เรื่องเล่าสมัยใหม่ ของ คำสาปฟาโรห์

อักษรไฮเออโรกลีฟอียิปต์มาถอดรหัสได้เอาเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ฉะนั้น เรื่องราวเกี่ยวกับคำสาปแต่ก่อนจึงเกี่ยวข้องกับการมีไว้ซึ่งมัมมี่หรือวัตถุจากสุสาน เช่น ใน ค.ศ. 1699 หลุยส์ เพนิชเชอร์ (Louis Penicher) บันทึกว่า นักเดินทางชาวโปแลนด์นำมัมมี่สองร่างออกจากอะเล็กซานเดรีย แล้วพาเดินทางไปด้วยเรือสินค้า แต่เห็นภาพหลอนเป็นวิญญาณสองตน ทั้งทะเลก็ปั่นป่วนหนัก จึงโยนมัมมี่ทั้งสองลงน้ำไป พลันพายุก็สงบ[2]

ส่วน ซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) กล่าวว่า ตนจำได้ว่า ตอนเป็นนักโบราณคดีใหม่ ๆ ไปขุดสุสานที่ Kom Abu-Bellou แล้วขนย้ายโบราณวัตถุบางส่วนออกจากพื้นที่กรีกโรมัน วันนั้น ลูกพี่ลูกน้องเขาเสียชีวิต วันเดียวกันในอีกหนึ่งปีให้หลัง ลุงเขาเสียชีวิต ครั้นครบรอบวันนั้นสามปี ป้าของเขาเสียชีวิต หลายปีต่อมา เขาไปขุดสุสานของผู้ก่อสร้างพิรามิดกีซา เขาจึงพบเจอกับจารึกคำสาปว่า "คนทั้งปวงที่เข้ามาในสุสานนี้ ซึ่งจะประทุษร้ายสุสานนี้และทำลายสุสาน ขอให้ถูกจระเข้รังควานในน้ำ และถูกงูรังควานบนบก ขอให้ถูกช้างน้ำรังควานในน้ำ และถูกแมงป่องรังควานบนบก" (All people who enter this tomb who will make evil against this tomb and destroy it may the crocodile be against them in water, and snakes against them on land. May the hippopotamus be against them in water, the scorpion against them on land.)[5] ฮาวาสส์จึงตัดสินใจไม่รบกวนสุสาน แม้ไม่ได้เชื่อผีสางนางไม้ก็ตาม แต่ภายหลังเขาต้องข้องเกี่ยวกับการขนย้ายมัมมี่เด็กสองร่างออกจากโอเอซิสบาฮาริยา (Bahariya Oasis) และมีรายงานว่า เขาถูกผีเด็กสองตนตามหลอกหลอนในฝัน เขาฝันร้ายเช่นนี้ตลอดมาจนกระทั่งมีการนำร่างบิดามาไว้กับร่างเด็กทั้งสองนั้นในพิพิธภัณฑ์[5] ฮาวาสส์ยังบันทึกว่า เขาพบกับเด็กชายคนหนึ่งซึ่งชื่นชอบอียิปต์โบราณ แต่เจ็บป่วย วันหนึ่ง เด็กคนนั้นไปพบพระศพของฟาโรห์อาโมสที่ 1 (Ahmose I) แล้วจ้องเข้าไปในดวงพระเนตร ปรากฏว่า หายป่วยเป็นปลิดทิ้ง[6]

แนวคิดเรื่องมัมมี่คืนชีพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในตำนานคำสาปหลายแขนงนั้น พัฒนาขึ้นเพราะหนังสือเรื่อง เดอะมัมมี!: ออร์อะเทลออฟเดอะทเวนตีเซกันด์เซนจูรี (The Mummy!: Or a Tale of the Twenty-Second Century) ของ เจน ซี. เลาดอน (Jane C. Loudon) เมื่อ ค.ศ. 1827 ซึ่งผสมผสานบันเทิงคดีวิทยาศาสตร์เข้ากับนิยายสยองขวัญ นอกจากนี้ ถือกันว่า หลุยซา เมย์ แอลคอตต์ (Louisa May Alcott) เป็นคนแรกที่เขียนเรื่องคำสาปมัมมีเต็มรูปแบบ ดังที่ปรากฏในนิยายของเธอเรื่อง ลอสต์อินอะพิรามิด ออร์เดอะมัมมีส์เคิร์ส (Lost in a Pyramid, or The Mummy's Curse) เมื่อ ค.ศ. 1869[7]