ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ จริยธรรมทางธุรกิจ

สำหรับสังคมไทย จริยธรรมทางธุรกิจเป็นมาตรฐานในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การผลิตสินค้า การบริโภค การบริหาร และการจัดจำหน่ายให้ได้รับผลตอบแทนตามสมควรและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขาย ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้บริโภค เพราะถือว่าทุกตัวแสดงที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างกันจำเป็นต้องมีจริยธรรมในการปฏิบัติต่อกัน

ในทางปฏิบัติแล้ว เรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจได้รับความสนใจหลังจากการเคลื่อนไหวใหญ่ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และการส่งเสริมจริยธรรมและธรรมาภิบาลในระบบเศรษฐกิจหลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 เรื่องของความโปร่งใส การตรวจสอบได้ และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจในภาคเอกชน แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เรื่องของจริยธรรมทางธุรกิจถูกพูดถึงมากยิ่งขึ้นคือความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองโดยตรงของนักธุรกิจ หรือการให้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ และกดดันโดยอ้อมผ่านองค์กรต่างๆ จนทำให้เกิดข้อกังขาในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และการขัดกันเองในทางจริยธรรมทั้งทางธุรกิจและการเมือง เช่น การประมูลและล้มประมูล 4G การออกกฎหมายเอื้อต่อธุรกิจโทรคมนาคมและดาวเทียม และการปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐบาลพม่า หรือการที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และบริษัทข้ามชาติจำนวนมากเปิดกิจการโมเดิร์นเทรดทุกมุมเมือง แข่งกับร้านขายของชำตามมุมถนนแบบดั้งเดิม ที่เรียกกันตามภาษาจีนว่าร้านโชห่วย ซึ่งทำให้ทุนขนาดเล็กหลายเจ้าต้องปิดกิจการไป เข้าลักษณะปลาใหญ่กินปลาเล็ก ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งที่กำกับโดยรัฐ และโดยกลุ่มทุนเอง

ในทางปฏิบัติพบปัญหาว่า สังคมไทยแทนที่จะกล่าวถึงจริยธรรมทางธุรกิจเพื่อยกระดับความรับผิดชอบของกลุ่มทุนต่อลูกจ้าง ต่อลูกค้า ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม กลับมีการใช้คำว่าจริยธรรมทางธุรกิจเพื่อเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผลคือทำให้จริยธรรมถูกลดค่าเป็นเพียงอาวุธที่ไม่ได้มีเนื้อหา (substantive) ปัญหานี้จึงต้องกลับมาพิจารณาจริยธรรมในฐานะหลักการว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด จริยธรรมทางธุรกิจจึงเป็นเรื่องของกระบวนการ (process) ไม่ใช่แค่เรื่องของผลลัพธ์ (consequential) หรือเครื่องมือ (instrument)[5]