พระราชประวัติ ของ จักรพรรดิโชวะ

เจ้าชายฮิโระฮิโตะ ครั้นทรงพระเยาว์ พ.ศ. 2445

สมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะเสด็จพระราชสมภพ ณ พระราชวังอะโอะยะมะ ในกรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 29 เมษายน ปีเมจิที่ 34 (ค.ศ.1901,พ.ศ. 2444) เป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในเจ้าชายโยะชิฮิโตะ มกุฎราชกุมาร (ภายหลังคือจักรพรรดิไทโช) และเจ้าหญิงซะดะโกะ มกุฎราชกุมารี (ภายหลังคือจักรพรรดินีเทเม)[1] โดยทรงราชทินนามขณะทรงพระเยาว์ ว่า เจ้าชายมิชิ (迪宮) ในปี พ.ศ. 2451 ทรงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนประถมชูอิง

ภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชเจ้า สมเด็จพระจักรพรรดิมุตสึฮิโตะ (เมจิ) เมื่อ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2455 พระราชบิดาของพระองค์ เจ้าชายโยะชิฮิโตะ ก็ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็น "สมเด็จพระจักรพรรดิโยะชิฮิโตะ" (ไทโช) ทำให้พระองค์กลายเป็นองค์รัชทายาทตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ญี่ปุ่น[2] ในขณะเดียวกัน ก็ทรงเข้ารับราชการในกองทัพบกและกองทัพเรือในยศเรือตรี ในตำแหน่งนายธง และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ ชั้นสายสะพาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2457 ทรงได้รับการเลื่อนยศให้เป็นร้อยโทแห่งกองทัพบก และเรือตรีแห่งกองทัพเรือ สองปีต่อมา ก็ถูกเลื่อนยศขึ้นเป็น พันโท และ นาวาเอก ในปีเดียวกันนี้เอง พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น "มกุฎราชกุมาร" ตำแหน่งองค์รัชทายาทอย่างเป็นทางการ เมื่อ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457

มกุฎราชกุมาร

ในปี พ.ศ. 2463 พระองค์ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นพลโทแห่งกองทัพบก และ พลเรือโทแห่งกองทัพเรือ ต่อมา พ.ศ. 2464 เจ้าชายฮิโระฮิโตะได้ใช้เวลาหกเดือน ในการเสด็จประพาสยุโรป ซึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน สหราชอาณาจักร, สาธารณรัฐฝรั่งเศส, ราชอาณาจักรอิตาลี, ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และ เบลเยียม นับเป็นมกุฎราชกุมารญี่ปุ่นพระองค์แรกที่เสด็จเยือนต่างประเทศ ซึ่งภายหลังการกลับจากยุโรป ทรงดำรงตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการพระองค์ จากการที่ที่พระราชบิดาทรงพระประชวรทางพระจิต

ระหว่างที่ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทรงมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย อาทิ ใน พ.ศ. 2464 การลงนามในสนธิสัญญาสี่อำนาจ (อังกฤษ: Four-Power Treaty) โดยจักรวรรดิญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ตกลงที่จะรับรู้สภาพที่เป็นอยู่ในภาคพื้นแปซิฟิก ญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักรตกลงที่จะยุติพันธมิตรอังกฤษ-ญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ หรือใน พ.ศ. 2466 ก็เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในภูมิภาคคันโต เป็นต้น

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิคังซี จักรพันธ์ แก้วพรม จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีโคไลที่ 2 แห่งรัสเซีย จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย