถูกจับแทนเพื่อที่จะได้ถูกประหารชีวิต หลายคนพบว่าเหล่ากองกำลังกลุ่มนี้เข้าสู่ลานประหารด้วยความปรีดาปราโมทย์ที่จะตาย และการประกาศเกี่ยวกับความตายเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขามีความสุขที่สุดในชีวิตของพวกเขา กษัตริย์คาโรลทรงยกย่องลัทธิบูชาความตายของคอดรีอานู โดยเขาอ้างว่าอัครทูตสวรรค์มีคาเอลได้มาแจ้งแก่เขาว่าพระเจ้าทรงเลือกเขาให้เป็นผู้ช่วยปกป้องโรมาเนีย ซึ่งเป็นหลักฐานว่าคอดรีอานูนั้น "จิตบ้าคลั่ง"

กษัตริย์คาโรลที่ 2 และนายกรัฐมนตรี นิโคไล ออร์กา ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และเป็นหนึ่งในกลุ่ม "คามาริลลา" ของกษัตริย์ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1931

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงเข้าพิธีสาบานพระองค์เพื่อครองราชย์ตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1923 เป็นคำสัญญาในตอนต้นรัชกาลว่าพระองค์จะไม่ทรงเข้าแทรกแซงการเมืองเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์เอง[14] กษัตริย์คาโรลทรงเป็นนักฉวยโอกาสที่ไม่มีหลักการหรือค่านิยมอื่นใดไปมากกว่าความเชื่อว่าพระองค์เป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะปกครองโรมาเนีย และสิ่งที่ราชอาณาจักรต้องการคือการปกครองในรูปแบบเผด็จการที่ทันสมัย[18] กษัตริย์คาโรลทรงปกครองผ่านกลไกอำนาจที่ไม่เป็นทางการคือ คามาริลลา ซึ่งประกอบด้วยเหล่าข้าราชบริพาร นักการทูตอาวุโส เจ้าหน้าที่ทางทหาร นักการเมืองและนักอุตสาหกรรม ซึ่งต้องพึ่งพาความโปรดปรานจากกษัตริย์ในการส่งเสริมอาชีพการงานของพวกเขา[19] สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มคามาริลลา คือ มาดามลูเปสคู พระสนมของพระองค์เอง ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำทางการเมืองของกษัตริย์คาโรลที่สำคัญมาก[19] นายกรัฐมนตรีมานิวเชิญกษัตริย์คาโรลสู่บัลลังก์เพียงเพราะความกลัวคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของยุวกษัตริย์มีไฮที่ 1 ถูกครอบงำโดยพรรคเสรีนิยมแห่งชาติซึ่งแน่ใจว่าพรรคเสรีนิยมจะชนะการเลือกตั้งเสมอ[19] มาดามลูเปสคูนั้นไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนชาวโรมาเนียเลย และนายกรัฐมนตรีมานิวทูลขอให้กษัตริย์คาโรลทรงคืนดีกับเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซเพื่อเป็นราคาสำหรับที่เขาทวงคืนราชบัลลังก์ให้พระองค์ พระเจ้าคาโรลทรงปฏิเสธคำแนะนำของพระนางมารีที่ให้รับเจ้าหญิงเฮเลนกลับมา สมเด็จพระราชินีมารี พระราชชนนีของพระองค์ก็ทรงทูลขอให้นำเจ้าหญิงเฮเลนกลับมา แต่กษัตริย์คาโรลทรงผิดคำสัญญาและพระองค์ทรงเริ่มประทับอยู่กับมาดามลูเปสคูอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีมานิวจึงลาออกจากตำแหน่งเพื่อเป็นการประท้วงในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1930 และเขาจึงกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของกษัตริย์คาโรล[19] ในเวลาเดียวกันกับที่กษัตริย์คาโรลเสด็จกลับมา เกิดความแตกแยกภายในพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ จีออร์เก อี. บราเตียนูออกมาตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อ พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ-บราเตียนู ซึ่งพร้อมที่จะร่วมงานกับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แม้ว่าพระองค์จะทรงเกลียดชังฝ่ายพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ แต่ความเป็นปฏิปักษ์ต่อกษัตริย์ของมานิวทำให้พระองค์ไม่มีทางเลือก ถึงกระนั้นพระองค์ทรงเพียงขอความช่วยเหลือจากฝ่ายเสรีนิยมแห่งชาติที่แตกฝ่ายออกมาแล้วเท่านั้นเพื่อต่อต้านพรรคเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งพรรคเกษตรกรยังคงยืนกรานให้กษัตริย์คาโรลขับไล่มาดามลูเปสคูและนำเจ้าหญิงเฮเลนแห่งกรีซกลับมา การแสดงความเป็นศัตรูของพรรคเกษตรกรแห่งชาติทำให้กษัตริย์คาโรลที่ 2 ตัดสินพระทัยปลดคณะรัฐบาล และทรงเสนอให้แต่งตั้งคณะรัฐบาลจากกลุ่มเทคโนแครตที่นำโดย ศาสตราจารย์นิโคไล ออร์กา เป็นศาสตราจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ที่สอนในมหาวิทยาลัยบูคาเรสต์ และเป็นกลุ่ม คามาริลลา ของกษัตริย์คาโรล[20] ศาสตราจารย์ออร์กาสนับสนุนพระมหากษัตริย์ในช่วงความแตกแยกระหว่างพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคเกษตรกร และขึ้นมาเป็นรัฐบาลในช่วงสั้นๆ ในช่วงที่เกิดปัญหานางลูเปสคู ด้วยเหตุนี้ออร์กาจึงกลายเป็นคู่แข่งทางการเมืองกับอียูลิว มานิวจากพรรคเกษตรกร[21] หลังจากนั้นศาสตราจารย์ออร์กาจะมีบทบาทสำคัญในการร่วมมือกับกษัตริย์คาโรลในการกำจัดอำนาจของคอดรีอานูและผู้พิทักษ์เหล็ก และนำมาซึ่งการถึงแก่อนิจกรรมของออร์กาจากการถูกสังหารใน ค.ศ. 1940

กษัตริย์คาโรลที่ 2 และ "ราชินีแดง" เอเลนา "มักดา" ลูเปสคู

"ราชินีแดง" เป็นคำที่ชาวโรมาเนียกล่าวถึงมักดา ลูเปสคู อันเนื่องมาจากเส้นผมสีแดงของเธอ เธอเป็นสตรีที่ถูกเกลียดชังมากที่สุดในโรมาเนียยุคทศวรรษที่ 1930 และเป็นสตรีที่ชาวโรมาเนียใช้คำของนักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ รีเบ็คกา เฮย์นส์ ที่เรียกเธอว่า "ศูนย์รวมของความชั่วร้าย"[19] เจ้าหญิงเฮเลนทรงถูกมองว่าเป็นสตรีผู้ถูกทำให้มีมลทิน ส่วนลูเปสคูถูกมองว่าเป็น ผู้หญิงที่อันตรายร้ายแรงถึงหายนะ ผู้แย่งชิงคาโรลออกมาจากอ้อมกอดของเฮเลน มาดามลูเปสคูนับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่เนื่องจากบิดาของเธอเป็นชาวยิว เธอจึงถูกมองว่านับถือศาสนายูดายไปด้วย บุคลิกของลูเปสคูไม่ได้ทำให้เธอมีมิตรสหายมากนัก เนื่องจากเธอเป็นคนที่หยิ่งยโส รุกล้ำ จอมบงการ และโลภมากอย่างที่สุดด้วยรสนิยมที่ไม่รู้จักพอในการซื้อเครื่องสำอาง เสื้อผ้าและเครื่องเพชรราคาแพงจากฝรั่งเศส[22] ในช่วงนั้นชาวโรมาเนียต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงปรนเปรอรสนิยมราคาแพงของลูเปสคูอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ประชาชนที่มักจะบ่นกันปากต่อปากว่า เงินพวกนั้นสามารถบรรเทาความยากจนในราชอาณาจักรได้ นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ความไม่พอใจในลูเปสคูมีมากขึ้นคือ การที่เธอเป็นนักธุรกิจหญิง เธอได้ใช้เส้นสายสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ในการทำธุรกรรมอันเป็นที่น่าสงสัย ซึ่งมักจะเป็นการถ่ายโอนเงินก้อนใหญ่ของภาครัฐเข้าสู่กระเป๋าธุรกิจของเธอ[19] อย่างไรก็ตามในมุมมองของงานค้นคว้าร่วมสมัย การที่กล่าวว่ากษัตริย์คาโรลเป็นหุ่นเชิดของนางมักดา ลูเปสคูนั้นไม่ถูกต้องเสียทีเดียว และการกล่าวว่า มาดามลูเปสคูมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของรัฐโรมาเนียนั้นถือเป็นการกล่าวที่เกินความเป็นจริง[22] ในช่วงแรกลูเปสคูให้ความสนใจกับการสร้างความร่ำรวยแก่เธอเองเพื่อตอบรับวิถีชีวิตที่ชอบความหรูหราของเธอ และเธอเองก็ไม่ได้มีความสนใจเรื่องการเมืองมากไปกว่าการปกป้องธุรกิจที่ทุจริตของเธอ[22] ซึ่งต่างจากกษัตริย์คาโรล คือ มาดามลูเปสคูนั้นไม่สนใจนโยบายทางสังคมหรือนโยบายการต่างประเทศเลย และเธอก็เป็นคนที่หลงตัวเองมากเสียจนไม่รู้ว่าเธอนั้นเป็นที่เกลียดชังของสามัญชนคนธรรมดามากเพียงใด[23] ในทางกลับกันกษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงสนพระทัยในกิจการของรัฐอย่างยิ่งและพระองค์ไม่เคยที่จะปฏิเสธความสัมพันธ์กับลูเปสคู แต่พระองค์ก็ทรงระวังไม่ให้เธอแสดงตนในที่สาธารณะมากเกินไป เพราะทรงรู้ว่านั่นจะทำให้พระองค์เสื่อมเสียความนิยมไปด้วย[23]

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงพยายามที่จะให้พรรคเสรีนิยมแห่งชาติ พรรคเกษตรกรแห่งชาติและกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก เข้าห้ำหั่นกัน เพื่อที่จะให้พระองค์บรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ การทำให้พระองค์เองเป็นผู้นำทางการเมืองโรมาเนียและกำจัดทุกพรรคฝักฝ่ายทั้งหมดในโรมาเนีย[14] แต่ด้วยความเคารพต่อกองกำลังอัครทูตสวรรค์มิคาเอล กษัตริย์คาโรลที่ 2 ไม่ได้ตั้งพระทัยให้กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กเข้ามามีอำนาจ แต่เพื่อให้กองกำลังนี้เป็นกองกำลังก่อกวนพวกพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคเกษตรกร กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงต้อนรับอำนาจของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 และทรงพยายามใช้กองกำลังมิคาเอลเป็นเครื่องมือของพระองค์[14] ในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1933 กลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กทำการลอบสังหารนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยมแห่งชาติ คือ เอียน จี. ดูคา อันนำมาซึ่งการคว่ำบาตรกลุ่มกองกำลังนี้ครั้งแรก[24] การลอบสังหารนายกรัฐมนตรีดูคา เป็นคดีฆาตกรรมทางการเมืองรายแรกของโรมาเนียนับตั้งแต่ค.ศ. 1862 เหตุการณ์นี้สร้างความตกพระทัยแก่กษัตริย์คาโรลที่ 2 อย่างมาก เนื่องจากทรงเห็นความมุ่งมั่นของคอดรีอานูในความพยายามลอบสังหารนายกรัฐมนตรี และพระองค์มองว่า คอดรีอานูผู้ยึดมั่นแต่ตัวเองเริ่มที่จะควบคุมไม่ได้แล้ว และคอดรีอานูไม่ดำเนินการตามพระราชประสงค์ของกษัตริย์ที่ต้องการให้เขาเป็นพลังที่เพียงแต่ก่อกวนพรรคเสรีนิยมแห่งชาติและพรรคเกษตรกรเท่านั้น[24] ใน ค.ศ. 1934 เมื่อคอดรีอานูถูกนำตัวขึ้นศาลในคดีลอบสังหารนายกรัฐมนตรีดูคา เขาได้ขึ้นให้การว่าพวกชนชั้นนำที่นิยมฝรั่งเศสทั้งหมดเป็นพวกทุจริตและไม่คู่ควรกับการเป็นชาวโรมาเนีย และดูคาก็เป็นหนึ่งในนักการเมืองพรรคเสรีนิยมแห่งชาติที่ทุจริต เขาจึงสมควรตาย คณะลูกขุนตัดสินให้คอดรีอานูพ้นโทษ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงกังวลมาก เนื่องจากเหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการแสดงสาส์นการปฏิวัติของคอดรีอานู ว่า ชนชั้นสูงทั้งหมดจะต้องถูกทำลายด้วยชัยชนะของมติมหาชน ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1934 หลังจากคอดรีอานูถูกปล่อยตัว กษัตริย์คาโรลและนายอำเภอเมืองบูคาเรสต์ กัฟริลา มารีเนสคู พร้อมกับมาดามลูเปสคู ร่วมกันวางแผนอย่างไม่เต็มใจที่จะลอบสังหารคอดรีอานูด้วยการวางยาพิษในกาแฟ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจยกเลิกแผนการ[25] จนกระทั่งใน ค.ศ. 1935 กษัตริย์คาโรลทรงเป้นผู้มีส่วนร่วมสำคัญใน "มิตรสหายของกองกำลัง" ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมผู้สนับสนุนกองกำลังเข้าด้วยกัน[26] กษัตริย์คาโรลทรงหยุดสนับสนุนกองกำลังนี้ หลังจากที่คอดรีอานูเริ่มเรียกมาดามลูเปสคูว่า "โสเภณียิว" ภาพลักษณ์ของกษัตริย์คาโรลนั้นเป็น "กษัตริย์เพลย์บอย" เป็นภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ที่เจ้าสำราญ ซึ่งสนพระทัยในเหล่าสตรี การเสวยของมึนเมา การพนันและการจัดงานเลี้ยงมากกว่าการสนพระทัยในกิจการของรัฐ แต่กษัตริย์คาโรบนั้นสนพระทัยในกิจการของรัฐด้วย พระองค์จึงทรงถูกมองว่าเป็นจอมวางแผนและไม่ซื่อสัตย์ เพียงแค่สนพระทัยในการทำลายระบอบประชาธิปไตยเพื่อเพิ่มพระราชอำนาจของพระองค์[27]

ใกล้เคียง

คาโรลีเนอ วอสนีอากี คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล คาโรลิน สุภาลักษณ์ นีมะโยธิน คาโรลีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-อันส์บัค คาโรลีเนอ เอากุสเทอแห่งบาวาเรีย คาโรลีเนอแห่งบาเดิน คาโรล คิง คาโรลัส ลินเนอัส คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย คาโรลที่ 1 แห่งโรมาเนีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาโรลที่_2_แห่งโรมาเนีย http://www.sudd.ch/event.php?lang=en&id=ro011938 http://www.historytoday.com/richard-cavendish/deat... http://www.itv.com/presscentre/ep10week14/mr-selfr... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.cs.kent.edu/~amarcus/Mihai/english/caro... http://www.law.nyu.edu/eecr/vol7num2/feature/ruler... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/greece.htm... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/romania.ht... http://www.tkinter.smig.net/Romania/References/Car... http://ziua.net/display.php?data=2007-11-29&id=230...