ประวัติศาสตร์ ของ จังหวัดชัยภูมิ

อนุสาวรีย์พระยาภักดีชุมพล (แล) ที่หน้าวงเวียนศูนย์ราชการจังหวัดชัยภูมิ

แต่เดิมเมืองชัยภูมิก่อนการสถาปนาอาณาจักรสุโขทัยสันนิษฐานว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานตั้งแต่สมัยทวารวดี โดยเมืองชัยภูมินั้นถือเป็นเส้นทางการเผยแพร่วัฒนธรรมทวารวดีจากภาคกลางเข้าสู่ภาคอีสาน ปรากฏหลักฐานจากใบเสมาบ้านกุดโง้งในอำเภอเมือง และใบเสมานครกาหลงที่อำเภอคอนสวรรค์ และมีกลุ่มประชาชนชาวญัฮกุร ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นชนเผ่าเดียวกับชาวมอญโบราณสมัยทวารวดีอาศัยอยู่ทางขอบสันเขาตะวันตกเฉียงใต้ของจังหวัด ในเวลาต่อมาเมื่ออิทธิพลทวารวดีเสื่อมลง อิทธิพลของขอมก็เข้ามาแทน ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับจังหวัดอื่น ๆ ของอีสานใต้ในเวลานั้น ดังปรากฏหลักฐาการสร้างปราสาทขอม เช่น ปรางค์กู่ในเขตอำเภอเมือง ปรางค์กู่บ้านแท่นในเขตอำเภอบ้านแท่น กู่แดงในอำเภอบ้านเขว้า เป็นต้น ส่วนในสมัยสุโขทัยนั้นสันนิษฐานว่าชัยภูมิน่าจะเป็นเมืองหนึ่งที่สุโขทัยครอบครองอีกด้วย

นครหลวงเวียงจันทน์ สถานที่ที่บรรพบุรุษชาวชัยภูมิอพยพมา

สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าบริเวณจังหวัดชัยภูมิมีประชากรลาวเข้ามาอาศัยอยู่ และมีการสร้างพระธาตุหนองสามหมื่น ซึ่งอยู่บริเวณตำบลบ้านแก้ง อำเภอภูเขียวปัจจุบัน โดยมีลักษณะแบบศิลปะล้านช้าง ล้านนา และอยุธยา โดยสร้างในสมัยพระไชยเชษฐาธิราชผู้ครองเมืองลาวในยุคนั้น ในเวลาต่อมาเมืองชัยภูมิปรากฏในทำเนียบแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่าเป็นเมืองขึ้นกับเมืองนครราชสีมา แต่ต่อมาผู้คนได้อพยพออกไปตั้งหลักแหล่งทำมาหากินที่อื่น ในสมัยธนบุรี พระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบก๊กเจ้าพิมาย ซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นหัวหน้าก๊ก ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพิมายและต่อมาได้ ยึดเมืองนครราชสีมาเป็นที่ตั้งมั่น เจ้าพิมายให้พระยาวรวงษาธิราชคุมทัพไปตั้งรับเพื่อตีสกัดทัพพระเจ้าตากสินที่ด่านขุนทดและถูกกองทัพ พระเจ้าตากสินตีจนแตกพ่ายในที่สุดในกรณีศึกครั้งนี้อาจารย์คำผู้นำหมู่บ้านสี่มุมได้นำชาวบ้านเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินและขออาสาเป็น กองกำลังร่วมสู้รบในกองทัพหลวงด้วย พระเจ้าตากสินทรงยินดีรับไว้และให้เป็นกองกำลังเข้าตีด่านจอหอจนแตกพ่ายสามารถยึดเมืองพิมายและเมือง นครราชสีมาคืนมาได้ในครั้งเข้าตีด่านจอหอ กองกำลังของบ้าน สี่มุมโดยการนำของอาจารย์คำได้แสดงความสามารถในการรบอย่างกล้าหาญ เข้มแข็งเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก เมื่อเสร็จการศึกสงครามจึงได้ปูนบำเหน็จความชอบให้อาจารย์คำเป็น “พระนรินทร์สงคราม” ยกฐานะบ้านสี่มุมขึ้นเป็น “เมืองสี่มุม” (ในเขตอำเภอจัตุรัส ในจังหวัดชัยภูมิปัจจุบัน) ให้ปกครองเมืองสี่มุมให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา เมื่อก้าวเข้าสู่ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ 1 หมื่นอร่ามกำแหง หรือนายภูมีชาวเมืองนครไทยซึ่งเป็นคนเชื้อสายหลวงพระบาง ได้เข้ามาตั้งบ้านแปงเมืองในเขตพื้นที่บริเวณอำเภอคอนสารในปัจจุบัน และขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร ในสมัยรัชกาลที่ 2 ปี พ.ศ. 2352 ในเขตอำเภอภูเขียว และเกษตรสมบูรณ์ มีชุมชนลาวเวียงจันทน์อพยพ คือหลวงไกรสิงหนาท ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และเมื่อปี พ.ศ. 2360 "นายแล" ข้าราชการสำนักเจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ได้อพยพครอบครัวและบริวารเดินทางข้ามลำน้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านหนองน้ำขุ่น (หนองอีจาน) ซึ่งอยู่ในบริเวณท้องที่อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2362 เมื่อมีคนอพยพเข้ามาอยู่มาก นายแลก็ได้ย้ายชุมชนมาตั้งใหม่ที่บ้านโนนน้ำอ้อม บ้านชีลอง ห่างจากตัวเมืองชัยภูมิ 6 กิโลเมตร นายแลได้เก็บส่วยผ้าขาวส่งไปบรรณาการเจ้าอนุวงศ์จนได้รับบำเหน็จความชอบแต่งตั้งเป็น "ขุนภักดีชุมพล" ในปี พ.ศ. 2365 นายแลได้ย้ายชุมชนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากที่เดิมกันดารน้ำ มาตั้งใหม่ที่บริเวณบ้านหลวงซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหนองปลาเฒ่ากับหนองหลอด (เขตอำเภอเมืองชัยภูมิปัจจุบัน) และได้หันมาขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา และส่งส่วยทองคำถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ยอมขึ้นต่อเจ้าอนุวงศ์อีกต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้ายกบ้านหลวงขึ้นเป็น เมืองชัยภูมิ และแต่งตั้งขุนภักดีชุมพล (แล) เป็น "พระยาภักดีชุมพล" เจ้าเมืองคนแรก

ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ก่อการกบฏ ยกทัพเข้ามาหมายจะตีกรุงเทพมหานคร โดยหลอกหัวเมืองต่าง ๆ ที่เดินทัพมาว่าจะมาช่วยกรุงเทพมหานครรบกับอังกฤษ จนกระทั่งเจ้าอนุวงศ์สามารถยึดเมืองนครราชสีมาได้เมื่อปี พ.ศ. 2369 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นต่อมาเมื่อความแตก เจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองนครราชสีมาเพื่อนำไปยังเมืองเวียงจันทน์

เมื่อไปถึงทุ่งสัมฤทธิ์ หญิงชายชาวเมืองที่ถูกจับโดยการนำของคุณหญิงโม ภรรยาเจ้าเมืองนครราชสีมา ได้ลุกฮือขึ้นต่อสู้ พระยาภักดีชุมพล (แล) เจ้าเมืองชัยภูมิ พร้อมด้วยเจ้าเมืองใกล้เคียงได้ยกทัพออกไปสมทบกับคุณหญิงโม ตีกระหนาบทัพเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์จนแตกพ่ายไป ฝ่ายกองทัพลาวส่วนหนึ่งล่าถอยจากเมืองนครราชสีมาเข้ายึดเมืองชัยภูมิไว้และเกลี้ยกล่อมให้พระยาภักดีชุมพลเข้าร่วมเป็นกบฏด้วย แต่พระยาภักดีชุมพลไม่ยอม เจ้าอนุวงศ์เกิดความแค้นจึงจับตัวพระยาภักดีชุมพลมาประหารชีวิตที่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ริมหนองปลาเฒ่า ซึ่งต่อมาชาวชัยภูมิได้ระลึกถึงคุณความดีที่ท่านมีความซื่อสัตย์และเสียสละต่อแผ่นดิน จึงได้พร้อมใจกันสร้างศาลขึ้น ณ บริเวณนั้น ปัจจุบันทางราชการได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นศาลาทรงไทยชื่อว่า "ศาลาพระยาภักดีชุมพล (แล)" มีรูปหล่อของท่านอยู่ภายใน เป็นที่เคารพกราบไหว้และถือเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของจังหวัด ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิประมาณ 3 กิโลเมตร

ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักร โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว เมืองในจังหวัดชัยภูมิ จึงเข้าอยู่ในมณฑลนครราชสีมา ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบ “เมือง” ทั่วราชอาณาจักร แล้วตั้งขึ้นเป็น “จังหวัด” แทน เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) จึงรวมกันกลายเป็นจังหวัดชัยภูมิ โดยใช้บริเวณเมืองชัยภูมิจัดตั้งเป็นอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ โดยสามารถสรุปการยุบหัวเมืองต่าง ๆ ได้ดังนี้ เมืองสี่มุมของพระยานรินทรสงคราม ปัจจุบัน คืออำเภอจัตุรัส บำเหน็จณรงค์ เทพสถิต ซับใหญ่ หนองบัวระเหว เนินสง่า ส่วนเมืองภูเขียว-เกษตรสมบูรณ์ของพระไกรสิหนาท ปัจจุบันคือ อำเภอภูเขียว เกษตรสมบูรณ์ บ้านแท่น แก้งคร้อ หนองบัวแดง ภักดีชุมพล ส่วนเมืองคอนสารของหมื่นอร่ามกำแหง ปัจจุบันคืออำเภอคอนสาร ซึ่งเคยเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอภูเขียว และเมืองชัยภูมิของพระยาภักดีชุมพล ปัจจุบันคืออำเภอเมือง อำเภอบ้านเขว้า อำเภอคอนสวรรค์ โดยทั้งหมดในปัจจุบันรวมกันเป็นจังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชัยภูมิมีเขตติดต่อกับจังหวัดเพื่อนบ้านหลายจังหวัด ได้แก่ ทิศเหนือ ติดกับเพชรบูรณ์และขอนแก่น ทิศตะวันออกติดกับขอนแก่นและนครราชสีมา ทิศตะวันตกติดกับเพชรบูรณ์และจังหวัดลพบุรี และทิศใต้ติดกับจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิในด้านภูมิศาสตร์อยู่ในเขตอีสานตะวันตกร่วมกับเลยและนครราชสีมา ในด้านอุตุนิยมวิทยาอยู่ในเขตอีสานตอนบน และในด้านการปกครองอยู่ในเขตอีสานตอนใต้

รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัด

รายพระนามและรายนามปีที่ดำรงตำแหน่ง
1. พระยาภักดีชุมพล (แล)พ.ศ. 2360 - 2369
2. พระยาภักดีชุมพล (เกตุ)พ.ศ. 2374 - 2383
3. พระยาภักดีชุมพล (เบี้ยว)พ.ศ. 2383 - 2406
4. พระยาภักดีชุมพล (ที)พ.ศ. 2406 - 2418
5. พระยาภักดีชุมพล (บุญจันทร์)พ.ศ. 2418 - 2425
6. พระยาภักดีชุมพล (แสง)พ.ศ. 2425 - 2440
7. นายร้อยโทโต๊ะพ.ศ. 2440 - 2442
8. พระหฤทัย (บัว)พ.ศ. 2442 - 2444
9. หลวงพิทักษ์นรากร (โย)พ.ศ. 2444 - 2446
10. พระพลอาศัย (ตอ)พ.ศ. 2446 - 2448
11. พระพิบูลสงคราม (จร)พ.ศ. 2448 - 2449
12. หลวงสาทรศุภกิจ (อ่วม บุญยรัตนพันธ์)พ.ศ. 2449 - 2450
13. พระยาภูมิพิชัย (หรุ่ม ชาตินันท์)พ.ศ. 2450 - 2458
14. พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา)พ.ศ. 2458 - 2461
15. พระศรีสมัตถการ (ใหญ่ บุญนาค)พ.ศ. 2461 - 2465
16. พระยาภูมิพิชัย (เฮง ศรีไชยยันต์)พ.ศ. 2465 - 2471
17. พระนรินทร์ภักดี (ศุข ทังศุภูต)พ.ศ. 2471 - 2472
18. พระวิจารณ์ภักดี (เขียน โอวาทสาร)พ.ศ. 2472 - 2472
19. พระภูมิพิชัย (ม.ร.ว.บุง ลดาวัลย์)พ.ศ. 2472 - 2474
20. พระบริรักษ์นครเขต (ย้อย กฤษณจินดา)พ.ศ. 2474 - 2476
21. หลวงทรงสารการ (เล็ก กนิษฐสูต)พ.ศ. 2476 - 2480
22. พระสนิทประชานันท์ (อิน แสงสนิท)พ.ศ. 2480 - 2481
23. หลวงอุบลศักดิ์ประชาบาล (พัน กาญจนพิมาน)พ.ศ. 2481 - 2482
24. หลวงอนุการนพกิจ (ปรารภ สุรัสวดี)พ.ศ. 2482 - 2484
25. นายสุทิน วิวัฒนะพ.ศ. 2484 - 2489
26. ขุนศุภกิจวิเลขการ (กระจ่าง ศุภกิจวิเลขการ)พ.ศ. 2489 - 2490
27. ขุนพำนักนิคมคาม (สนธิ์ พำนักนิคมคาม)พ.ศ. 2490 - 2490
28. นายชู สุคนธมัตพ.ศ. 2490 - 2493
29. นายสมบัติ สมบัติทวีพ.ศ. 2493 - 2495
30. ขุนรัตนวรพงศ์ (เคลื่อน รัตนวร)พ.ศ. 2495 - 2497
31. นายสวัสดิ์วงศ์ ปฏิทัศน์พ.ศ. 2497 - 2500
32. นายบุญฤทธิ์ นาคีนพคุณพ.ศ. 2500 - 2503
33. นายรังสรรค์ รังสิกุลพ.ศ. 2503 - 2504
34. นายช่วย นันทะนาครพ.ศ. 2504 - 2511

รายพระนามและรายนามปีที่ดำรงตำแหน่ง
35. นายชิต ทองประยูรพ.ศ. 2511 - 2512
36. นายประมูล ศรัทธาทิพย์พ.ศ. 2512 - 2514
37. นายสำราญ บุษปวนิชพ.ศ. 2514 - 2516
38. นายอนันต์ อนันตกูลพ.ศ. 2516 - 2518
39. นายเจริญศุข ศิลาพันธ์พ.ศ. 2518 - 2521
40. นายธำรง สุขเจริญพ.ศ. 2521 - 2521
41. นายสมภาพ ศรีวรขานพ.ศ. 2521 - 2522
42. นายดำรง วชิโรดมพ.ศ. 2522 - 2523
43. นายวิโรจน์ อำมรัตน์พ.ศ. 2523 - 2524
44. นายเพ็ชร อภิรัตนรังษีพ.ศ. 2524 - 2526
45. นายนพรัตน์ เวชชศาสตร์พ.ศ. 2526 - 2528
46. ร้อยตรีสนั่น ธานีรัตน์พ.ศ. 2528 - 2531
47. นายปราโมทย์ แก้วพรรณาพ.ศ. 2531 - 2533
48. เรือตรีสุนัย ณ อุบลพ.ศ. 2533 - 2536
49. นายกวี สุภธีระพ.ศ. 2536 - 2537
50. นายสุชาติ ธรรมมงคลพ.ศ. 2537 - 2538
51. นายนิธิศักดิ์ ราชพิตรพ.ศ. 2538 - 2539
52. นายเชาวนเลิศ ไทยานนท์พ.ศ. 2539 - 2541
53. นายไพรัตน์ พจน์ชนะชัยพ.ศ. 2541 - 2542
54. นายสุพจน์ โพธิ์ทองคำพ.ศ. 2542 - 2544
55. นายนิรัช วัจนะภูมิพ.ศ. 2544 - 2545
56. นายธวัช สุวุฒิกุลพ.ศ. 2545 - 2547
57. นายประภากร สมิติพ.ศ. 2547 - 2549
58. นายศุภกิจ บุญญฤทธิพงษ์พ.ศ. 2549 - 2550
59. นายถาวร พรหมมีชัยพ.ศ. 2550 - 2552
60. นายวันชัย สุทธิวรชัยพ.ศ. 2552 - 2553
61. นายจรินทร์ จักกะพากพ.ศ. 2553 - 2554
62. นายชนะ นพสุวรรณพ.ศ. 2554 - 2555
63. นายพรศักดิ์ เจียรณัยพ.ศ. 2555 - 2557
64. นายวิเชียร จันทรโณทัยพ.ศ. 2557 - 2558
65. นายชูศักดิ์ ตรีสารพ.ศ. 2558 - 2560
66. นายณรงค์ วุ่นซิ้วพ.ศ. 2560 - ปัจจุบัน

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดชลบุรี จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จังหวัดชัยภูมิ http://maps.google.com/?ie=UTF8&ll=15.8,102.04&spn... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=15.8&lo... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=15.8&long=102.04&zo... http://www.wikimapia.org/maps?ll=15.8,102.04&spn=0... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.chaiyaphum.go.th/ http://stat.bora.dopa.go.th/stat/pk/pk_59.pdf http://www.dopa.go.th/padmic/jungwad76/jungwad76.h... http://www.nesdb.go.th/