ประวัติ ของ ค่าจ้างขั้นต่ำ

ค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายถูกเสนอครั้งแรกเพื่อเป็นหนทางในการควบคุมการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการผลิต โรงงานเหล่านี้ว่าจ้างลูกจ้างหญิงและเด็กเป็นจำนวนมาก และจ่ายค่าตอบแทนด้วยจำนวนที่ถูกมองว่าต่ำกว่าค่าแรงมาตรฐาน เจ้าของโรงงานเหล่านี้ถูกคิดว่ามีอำนาจต่อรองอย่างไม่ยุติธรรมเหนือลูกจ้าง และค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกเสนอเพื่อเป็นวิธีในการบังคับให้พวกเขาจ่าย "อย่างยุติธรรม" เมื่อเวลาผ่านไป ความสนใจได้เปลี่ยนไปจากการช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัว กลายมาเป็นพอเพียงแก่ตัวเองมากขึ้น ทุกวันนี้ กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำครอบคลุมลูกจ้างในสาขาการจ้างงานที่จ่ายค่าแรงต่ำส่วนใหญ่[3]

ค่าจ้างขั้นต่ำได้รับความสนใจจากสังคมอย่างแข็งขัน โดยมีรากเหง้ามาจากความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของตลาดที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของรายได้สำหรับสมาชิกแรงงานที่มีความสามารถน้อยที่สุด สำหรับบางคน ทางออกที่ชัดเจนของความกังวลนี้คือ การจำกัดความโครงสร้างค่าแรงใหม่ทางการเมือง เพื่อบรรลุการกระจายรายได้ทางสังคมที่ดีกว่า ดังนั้น กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำจึงถูกตัดสินขัดแย้งกับเกณฑ์การลดความยากจน[4]

แม้ว่าเป้าหมายของค่าจ้างขั้นต่ำจะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสม ก็มีความไม่เห็นด้วยอย่างมากว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีประสิทธิภาพพอจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่ นับตั้งแต่มีการนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นที่โต้เถียงกันอย่างสูงในทางการเมือง และได้รับเสียงสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์น้อยกว่าจากสาธารณชนทั่วไปมาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์และการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์หลายทศวรรษ การโต้เถียงกันเกี่ยวกับมูลค่าและประโยชน์ของค่าจ้างขั้นต่ำยังมีมาจนถึงปัจจุบัน[3]

การอธิบายถึงข้อบกพร่องของค่าจ้างขั้นต่ำในการลดความยากจนแบบคลาสสิก อธิบายโดยจอร์จ สทิกเลอร์ ใน ค.ศ. 1946 มีดังนี้[4]

  • สัดส่วนการจ้างงานอาจลดต่ำกว่าสัดส่วนที่ค่าแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงลดรายได้จากการทำงานโดยรวม
  • เมื่อภาคเศรษฐกิจที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำรับคนงานที่ถูกปลดจากภาคที่อยู่ใต้กฎหมายนั้นแล้ว สัดส่วนการลดค่าแรงในภาคที่ไม่อยู่ใต้กฎหมายอาจเกินกว่าค่าแรงในภาคที่อยู่ภายใต้กฎหมาย
  • ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อการกระจายรายได้ครอบครัวอาจเป็นผลลบ นอกเสียจากมีการจัดสรรงานที่น้อยกว่าแต่ดีกว่าให้แก่สมาชิกของครอบครัวที่ขัดสน แทนที่จะให้แก่ ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นจากครอบครัวที่ไม่ได้ยากจน
  • การห้ามนายจ้างจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดเท่ากับห้ามมิให้แรงงานขายแรงงานของตนน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ว่า นายจ้างไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนต่ำกว่าค่าแรงตามกฎหมายเท่ากับเป็นการจำกัดทางกฎหมายว่า แรงงานไม่สามารถทำงานได้เลยในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับความคุ้มครอง เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะพบนายจ้างที่เต็มใจจะจ่ายตามค่าแรงนั้น

การศึกษาเชิงประจักษ์โดยตรงบ่งชี้ว่า ผลกระทบการขจัดความยากจนในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย แม้ว่าจะไม่มีผลกระทบด้านการว่างงานก็ตาม แรงงานค่าแรงต่ำจำนวนน้อยมากมาจากครอบครัวยากจน แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นและหญิงผู้ใหญ่ที่มีฝีมือต่ำและทำงานนอกเวลา และอัตราค่าแรงที่มีผลต่อรายได้ของพวกเขาใด ๆ เป็นสัดส่วนลดลงเทียบกับเวลาที่พวกเขาถูกเสนอให้ทำงาน ดังนั้น หากผลลัพธ์ด้านตลาดสำหรับครอบครัวฝีมือต่ำถูกผนวกในวิธีที่สังคมพอใจปัจจัยอื่นนอกเหนือจากอัตราค่าแรงจะต้องถูกพิจารณาด้วย ได้แก่ โอกาสการจ้างงานและปัจจัยจำกัดการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน[4] นักเศรษฐศาสตร์ โทมัส โซเวลล์ ได้แย้งว่า โดยไม่คำนึงถึงประเพณีหรือกฎหมาย ค่าจ้างขั้นต่ำแท้จริงจะต้องเป็นศูนย์เสมอ และศูนย์เป็นค่าแรงที่บางคนจะได้รับหากพวกเขาไม่สามารถหางานทำได้เมื่อพวกเขาพยายามเข้าสู่ตลาดแรงงาน หรือเมื่อพวกเขาสูญเสียงานที่พวกเขากำลังทำอยู่[5]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ค่าจ้างขั้นต่ำ ftp://repec.iza.org/RePEc/Discussionpaper/dp4433.p... http://www.chinadaily.com.cn/hkedition/2008-10/16/... http://www.amazon.com/dp/0198607679 http://www.amazon.com/dp/0465002609 http://www.economist.com/world/na/displaystory.cfm... http://books.google.com/books?id=ax6dsqMdPHQC&dq=%... http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://www.nationalreview.com/comment/tupy20040514... http://www.opinionjournal.com/weekend/hottopic/?id...