อรรถาธิบาย ของ จริยธรรมทางธุรกิจ

จริยธรรม (ethics) หมายถึง หลักการหรือความสำคัญในการตัดสินใจว่าสิ่งใดถูกหรือผิดบนฐานของคุณธรรมบางประการ (morality) อันเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนในสังคม หรือกล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ทางสังคมจะกำหนดรูปแบบของคุณธรรมที่เป็นมาตรฐานคอยชี้วัดว่าสิ่งใดถูกหรือผิด เมื่อคำว่าจริยธรรมมาอยู่กับคำว่า “ธุรกิจ” ทำให้การประกอบธุรกิจในการแสวงหากำไรต้องคำนึงถึงคุณธรรมบางอย่างที่บอกว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด จริยธรรมทางธุรกิจจึงเป็นอีกมาตรฐานหนึ่งที่ภาคเอกชนต้องคำนึงถึง โดยนายเดวิด แพคการ์ด (David Packard) ผู้ก่อตั้ง ฮิวเวตต์ แพคการ์ด (Hewlett-Packard) บริษัทคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่า

“…ใช่ การแสวงหากำไรเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่เราต้องทำ กำไรเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จและการเจริญเติบโตขององค์กร แต่มันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในความเป็นจริงแล้วการเป็นผู้ชนะทางธุรกิจจะถูกตัดสินใจจากสายตาของลูกค้าและสิ่งที่ทำให้คุณภูมิใจ มันเป็นตรรกะที่สมเหตุสมผล ถ้าเราสามารถจัดหาสิ่งที่ลูกค้าพอใจมาได้ เราก็จะสามารถได้กำไร...” (U.S. Department of Commerce, 2004: 4)[2]

นอกจากนี้ นักเขียนทางเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมชื่อดังอย่างมิลตัน ฟรายด์แมน (Milton Friedman) ได้กล่าวไว้ว่า

“…บริษัทต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างโดยตรง และความรับผิดชอบ (ของผู้บริหาร) โดยทั่วไปแล้วจะเป็นการทำเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องทำให้สอดคล้องกับกติกาทางสังคมด้วย ทั้งในด้านของกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติเชิงจริยธรรม …” (Friedman, 1970)[3]

ในโลกตะวันตก จริยธรรมทางธุรกิจถูกให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นพร้อมกับแนวคิดเรื่องความรับผิดชอบทางสังคมของบรรษัท (corporate social responsibility) ตัวอย่างเช่น มีการจัดทำนิตยสารออนไลน์ Business Ethics[4] เพื่อติดตามการทำงานของภาคธุรกิจในเรื่องของจริยธรรม ธรรมาภิบาล ความรับผิดชอบของบริษัท และความรับผิดชอบต่อสังคมอันเนื่องมาจากการลงทุน โดยนิตยสารดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมจริยธรรมในการปฏิบัติงานทางธุรกิจ และสนับสนุนการเติบโตของชุมชนผู้ปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพและการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ

จริยธรรมทางธุรกิจ เป็นแนวคิดที่สำคัญมากในสังคมปัจจุบันในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับองค์กรธุรกิจ เพื่อให้ต้องหาสมดุลระหว่างผลกำไรและความรับผิดชอบต่อสังคม จริยธรรมทางธุรกิจเป็นมาตรการคอยกำกับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่จะบอกว่าสิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด ความเหมาะสม ของการแสวงหาผลประโยชน์อยู่ที่ใด นอกจากนี้ จริยธรรมทางธุรกิจทำให้การแสวงหากำไรจากการประกอบกิจการสามารถเป็นสิ่งที่ยอมรับได้จากสังคมและกลุ่มทางสังคมอื่นๆ เพราะประเมินแล้วว่าเป็นการแสวงหากำไรที่สมเหตุสมผล ไม่เกินพอดี หรือสร้างปัญหาให้แก่สภาพแวดล้อมและชุมชนในระยะยาว