ประวัติ ของ จักรพันธุ์_ยมจินดา

จักรพันธุ์เกิดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ที่ เป็นบุตรของนายวิทยา และนางบุญเลี้ยง ยมจินดา จักรพันธุ์ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เมื่อปี พ.ศ. 2543[1] ชีวิตครอบครัว เขาสมรสกับนางอิสรา มีธิดาด้วยกัน 1 คน

จักรพันธุ์เริ่มชีวิตการทำงานที่ฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 จากการเป็นผู้สื่อข่าวและผู้บรรยายการแข่งขันกีฬา ร่วมกับ พิษณุ นิลกลัด และ เอกชัย นพจินดา (อนึ่ง จักรพันธุ์เป็นเจ้าของเสียงบรรยายในไตเติลเปิดรายการ 7 สีคอนเสิร์ต ยุคแรกด้วย) จนกระทั่งก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง บรรณาธิการฝ่ายข่าว[2] และเป็นที่รู้จักของผู้ชมข่าวโทรทัศน์ จากการเป็นผู้ประกาศข่าวเด็ดเจ็ดสีช่วงค่ำ คู่กับ ศันสนีย์ นาคพงศ์ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล ภายใต้การนำของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยมอบหมายให้จักรพันธุ์ เป็นผู้อ่านประกาศคำสั่งของ รสช.ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปแสดงความไม่พอใจ กับการกระทำของเขาในครั้งนั้น[2]

จักรพันธุ์จึงลาออกจากช่อง 7 แล้วลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จังหวัดระยอง ในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535[1] โดยเขาได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.ด้วยคะแนนกว่า 100,000 เสียง ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของจังหวัด ต่อมา พรรคส่งจักรพันธุ์ ลงสมัครเป็น ส.ส.ในเขตเลือกตั้งที่ 10 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตบางกอกน้อย, เขตบางพลัด และเขตตลิ่งชัน โดยเขาได้รับการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 64,428 เสียง และได้รับการแต่งตั้ง เป็นโฆษกกระทรวงมหาดไทย ในยุคที่ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2537 จนถึงกลางปี พ.ศ. 2538 จักรพันธุ์เป็นผู้ประกาศข่าวอีกครั้ง ในช่วงสถานการณ์ประจำวัน ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

หลังจากนั้น เขาจึงลาออกมาลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคไทยรักไทย เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544[1] และได้รับการวางตัวจากพรรคไทยรักไทย ให้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 30 เพื่อแข่งขันกับองอาจ คล้ามไพบูลย์ ของประชาธิปัตย์ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 แต่ถูกศาลจังหวัดระยอง วินิจฉัยให้เพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เนื่องจากจักรพันธุ์ขึ้นเวทีปราศรัยหมิ่นประมาท พันตำรวจเอกพณาเจือเพ็ชร์ กฤษณะราช ว่าเป็นผู้ค้าอาวุธเถื่อน ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2544 เสียก่อน[3] ต่อมาจึงได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ. 2548[4]

ต่อมา จักรพันธุ์ก่อตั้ง บริษัท แมกซิมา สตูดิโอ จำกัด ร่วมกับญาติพี่น้องและมิตรสหายหลายคน โดยดำรงตำแหน่งประธานบริหาร[5] เพื่อผลิตรายการข่าว สถานีสนามเป้า (ต่อมาเปลี่ยนชื่อและเวลาเป็น สนามเป้า..เล่าข่าว และ สนามเป้า..ข่าวเที่ยง ตามลำดับ) ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ซึ่งจักรพันธุ์เป็นพิธีกรข่าวด้วยตนเอง โดยมีผลงานที่สำคัญคือ การสัมภาษณ์เดี่ยว (Exclusive) พันตำรวจโท ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ และถูกรัฐประหารโดย คปค. เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นอกจากนี้ ยังผลิตรายการโทรทัศน์ ประเภทวาไรตี้บันเทิงอื่นๆ อีกหลายรายการ รวมทั้งร่วมบริหารวิทยุเอฟเอ็ม 94.5 เมกะเฮิร์ตซ์ ลูกทุ่งเอฟเอ็ม และเป็นดีเจจัดรายการในทุกวันเสาร์ เวลา 08.00-10.00 น.อีกด้วย[6]

ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จักรพันธุ์เข้าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ดำเนินรายการข่าว รายการ แว่นขยาย BY จักรพันธุ์ และ ในช่วงวิกฤตมหาอุทกภัย ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ปีเดียวกัน จักรพันธุ์ลาออกจากตำแหน่งประธานบริหาร บจก.แมกซิมา สตูดิโอ เพื่อเป็นกรรมการฝ่ายสื่อสารมวลชนและพัฒนาองค์กร ของบริษัท อ.ส.ม.ท. จำกัด (มหาชน) และจากนั้นในราวต้นปี พ.ศ. 2555 ก็เลื่อนชั้นขึ้นเป็น รองประธานกรรมการคนที่สอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานโทรทัศน์ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อ.ส.ม.ท.

ทว่าในวันที่ 9 พฤษภาคม ปีเดียวกัน จักรพันธุ์ก็ยื่นหนังสือขอลาออกจากทั้งสองตำแหน่งหลังสุดนี้ กับสรจักร เกษมสุวรรณ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.อสมท โดยยังคงเป็นกรรมการอสมทอยู่ตามเดิม ทั้งนี้เขาให้เหตุผลว่า ตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองตำแหน่งนี้ ก็ทำงานอย่างหนักมาโดยตลอด แทบไม่มีเวลาพักผ่อนและออกกำลังกายใดๆ เกรงว่าจะมีปัญหาในเรื่องสุขภาพไปเสียก่อน จึงขอลาออกเพื่อให้มีเวลาเป็นส่วนตัวมากขึ้น ส่วนที่มีข่าวว่าตนกับผู้บริหารพรรคเพื่อไทย และพนักงานของอสมท ขัดแย้งกันเรื่องการจัดผังรายการ ประจำเดือนมิถุนายนที่กำลังจะมาถึง จักรพันธุ์ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากมีคณะกรรมการหลายฝ่ายร่วมพิจารณา[7]

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จักรพันธุ์_ยมจินดา http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=54... http://www.khonthai.com/Election/Result/SS/0001200... http://lukthungfm945.com http://lukthungfm945.com/dj_pantea.html http://www.naewna.com/news.asp?ID=31387 http://news.thaihealth.net/modules.php?name=News&f... http://prmju.mju.ac.th/P_Fact_all_Show.aspx?Pcode=... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0002705...