ลัทธิจักรวรรดินิยมในจีน ของ จักรวรรดินิยมในเอเชีย

การแทรกซึมของลัทธิจักรวรรดินิยมในจีน

ชาวแมนดารินที่ใส่ชุดแมนจู ตกใจเมื่อเห็น พระราชินีวิกตอเรีย (สหราชอาณาจักร), วิลเฮล์มที่ 2 (เยอรมนี), นิโคลัสที่ 2 (รัสเซีย), มารีอานน์ (ฝรั่งเศส), และซามูไร (ญี่ปุ่น) กำลังหั่นพายที่มีคำว่า Chine (เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า จีน) อยู่บนนั้น

ในช่วงศตวรรษที่ 18 นั้น อังกฤษมีการค้าขายที่คึกคักกับจีน โดยมีการส่งออกแร่เงินจากเม็กซิโกไปยังจีนและนำเข้าชาจากจีนไปยังเมืองแม่ แต่เมื่ออังกฤษสูญเสียอาณานิคมอเมริกาซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกับเม็กซิโกไป อังกฤษก็สูญเสียแหล่งป้อนแร่เงินสำคัญของตนไปด้วย จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องหาสินค้าทางเลือกอื่นเพื่อการส่งออก ฝิ่นของชนอินเดียนเป็นสินค้าที่สามารถทำกำไรได้งามถ้านำมาส่งออกไปยังจีนแทน ถ้าไม่คำนึงถึงศีลธรรม สินค้าตัวใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีให้แก่อังกฤษได้ แต่ก็ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทางด้านสังคมในจีน ส่งผลให้เกิดสงครามฝิ่น (Opium Wars) ระหว่างอังกฤษกับจีนขึ้นเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1830

จีนภายใต้ลัทธิจักรวรรดินิยมอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้นได้รับการเลี้ยงดูด้วยความคิดที่ผิด ๆ ด้วยเช่นกันว่า เป็นแหล่งตลาดโดยธรรมชาติสำหรับสินค้าอุตสาหกรรมจากอังกฤษ (สำคัญที่สุดคือสิ่งทอ) และที่ว่าชาวจีนไม่ยอมคบค้าเกี่ยวข้องกับสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างชาตินั้นก็เป็นเพียงเพราะการควบคุมด้านการค้าอย่างเข้มข้นของรัฐบาลจีน แต่ปัจจุบันนี้ นักประวัติศาสตร์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การควบคุมทางการค้าของจีนในยุคสมัยนั้นไม่ได้เข้มงวดมากมายอะไรนัก และสินค้าสิ่งทอจากอังกฤษนั้นไม่สามารถที่จะแข่งขันกับจีนได้ เนื่องจากสินค้าสิ่งทอของจีนนั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากแรงงานส่วนเกินของคนในครอบครัว ดังนั้นจึงไม่ต้องอาศัยการยังชีพด้วยอัตราค่าจ้างดังเช่นที่คนงานผู้ผลิตสิ่งทอเป็นอยู่ในโรงงานของอังกฤษ

ความทะเยอทะยานของเหล่าบรรดานักล่าอาณานิคมและคู่แข่งในตะวันออกไกล ทำให้จีนซึ่งมีอาณาจักรกว้างใหญ่ไพศาล และจำนวนประชากรมากกว่า 1 ใน 4 ของโลก ตกเป็นเป้าของการไล่ล่าเพื่อเข้ายึดครองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่สิ่งที่ทำให้จีนยังคงสามารถอยู่รอดเป็นประเทศเอกราชอยู่ได้ในภาพรวมนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะความยืดหยุ่นของโครงสร้างทางสังคมและการบริหารปกครองของจีนเอง อย่างไรก็ตาม การคงความเป็นเอกราช รอดปากเหยี่ยวปากกาลัทธิจักรวรรดินิยมของแผ่นดินใหญ่จีนไว้ได้โดยรวมนั้น ยังสามารถมองได้ด้วยว่าเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงขีดจำกัดที่แท้จริงของลัทธิจักรวรรดินิยมยุโรป เมื่อต้องเผชิญหน้ากับการอ้างสิทธิในการแข่งขันที่คล้ายคลึงกันได้อีกด้วย

ตามหลักการแล้ว เบื้องลึกของการไล่ล่าหาอาณานิคมของชาติตะวันตก ก็คือเพื่อให้มีดินแดนสำหรับใช้เป็นที่ตั้งกองกำลัง ซึ่งจะกลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญทางยุทธศาสตร์ขึ้นในดินแดนที่อยู่ห่างไกล เพื่อกองกำลังเหล่านั้น จะได้ทำหน้าที่ปกป้องพื้นที่ "การลงทุน" ขนาดใหญ่ของเหล่าประเทศเจ้าอาณานิคมทั้งหลาย ดังเช่นใน อินเดีย ลาตินอเมริกา และจีน. แต่อังกฤษนั้น ในบางสำนึก ยังคงยึดมั่นกับแนวคิดตามลัทธิเสรีพาณิชย์ของนักเศรษฐศาสตร์ คอบ เด็น ที่ว่า ลัทธิอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการนั้น มีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้ก็ได้เป็นที่ยอมรับตามกันอย่างเป็นเอกฉันท์ในกลุ่มนักทุนนิยมอุตสาหกรรมทั้งหลายในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาระหว่างการล่มสลายของนโปเลียนและสงครามฟรังโก-ปรัสเซียน. สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความชอบสำหรับลัทธิอาณานิคมเหนือกว่าจักรวรรดิอย่างไม่เป็นทางการ แต่ท่าทีต่อการปกครองอาณานิคมอย่างเป็นทางการในส่วนใหญ่ของพื้นที่ในแถบร้อนนั้น ครั้งหนึ่งเคยถูกพิจารณาว่า "ล้าหลัง" มากเกินไปสำหรับการค้า พื้นที่ซึ่งมีความเป็นเอกราชนั้น ให้การต้อนรับขับสู้จักรวรรดิอย่างไม่เป็นทางการอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปกครองในฐานะอาณานิคมอย่างเป็นทางการ ในช่วงของการปรับเปลี่ยนโยกย้ายเข้าสู่ยุคจักรวรรดินิยมใหม่

ตัวอย่างเช่น จีนไม่ใช่ประเทศล้าหลังที่ไม่สามารถสร้างเสถียรภาพและความมั่นคง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอันดับแรก ๆ ของการค้าพาณิชย์ตามสไตล์ตะวันตกได้ แต่จักรวรรดิจีนที่มีความเจริญก้าวหน้าสูงมากนี้ ไม่ยินยอมรับรูปแบบของการค้าพาณิชย์ของตะวันตก (ซึ่งบ่อยครั้งเป็นการผลักดันสำหรับการค้ายาเสพย์ติด) สิ่งนี้น่าจะเป็นคำอธิบายได้ว่า ทำไมชาติตะวันตกจึงพอใจกับสภาพของ "เขตอิทธิพล" (spheres of Influences) ซึ่งเป็นรูปแบบของอาณานิคมอย่างไม่เป็นทางการกับจีน. หลังสงครามฝิ่นครั้งแรกยุติลง การค้าพาณิชย์ของอังกฤษ และต่อมาคือเงินลงทุนของชาติที่มีอำนาจทางอุตสาหกรรมใหม่อื่น ๆ ก็พลอยได้รับระดับการควบคุมอย่างเป็นทางการเพียงเล็กน้อย ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ในดินแดนของจีนด้วย. ขณะที่ชาติจักรวรรดินิยมใหม่เหล่านั้น จะมีอำนาจในการบังคับควบคุมเหนือบรรดาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาตะวันตก และเขตแปซิฟิก มากกว่ามาก. อย่างไรก็ตาม มหาอำนาจตะวันตกก็ได้ใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซง เพื่อปราบปรามการจลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรจีนด้วย เช่น กรณีการก่อการจลาจลที่น่าสะพรึงกลัวของกลุ่มกบฏไทปิง (Taiping Rebellion) และการกบฏต่อต้านอำนาจจักรพรรดิจีนของกบฏนักมวย (Boxer Rebellion). ในกรณีของการปราบปรามกบฏไทปิงนั้น นายพล กอร์ดอน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นตำนานวีรบุรุษของนักจักรวรรดินิยมในซูดานนั้น ก็ได้รับการยกย่องบ่อยครั้งว่าเป็นผู้ที่ช่วยปกป้องให้ราชวงศ์ชิง (Qing Dynasty) ให้อยู่รอดปลอดภัยจากการคุกคามของกลุ่มกบฏไทปิงมาได้

อย่างไรก็ตาม อาจมีการโต้แย้งว่า ขนาดและกำลังความแข็งแกร่งของจีนเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนอัฟริกาในยุคก่อนอาณานิคมนั้น ทำให้การบังคับไล่ล่าเอาจีนมาเป็นเมืองขึ้นอย่างเป็นทางการโดยชาติมหาอำนาจตะวันตกเพียงชาติใดชาติหนึ่งเพียงชาติเดียวนั้นทำได้ยากยิ่ง แต่ถ้าชาติจักรวรรดินิยมเหล่านั้นผนึกกำลัง เป็นพันธมิตรและร่วมมือกันรุกรานจีน การเข้ายึดครองจีนมาเป็นอาณานิคมก็น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ความเป็นศัตรูคู่ปฏิปักษ์ระหว่างกันของบรรดามหาอำนาจตะวันตกแต่ละชาติในช่วงเวลานั้น ทำให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปไม่ได้ จนกระทั่งในทศวรรษ 1900 การผนึกร่วมเป็นพันธมิตรของบรรดาชาติตะวันตกจึงปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่วัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าวก็จำกัดอยู่เพียงแค่การร่วมกันปราบปรามกลุ่มกบฏนักมวยที่ก่อกบฏต่อต้านจักรพรรดิจีนเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะอังกฤษและสหรัฐอเมริกามีความเห็นขัดแย้งกันในประเด็นของเป้าหมาย ("การเปิดประตู" หมายความว่ามหาอำนาจทุกประเทศจะได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดเหมือน ๆ กันหมด) ส่วนเยอรมันและรัสเซียก็มีประเด็นไม่ลงรอยกันในเรื่องของเขตแดน

อังกฤษพบว่าเป็นการยากที่จะขายสินค้าของตนในจีน และประสบกับสถานการณ์ (ในลักษณะที่เหมือนกันกับชาติยุโรปอื่น ๆ) คือต้องเสียดุลการค้าให้แก่จีน มาจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 19 การเริ่มต้นการค้าฝิ่นขนานใหญ่จากอาณานิคมอินเดียของอังกฤษไปยังจีน ทำให้สถานการณ์ดุลการค้าดังกล่าวแปรเปลี่ยนไป พร้อมกับทำให้จำนวนผู้เสพติดฝิ่นเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวางในกลุ่มประชากรจีนระดับสูง และเป็นภัยคุกคามประเทศด้วยก่อให้เกิดความเสียหาย บ่อนทำลายประชากรจีนทั้งทางด้านสุขภาพ ศีลธรรมจรรยา และทางด้านจิตวิทยา อย่างรุนแรงจนไม่อาจจะวัดคำนวณออกมาเป็นสถิติตัวเลขได้

ความพยายามของเจ้าหน้าที่จีนในกวางโจว (Guangzhou/Canton) ในการหยุดยั้งการค้าฝิ่น นำไปสู่สงครามฝิ่นครั้งแรก (The First Opium War) ขึ้น ในระหว่างปี ค.ศ. 1839-1842 ซึ่งอังกฤษสามารถรบชนะจีนได้อย่างง่ายดาย และได้รับอำนาจในการปกครองฮ่องกง. สนธิสัญญานานกิง (The Treaty of Nanjing) ยอมรับหลักการของการมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (the principle of extraterritory) ซึ่งคนสัญชาติอังกฤษที่กระทำผิดบนแผ่นดินจีนไม่ต้องขึ้นศาลจีน แต่จะถูกพิพากษาตัดสินโดยชาวอังกฤษด้วยกันเองแทน

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (The Second Opium War ระหว่างปี ค.ศ 1856-1860) ฝรั่งเศสเข้าร่วมกับอังกฤษ หลังจากมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตและจีนจับตัวกะลาสีชาวอังกฤษไป สงครามครั้งนี้ขยายเขตอิทธิพลของอังกฤษจากในฮ่องกงออกไปสู่พื้นที่ต่อเนื่องในแผ่นดินใหญ่คือเกาลูน สนธิสัญญาเทียนสิน (The Treaty of Tianjin) ที่จีนต้องลงนามเพื่อยุติสงคราม ยิ่งทำให้อำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกแผ่ขยายปกคลุมเหนือดินแดนจีนเพิ่มมากยิ่งขึ้นไปอีก

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1894-1895 จีนแพ้สงครามเกาหลีที่ทำกับญี่ปุ่น ต้องจ่ายค่าปฏิกรสงครามเป็นมูลค่าสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์ ต้องยอมยกเกาะไต้หวันหรือฟอร์โมซาและหมู่เกาะใกล้เคียงให้แก่ญี่ปุ่น สำหรับเกาหลีนั้นแม้จะเป็นประเทศที่ยอมรับกันว่าไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร แต่ก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นอยู่ระยะหนึ่ง ฝรั่งเศส เยอรมัน และรัสเซีย ได้ร่วมมือกันเข้าแทรกแซงและป้องกันไม่ให้ญี่ปุ่นรุกเข้าผนวกดินแดนอื่น ๆ ต่อไปได้ ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ ได้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งความทรงจำที่ขมขื่นในญี่ปุ่น เมื่อชาติมหาอำนาจกลุ่มเดียวกันนี้ ได้ช่วยกันเองเข้ายึดครองฐานทัพเรือ และขยายเขตอิทธิพลของกันและกัน เหนือดินแดนจีนในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1897-1898

เขตอิทธิพล
  • เยอรมัน : อ่าวเจียวโจว (Jiaozhou) (หรือ เกียวเจา - Kiaochow), ชานตง (Shandong) และหุบเขาฮวงเหอ/ฮวงโห (Huang He/Hwang-Ho Valley)
  • รัสเซีย : คาบสมุทรเหลียวตง (Liaodong), สิทธิเหนือทางรถไฟในแมนจูเรีย
  • อังกฤษ : เว่ยไห่เว่ย (Weihaiwei), หุบเขาแยงซี (Yangtze Valley)
  • ฝรั่งเศส : อ่าวกวางโจว (Guangzhou), และสามจังหวัดทางใต้

จอห์น เฮย์ (John Hay) รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นได้ออกมาเรียกร้องในเดือนกันยายน ค.ศ. 1899 ให้ชาติมหาอำนาจต่างๆ ยอมรับในหลักการ"เปิดประตู" (the principle of the "Open Door") อันหมายถึงเสรีภาพของการเข้าถึงการค้า (freedom of commercial access) ของทุกชาติและไม่ผนวกดินแดนจีนเข้าเป็นของตนเอง (non-annexation of Chinese territory) อังกฤษและญี่ปุ่นสนับสนุนหลักการของสหรัฐ ซึ่งท่าทีของสหรัฐดังกล่าวช่วยให้สามารถควบคุมการจัดสรรปันส่วน แบ่งแยกดินแดนจีนมิให้ขยายตัวต่อไปได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ก็เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อผลประโยชน์ของมหาอำนาจยุโรปที่ต้องการให้มีรัฐบาลจีนที่อ่อนแอ แต่ยังคงมีความเป็นเอกราชไว้อยู่ เนื่องจาก ถ้ารัฐบาลจีนเกิดล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงนั้น ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายก็จะเกิดความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆที่ได้มาแล้วจากการเจรจากับรัฐบาลจีนขณะนั้น ขณะเดียวกันชาติตะวันตกเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลจีนที่เข้มแข็ง เนื่องจากจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตน เพราะรัฐจีนที่แข็งแกร่งนั้นอาจสามารถฉีกสนธิสัญญาที่ทำไว้แล้วกับชาติตะวันตกเหล่านั้นทิ้งได้

การผุกร่อนของอำนาจอธิปไตยของจีนส่งผลให้กระแสการจลาจลต่อต้านชาวต่างชาติระเบิดขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งในเดือนมิถุนายน ปี 1900 เมื่อกลุ่มนักมวย (Boxers – หรือที่ถูกต้องก็คือสมาคม "กำปั้นแห่งความยุติธรรมและความปรองดองสามัคคี - the righteous and harmonious fists") บุกเข้าโจมตีสถานทูตของชาติยุโรปต่างๆที่ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ส่งผลให้ชาติตะวันตกเหล่านั้น จับมือผนึกกำลังรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พร้อมสั่งให้กองทัพของตนซึ่งประจำการอยู่ที่เมืองเทียนสิน กรีธาเดินหน้าเข้าสู่เมืองหลวงปักกิ่ง กองทหารเยอรมันปฏิบัติการแก้แค้นอย่างรุนแรงให้แก่ทูตของตนที่ถูกกลุ่มกบฏสังหาร ในขณะที่รัสเซียยึดครองแมนจูเรียในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้อย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งถูกญี่ปุ่นบดขยี้พ่ายแพ้ไปในสงครามระหว่างปี ค.ศ. 1904-1905

แม้ว่ากฎหมายสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จะถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1943 แต่การปกครองของต่างชาติเหนือดินแดนจีนก็เพิ่งจะสิ้นสุดลงเมื่อไม่นานนี้เอง เมื่ออังกฤษและโปรตุเกส ส่งมอบฮ่องกงและมาเก๊ากลับคืนสู่อ้อมอกของจีนในปี 1997 และ 1999 ตามลำดับ

การขยายพรมแดนของจีน

จีนในฐานะมหาอำนาจจักรวรรดินิยม (China as an imperialist power) แม้ว่าในการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเรื่องลัทธิจักรวรรดินิยมนั้น จีนจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่ตกเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมตะวันตก แต่ถ้าติดตามเรื่องราวลึกลงไปกว่านั้นก็จะเห็นภาพที่ซับซ้อนเกี่ยวกับบทบาทของจีนในเรื่องนี้ลงไปอีกระดับหนึ่ง นั่นคือ ระหว่างที่จีนถูกโจมตีในช่วงทศวรรษที่ 19 โดยชาติยุโรปนั้น จีนเองก็ทำการขยายพรมแดนของตนออกไปทางทิศตะวันตกพร้อมๆกันไปด้วย โดยการผนวกแคว้นซินเจียง (Xinjiang) และทิเบตซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้วดินแดนทั้งสองนี้ยากที่จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน โดยแท้จริงแล้วคำว่า ซินเจียง นั้นในภาษาจีนมีความหมายว่า พรมแดนใหม่

ความสามารถในการขยายอิทธิพลของตนเข้าไปสู่ดินแดนเอเชียกลางเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ คือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมเกิดขึ้นภายใต้ราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) จากปี ค.ศ. 1616 เป็นต้นมา จีนตกอยู่ภายใต้การควบคุมของราชวงศ์แมนจูซึ่งเป็นผู้รวบรวมผนึกกำลังเหล่าทหารม้าของกองทัพจีนเข้าด้วยกันจนเป็นปึกแผ่น ซึ่งทำให้มีความเหมาะสมสำหรับการรุกขยายอำนาจและอิทธิพลออกไปยังดินแดนข้างเคียงมากกว่ากองกำลังทหารราบแบบดั่งเดิมของจีน ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีนั้น เป็นความก้าวหน้าในด้านอาวุธปืนใหญ่และกองทหารปืนใหญ่ซึ่งทำให้ความได้เปรียบของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตที่ราบในไซบีเรียและรัสเซียที่เหนือกว่ากองทัพเพราะมีกองม้าของตนเองนั้นหมดสิ้นไป

การแผ่อิทธิพลเข้าไปในเอเชียกลางของจีนได้รับแรงสนับสนุนจากผู้ปกครองท้องถิ่นส่วนใหญ่ที่ฝักใฝ่จีน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทิเบต) มากกว่าชาติมหาอำนาจตะวันตก เนื่องจากจีนใช้อำนาจในการควบคุมยึดครองอย่างหลวม ๆ ไม่รีดนาทาเร้นเข้มข้นหนักเท่ากับรัสเซียและอังกฤษ ส่วนใหญ่ของช่วงเวลาแห่งการขยายอิทธิพลดังกล่าว จีนจึงมีความทะเยนทะยานน้อยมากที่จะเข้ายึดครองเพื่อเป็นเจ้าจักรวรรดิหรือสถาปนาดินแดนเหล่านั้นให้เป็นพื้นที่อาณานิคมโดยตรงของตน แม้กระทั่งในยุคทองของจีน หรือในช่วงสมัยที่จีนมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด คือในสมัยราชวงศ์ถัง (the Tang Dynasty) และในสมัยที่จีนมีความสามารถในการสร้างกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สุดและใหญ่ที่สุดในยุคราชวงศ์หมิง (the Ming Dynasty) ที่เป็นเช่นนั้นอาจจะเป็นเพราะจีนมีความหยิ่งยะโสและเชื่อมั่นในตนเองสูงว่า จีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมก้าวหน้าที่สุดในโลก ดังนั้นจึงไม่จำเป็นที่จะต้องทำการค้าขายหรือติดต่อสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนภายนอกซึ่งทางจีนมองว่าเป็นพวก "ป่าเถื่อน (babarians)" นั่นเอง

ใกล้เคียง

จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิญี่ปุ่น จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิบริติช จักรวรรดิมองโกล จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จักรวรรดิโรมัน จักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิรัสเซีย