พระมหากษัตริย์ผู้ครอบงำ ของ คาโรลที่_2_แห่งโรมาเนีย

กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงจุมพิตกางเขนที่ถือโดยพระสังฆราชวิซาเรียน ปูอีอูแห่งสังฆมณฑลบูโกวินา ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1935

ตลอดช่วงสมัยระหว่างสงคราม โรมาเนียอยู่ในเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสและในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1926 มีการลงนามในสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส การเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสพร้อมๆกับการลงนามเป็นพันธมิตรกับโปแลนด์ใน ค.ศ. 1921 กลุ่มสัมพันธมิตรน้อยได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรวมโรมาเนีย เชโกสโลวาเกียและยูโกสลาเวียไว้เป้นองค์กรร่วมกันถือเป็นหลักสำคัญของนโยบายด้านการต่างประเทศของโรมาเนีย ฝรั่งเศสเริ่มดำเนินการสร้างนโยบายต่างประเทศ คอร์โดน ซานีแตร์รี (Cordon sanitaire) หรือแปลว่า วงล้อมสุขาภิบาล เริ่มใน ค.ศ. 1919 เป็นการเปรียบเปรยว่าต้องการกีดกันเยอรมนีและสหภาพโซเวียตออกจากกิจการในยุโรปตะวันออก กษัตริย์คาโรลไม่ได้ทรงยกเลิกนโยบายต่างประเทศนี้นับต้งแต่ทรงราชย์ใน ค.ศ. 1930 ในตอนแรกพระองค์ยังทรงมองว่าการดำเนินนโยบายคอร์โดน ซานีแตร์รีอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่สามารถรับประกันเอกราชของโรมาเนียได้ และด้วยเหตุนี้นโยบายด้านการต่างประเทศของพระองค์จึงมีรูปแบบสนับสนุนฝรั่งเศส ในช่วงที่โรมาเนียได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสนั้น ภูมิภาคไรน์ลันท์ของเยอรมนีถูกทำให้เป็นเขตปลอดทหารและมีการคิดในกรุงบูคาเรสต์เสมอว่าถ้าเยอรมนีกระทำการอื่นใดที่เป็นภัยคุกคามต่อยุโรปตะวันออก ฝรั่งเศสจะเข้ารุกรานดินแดนไรซ์ทันที ฝรั่งเศสเริ่มสร้างแนวแมกิโนต์ตามพรมแดนเยอรมนีใน ค.ศ. 1930 เริ่มมีความสงสัยเกิดขึ้นในบูคาเรสต์ว่าฝรั่งเศสจะเข้ามาช่วยเหลือโรมาเนียหรือไม่ถ้าเกิดเยอรมนีรุกรานเข้ามาใน ค.ศ. 1933 กษัตริย์คาโรลที่ 2 แต่งตั้งนิโคไล ตีตูเรสคูเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เขาเป็นผู้สนับสนุนอย่างเปิดเผยด้านนโยบายด้านความมั่นคงร่วมกันภายใต้องค์การสันนิบาตชาติ เขาได้เป็นรัฐมนตรีเพื่อดำเนินนโยบายความมั่นคงร่วมกันในการสร้างความมั่นคงของประเทศเพื่อป้องกันเยอรมนีและสหภาพโซเวียตออกจากยุโรปตะวันออก[33] กษัตริย์คาโรลที่ 2 ไม่โปรดตีตูเรสคู และตีตูเรสคูก็ไม่ชอบกษัตริย์เช่นกัน แต่พระองค์ทรงต้องการให้เขาเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศเพราะทรงเชื่อว่าเขาเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการผนึกกำลังอันเข้มแข็งกับฝรั่งเศสและเป็นการนำอังกฤษเข้ามาร่วมในกิจการยุโรปตะวันออกด้วยภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงร่วมกันตามบทบัญญัติของสันนิบาตชาติ[34]

กระบวนการไกลช์ชัลทุง (การประสานงาน) ของพรรคนาซีเยอรมนี ไม่ได้ขยายแต่เพียงภายในดินแดนไรซ์เยอรมันเท่านั้น แต่ในความคิดของผู้นำพรรคนาซีมองว่าเป็นการขยายไปในระดับโลก ซึ่งพรรคนาซีจะเข้าควบคุมชุมชนชาวเยอรมันทั้งหมดทั่วโลก ฝ่ายด้านการต่างประเทศของพรรคนาซีนำโดยอัลเฟรท โรเซินแบร์คเริ่มดำเนินการตามแผนใน ค.ศ. 1934 ในความพยายามครอบครองโฟล์คดอยซ์ (volksdeutsch) หรือชุมชนชาวเยอรมันในโรมาเนีย นโยบายนี้ทำให้กษัตริย์คาโรลทรงพิโรธอย่างมาก ทรงมองว่าเรื่องนี้เป็นการแทรกแซงโดยเยอรมันต่อกิจการภายโรมาเนียอย่างรุนแรง[35] ในขณะที่โรมาเนียมีพลเมืองโฟล์คดอยซ์จำนวนครึ่งล้านในทศวรรษที่ 1930 แผนการยึดครองชุมชนเยอรมันในโรมาเนียของพรรคนาซีสร้างความกังวลพระทัยแก่กษํตริย์คาโรลมาก ทรงกลัวว่าชนกลุ่มน้อยเยอรมันจะกลายเป็นกองทหารที่ห้า (fifth column; คำเปรียบเปรยว่าคือ กลุ่มคนจำนวนน้อยที่คอยบ่อนทำลายคนกลุ่มใหญ่จากภายใน)[35] นอกจากนี้ตัวแทนของโรเซินแบร์คยังเข้ามาติดต่อกับกลุ่มชาวโรมาเนียฝ่ายขวาจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคคริสเตียนแห่งชาติที่นำโดยอ็อกเตเวียน โกกา และมีความเชื่อมโยงเล็กน้อยกับผู้นำกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็ก คอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู ซึ่งเหตุนี้สร้างความไม่พอพระทัยแก่กษัตริย์คาโรลมาก[35] เกอร์ฮาร์ด ไวน์แบร์ค นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันได้เขียนเกี่ยวกับมุมมองด้านนโยบายต่างประเทศของกษัตริย์คาโรลว่า "พระองค์ทั้งชื่นชมและเกรงกลัวเยอรมนี แต่ทรงกลัวและเกลียดชังสหภาพโซเวียต"[36] ในความเป้นจริงแล้ว ผู้นำคนแรกที่เยือนนาซีเยอรมนี (แม้ว่าจะยังไม่ได้มีตำแหน่งเป็นทางการที) คือ กยูลา ก็อมโบส นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งเดินทางเยือนเบอร์ลินในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1933 เพื่อลงนามในสนธิสัญญาเศรษฐกิจเพื่อนำพาฮังการีเข้าสู่อิทธิพลของเยอรมนี เหตุการณ์นี้ทำให้กษัตริย์คาโรลต้องทรงตื่นตระหนกอย่างมาก[37] ตลอดช่วงสมัยระหว่างสงคราม รัฐบาลบูดาเปสต์ ฮังการีปฏิเสธที่จะยอมรับพรมแดนตามสนธิสัญญาตริอานองและเรียกร้องสิทธิในทรานซิลเวเนียของโรมาเนีย กษัตริย์คาโรลก็ทรงเป็นเหมือนกลุ่มชนชั้นนำโรมาเนียที่กังวลต่อความคาดหวังของพันธมิตรของรัฐที่เปลี่ยนแปลงใหม่ที่ปฏิเสธความชอบธรรมของระเบียบสากลที่เขียนด้วยฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วง ค.ศ. 1918-20 ซึ่งระบุว่าเยอรมนีจะสนับสนุนการอ้างสิทธิในดินแดนทรานซิลเวเนียของฮังการี[37] ฮังการีมีข้อพิพาททางดินแดนกับโรมาเนีย ยูโกสลาเวียและเชโกสโลวาเกีย ซึ่งทั้งสามชาตินี้เป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ดังนั้นความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-ฮังการีจึงเป็นไปได้ไม่ค่อยดีในช่วงสมัยระหว่างสงครามและดูเหมือนว่าฮังการีจะไปเข้าหาศัตรูของฝรั่งเศสอย่างเยอรมนี

ใน ค.ศ. 1934 ตีตูเรสคูมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งสนธิสัญญาบอลข่านซึ่งเป็นการรวมโรมาเนีย ยูโกสลาเวีย กรีซและตุรกีเป็นพันธมิตรกันเพื่อต่อต้านนโยบายฟื้นคืนดินแดนของบัลแกเรีย[34] สนธิสัญญาบอลข่านมีจุดประสงค์เพื่อเป็นจุดแรกเริ่มของการเป็นพันธมิตรกันของรัฐที่ต่อต้านระบบรัฐปรับปรุงใหม่ของยุโรปตะวันออก ดังเช่น ฝรั่งเศสและโรมาเนียเป็นพันธมิตรกับทั้งเชโกสโลวาเกียและโปแลนด์ แต่ด้วยข้อพิพาทเทสเชนในไซลีเซีย รัฐบาลวอร์ซอกับรัฐบาลปรากจึงเป็นศัตรูกัน เช่นเดียวกับที่นักการทูตแห่งเกดอร์เซย์ ปารีสระบุว่า กษัตริย์คาโรลทรงขุ่นเคืองกับข้อพิพาทระหว่างโปแลนด์-เชโกสโลวาเกีย พระองค์ทรงมองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระมากที่รัฐยุโรปตะวันออกที่ต่อต้านระบบรัฐปรับปรุงใหม่จะมีปัญหากันเองในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานที่อำนาจของเยอรมนีและโซเวียตกำลังเพิ่มขึ้นมาก[34] หลายครั้งที่กษัตริย์คาโรลทรงพยายามเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเทสเชนแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการยุติความบาดหมางระหว่างโปแลนด์และเชโกสลาเวีย[34] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 พระองค์สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองนิยมฝรั่งเศส เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส หลุยส์ บาร์ทูเยือนบูคาเรสต์เพื่อพบปะกับเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาชิกสัมพันธมิตรน้อยคือ โรมาเนีย ยูโกสลาเวียและเชโกสโลวาเกีย กษัตริย์คาโรลทรงจัดงานเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตเพื่อต้อนรับบาร์ทูเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการกระชับความสัมพันธ์ฝรั่งเศส-โรมาเนีย ในฐานะประเทศ "พี่น้องละติน" ทั้งสอง[38] เคานท์ฟรีดริช-แวร์เนอร์ กราฟ ฟอน เดอ ชูเลนบวร์ก ทูตเยอรมันในโรมาเนีย วิจารณ์อย่างน่าขยะแขยงรายงานไปยังเบอร์ลินว่า ชนชั้นนำทุกคนในโรมาเนียเป็นพวกคลั่งฝรั่งเศสอย่างแก้ไม่หาย ซึ่งมักจะบอกเสมอว่า โรมาเนียจะไม่ทรยศต่อ "พี่สาวละติน" ฝรั่งเศส[38]

พระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์คาโรลที่ 2 ค.ศ. 1937

ในเวลาเดียวกัน กษัตริย์คาโรลยังทรงพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนาความสัมพันธ์โรมาเนีย-เยอรมนี ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลเบอร์ลินยอมถอนการสนับสนุนรัฐบาลบูดาเปสต์ในความพยายามทวงคืนดินแดนทรานซิลเวเนีย[37] ในช่วงที่กษัตริย์คาโรลทรงมุ่งมั่นในเรื่องเยอรมนี แต่เศรษฐกิจโรมาเนียอยู่ในความสิ้นหวัง ช่วงก่อนภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โรมาเนียเป็นประเทศที่ยากจนอย่างยิ่งและในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็รุมเร้าโรมาเนียอย่างหนัก โรมาเนียไม่สามารถส่งออกสินค้าได้มากเนื่องจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้นจากรัฐบัญญัติภาษีสมูท-ฮอว์ลีย์ของอเมริกาใน ค.ศ. 1930 ซึ่งนำไปสู่ความตกต่ำของค่าสกุลเงินลิวโรมาเนีย เงินสำรองต่างประเทศของโรมาเนียถูกใช้อย่างหมดสิ้น[37] ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1934 รัฐมนตรีคลังโรมาเนีย วิกตอร์ สลาเวสคู เยือนปารีสเพื่อขอให้ฝรั่งเศสช่วยอัดฉีดเงินหลายล้านฟรังก์เข้าสู่คลังของโรมาเนียและช่วยลดอัตราภาษีศุลกากรต่อสินค้าโรมาเนีย[37] เมื่อฝรั่งเศสปฏิเสธคำขอทั้งสองของโรมาเนีย ทำให้กษัตริย์คาโรลที่ 2 ไม่พอพระทัยอย่างมาก พระองค์ทรงเขียนในพระอนุทินส่วนพระองค์ว่า "พี่สาวละติน" ฝรั่งเศสทำหน้าที่เป็นพี่สาวของโรมาเนียได้น้อยลง[37] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1936 เมื่อวิลเฮล์ม ฟาบริเซียสได้รับการแต่งตั้งจากเยอรมนีให้มาเป้นทูตที่โรมาเนีย รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีคือ ค็อนสตันทีน ฟ็อน น็อยราทได้เตือนฟาบริเซียสว่า โรมาเนียเป็นประเทศที่ไม่เป็นมิตร เป็นรัฐนิยมฝรั่งเศส แต่ก็แนะนำว่าอาจจะมีโอกาสในการเปิดการค้ากับโรมาเนียเพิ่มขึ้นเพื่อให้หลุดจากวงโคจรของฝรั่งเศส[37] น็อยราทชี้นำฟาบริเซียสอีกว่า แม้ว่าโรมาเนียจะไม่ใช้มหาอำนาจทางทหาร แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเยอรมนีคือน้ำมันของโรมาเนียเป็นสิ่งจำเป็น

กษัตริย์คาโรลมักจะสนับสนุนให้พรรคการเมืองแตกแยกกันเพื่อเอื้อแก่พระราชอำนาจของพระองค์ ใน ค.ศ. 1935 อเล็กซานดรู ไวดา-วอโวด อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเกษตรกรแห่งชาติ เขาเป็นผู้นำสายทรานซิลเวเนีย ได้แยกพรรคออกมาตั้งพรรคแนวโรมาเนียโดยกษัตริย์คาโรลทรงให้การสนับสนุน[39] ในเวลาเดียวกัน กษัตริย์คาโรลทรงพัฒนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาร์มานด์ คาลีเนสคู ผู้นำพรรคเกษตรกรแห่งชาติผู้ทะเยอทะยาน ในการก่อตั้งฝักฝ่ายที่ต่อต้านอียูลิว มานิว ศัตรูของกษัตริย์คาโรล และกษัตริย์คาโรลทรงโปรดให้พรรคเกษตรกรร่วมมือกับสถาบันกษัตริย์อีกครั้ง[39] ในขณะเดียวกันกษัตริย์คาโรลทรงสนับสนุนกลุ่ม "เสรีนิยมหนุ่ม" ที่นำโดยจีออร์เก ตาตาเรสคู เพื่อลดพลังอำนาจของตระกูลบราเตียนูที่ครอบงำพรรคเสรีนิยมแห่งชาติมานาน[24] เป็นที่ชัดเจนว่ากษัตริย์คาโรลเต็มพระทัยที่จะอนุญาตให้ "เสรีนิยมหนุ่ม" ภายใต้ตาตาเรสคูเข้ามามีอำนาจ แต่ทรงกีดกันพรรคเสรีนิยมสายหลักของดีนู บราเตียนูจากอำนาจ กษัตริย์คาโรลไม่ทรงลืมเลือนว่าพวกตระกูลบราเตียนูได้ดำเนินการถอดพระองค์ออกจากสิทธิในราชบัลลังก์ในช่วงทศวรรษที่ 1920[40]

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1935 ผู้นำกองกำลังอัครทูตสวรรค์มิคาเอล ซึ่งก็คือ คอร์เนลิว เซลีอา คอดรีอานู ผู้ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรของกษัตริย์คาโรลมาโดยตลอด ได้ดำเนินการโจมตีพระมหากษัตริย์ครั้งแรกโดยตรง เมื่อเขาได้ระดมพลสาวกออกมาเดินขบวนหน้าพระราชวัง เพื่อต่อต้านกษัตริย์คาโรลในกรณีที่มีการจับกุมนายแพทย์ดีมิตรี เกรอตา ซึ่งเขียนบทความเปิดเผยธุรกิจทุจริตของมาดามลูเปสคู[25] คอดรีอานูปราศรัยหน้าพระราชวังด่าทอลูเปสคูว่าเป็น "โสเภณียิว" ผู้ปล้นชิงประเทศโรมาเนียให้มืดบอด การกระทำเช่นนี้เป็นการหมิ่นพระเกียรติของกษัตริย์คาโรล พระองค์จึงมีคำสั่งไปยังหนึ่งในสมาชิกคามาริลลา คือ กัฟรีลา มารีเนสคู ผู้กำกับการตำรวจบูคาเรสต์ ส่งตำรวจออกไปสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้พิทักษ์เหล็กด้วยความรุนแรง[25]

ข้อสงสัยเกี่ยวกับท่าทีของฝรั่งเศสที่จะเข้ามาอาสาป้องกันการรุกรานจากเยอรมนีนั้นเริ่มเป็นที่น่ากังขามากขึ้นเมื่อมีการส่งทหารกลับเข้าไรน์ลันท์ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 กองทัพเยอรมันเริ่มสร้างแนวซีคฟรีทตลอดแนวพรมแดนฝรั่งเศส และมีการพิจารณาว่าเริ่มมีความเป็นไปได้น้อยที่ฝรั่งเศสจะบุกเข้าไปในเยอรมนีตะวันตกถ้าเยอรมนีเข้าโจมตีรัฐอื่นตามวงล้อมคอร์โดน ซานีแตร์รี บันทึกจากฝ่ายการต่างประเทศของอังกฤษในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 ระบุว่า ชาติหนึ่งชาติใดในโลกที่ควรจะเข้าแทรกแซงเยอรมนีจากเหตุการณ์การส่งทหารกลับเข้าไรน์ลันท์ ชาตินั้นที่ควรเข้าร่วมลงมิตในสันนิบาตชาติคือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เบลเยียม, เชโกสโลวาเกีย, สหภาพโซเวียตและโรมาเนีย[41] ผลจากเหตุการณ์การส่งทหารกลับเข้าไรน์ลันท์นั้นไม่มีฝ่ายใดเข้าแทรกแซงหรือประณามเยอรมนีอย่างชัดเจน กษัตริย์คาโรลทรงเริ่มกลัวว่าประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสในยุโรปตะวันออกจะเป็นรายต่อไป พระองค์จึงพยายามติดต่อกับเยอรมนีเพื่อรักษาเอกราชของโรมาเนีย[42] ด้วยที่โรมาเนียเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสมาอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากเดือนมีนาคม ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงพยายามเพิ่มความสัมพันธ์กับเยอรมนี[43]

กษัตริย์คาโรลที่ 2 พร้อมประธานาธิบดีเชโกสโลวาเกีย แอ็ดวาร์ต แบแน็ช (คนที่ 2 จากซ้าย), เจ้าชายพอล ผู้สำเร็จราชการแห่งยูโกสลาเวีย (ลำดับที่ 4 จากซ้าย), มกุฎราชกุมารมีไฮ (ลำดับที่ 1 จากซ้าย) และเจ้าชายนิโคลัสแห่งโรมาเนีย (ลำดับที่ 5 จากซ้าย) ในกรุงบูคาเรสต์ ค.ศ. 1936

ในปัญหาการเมืองภายในประเทศ เดือนฤดูร้อน ค.ศ. 1936 คอดรีอานูและมานิวได้จับมือกันเป็นพันธมิตรเพื่อต่อต้านพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นของพระมหากษัตริย์[44] และรัฐบาลพรรคเสรีนิยมแห่งชาติของตาตาเรสคู ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงปลดตีตูเรสคูออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงส่งนักการเมืองที่ทรยศพรรคเสรีนิยมแห่งชาติคือ จีออร์เก จี. บราเตียนูไปเยอรมนีเพื่อพบกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์, ค็อนสตันทีน ฟ็อน น็อยราท รัฐมนตรีต่างประเทศ และแฮร์มัน เกอริง เพื่อแจ้งว่าโรมาเนียต้องการสร้างความสัมพันธ์กับจักรวรรรดิไรซ์[45] กษัตริย์คาโรลทรงโล่งพระทัยมากเมื่อบราเตียนูรายงานว่า ฮิตเลอร์, น็อยราทและเกอริง ให้ความเชื่อมั่นว่าจักรวรรดิไรซ์ไม่สนใจที่จะสนับสนุนการฟื้นคืนดินแดนของฮังการี และจะยืนกรานเป็นกลางในกรณีพิพาททรานซิลเวเนีย[45] การรณรงค์ของรัฐบาลเบอร์ลินที่ไม่มีสิ่งใดมาผูกมัดถือเป็นการโค่นล้มระบบระหว่างประเทศที่สร้างขึ้นจากสนธิสัญญาแวร์ซายที่แยกจากการรณรงค์ของบูดาเปสต์ เพื่อโค่นล้มระบบที่จัดตั้งขึ้นมาจากสนธิสัญญาตริอานง กลายเป็นข่าวที่สร้างความยินดีกับกษัตริย์คาโรล ซึ่งมันเป็นเรื่องการสร้างเกรตเทอร์เยอรมนีไม่ใช่เกรตเทอร์ฮังการี เกอริงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการแผนสี่ปี ซึ่งร่างมาขึ้นเพื่อให้เยอรมนีพร้อมเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบใน ค.ศ. 1940 โดยให้ความสนใจในน้ำมันของโรมาเนียมากเป็นพิเศษและเกอริงได้พูดคุยกับบราเตียนูถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยุคใหม่ของเยอรมนีและโรมาเนีย[45] เยอรมนีแทยไม่มีน้ำมันเป็นของตนเองและตลอดช่วงจักรวรรดิไรซ์ที่สามการควบคุมแหล่งน้ำมันของโรมาเนียจึงเป็นเป้าหมายสำคัญของนโยบายต่างประเทศ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ กษัตริย์คาโรลทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งแผนการสนับสนุนพันธมิตรใหม่ระหว่างฝรั่งเศสและเชโกสโลวาเกียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1937 ซึ่งเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างฝรั่งเศสกับพันธมิตรน้อยอย่างเป็นทางการและเป็นแผนที่มองเห็นความสัมพันธ์ทางการทหารระหว่างฝรั่งเศสกับพันธมิตรในยุโรปตะวันออก[46] เนื่องด้วยทรัพยากรน้ำมันทำให้ฝรั่งเศสยังคงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับโรมาเนีย และด้วยกำลังคนของโรมาเนียเป็นทางหนึ่งที่สามารถชดเชยกำลังคนชาวฝรั่งเศสที่มีน้อยกว่าได้ เพื่อต่อสู้กับกำลังคนของเยอรมัน (ฝรั่งเศสมี 40 ล้านคนในขณะที่เยอรมนีมี 70 ล้านคน)[46] ยิ่งไปกว่านั้นมีการคาดเดากันในปารีสว่าเยอรมนีจะทำการรุกรานเชโกสโลวาเกีย ฮังการีจะโจมตีเชโกสโลวาเกียวเพื่อยึดสโลวาเกียและรูเทอเนีย นักวางแผนทางทหารของฝรั่งเศสจึงมองว่าโรมาเนียและยูโกสลาเวียจะมีบทบาทในการทำสงครามรุกรานฮังการีเพื่อลดกำลังพลที่จะเข้าไปโจมตีเชโกสโลวาเกีย[46]

จนถึง ค.ศ. 1940 นโยบายต่างประเทศของกษัตริย์คาโรลมีความเอนเอียงอย่างไม่มั่นคงระหว่างคงพันธมิตรดั้งเดิมกับฝรั่งเศสหรือสร้างความสัมพันธ์กับพลังอำนาจใหม่อย่างเยอรมนี[45] ในฤดูร้อน ค.ศ. 1936 กษัตริย์คาโรลทรงแจ้งไปยังทูตฝรั่งเศสว่าถ้าเยอรมนีรุกรานเชโกสโลวาเกีย พระองค์จะไม่ประสงค์ให้กองทัพแดงโซเวียตเดินทัพผ่านโรมาเนีย แต่ก็ทรงเต็มพระทัยที่จะเพิกเฉยถ้าโซเวียตต้องการผ่านน่านฟ้าโรมาเนียไปยังเชโกสโลวาเกีย[47] ในวันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1937 สนธิสัญญาทางเศรษฐกิจเยอรมนี-โรมาเนียได้ถูกลงนามภายใต้เขตอิทธิพลทางเศรษฐกิจของเยอรมนี แต่ก็ทำให้ชาวเยอรมันไม่พอใจเพราะไม่ได้มีการบรรจุแผนการความต้องการน้ำมันจำนวนมหาศาลของเยอรมนีในการใช้ในเครื่องจักรการสงครามขนาดใหญ่ในสนธิสัญญา ค.ศ. 1937[48] ดูเหมือนว่าเยอรมนีจะมีความต้องการน้ำมันอย่างไม่สิ้นสุด และไม่มีการลงนามในข้อตกลง ค.ศ. 1937 ซึ่งชาวเยอรมันเรียกร้องสนธิสัญญาเศรษฐกิจฉบับใหม่ในค.ศ. 1938 ในช่วงเวลาเดียวกับที่มีการลงนามในสนธิสัญญาเยอรมนี-โรมาเนีย ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1937 กษัตริย์คาโรลที่ 2 ทรงต้อนรับยอน เดลโบส รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส เพื่อแสดงว่าพันธมิตรระหว่างโรมาเนียกับฝรั่งเศสยังคงอยู่[49]

ใกล้เคียง

คาโรลีเนอ วอสนีอากี คาโรลีเนอแห่งเบราน์ชไวค์-ว็อลเฟินบึทเทิล คาโรลิน สุภาลักษณ์ นีมะโยธิน คาโรลีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-อันส์บัค คาโรลีเนอ เอากุสเทอแห่งบาวาเรีย คาโรลีเนอแห่งบาเดิน คาโรล คิง คาโรลัส ลินเนอัส คาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย คาโรลที่ 1 แห่งโรมาเนีย

แหล่งที่มา

WikiPedia: คาโรลที่_2_แห่งโรมาเนีย http://www.sudd.ch/event.php?lang=en&id=ro011938 http://www.historytoday.com/richard-cavendish/deat... http://www.itv.com/presscentre/ep10week14/mr-selfr... http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,8... http://www.cs.kent.edu/~amarcus/Mihai/english/caro... http://www.law.nyu.edu/eecr/vol7num2/feature/ruler... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/greece.htm... http://pages.prodigy.net/ptheroff/gotha/romania.ht... http://www.tkinter.smig.net/Romania/References/Car... http://ziua.net/display.php?data=2007-11-29&id=230...