งานสร้างภาพยนตร์ ของ จัน_ดารา_(ภาพยนตร์ทวิภาค)

ที่มาของภาพยนตร์

ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างจากนวนิยายเรื่อง “เรื่องของจัน ดารา” ของ อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) (2463-2530) ตีพิมพ์ เป็นตอน ๆ ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ต่อมาได้พิมพ์รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ในต่อมาก็ถูกพิมพ์รวมเล่มเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน [6]

ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล ได้นำวรรณกรรมเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์มหากาพย์โศกนาฏกรรมเรื่องยิ่งใหญ่ หลังจากภาพยนตร์ 2 ครั้งแรก คือ ฉบับปี 2520 ซึ่งรัตน์ เศรษฐภักดี กำกับ ผู้ที่รับบทจันคือ สมบูรณ์ สุขีนัย และฉบับปี 2544 ซึ่งนนทรีย์ นิมิบุตร กำกับ ผู้ที่รับบทจันคือ สุวินิจ ปัญจมะวัต-เอกรัตน์ สารสุข ตามลำดับ[1][7]

หม่อมน้อย เผยว่า "โดยเนื้อหาสาระจากหนังสือที่อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) เขียน ถึงแม้ว่าจะเขียนมานานเกือบ 50 ปีที่แล้ว แต่เนื้อหาสาระก็ยังทันสมัยมาก ยังสะท้อนให้เห็นถึงธาตุแท้ของมนุษย์ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นแบบนี้อยู่ และเหมือนเป็นกระจกที่จะสะท้อนให้เห็นกิเลสในใจของคน มันไม่ใช่แค่ตัณหาราคะอย่างเดียว แต่คนที่ยึดมั่นกับความเคียดแค้นมันจะก่อให้เกิดปัญหา และหายนะยังไงกับตัวเองและคนรอบข้างจนนำไปสู่ปัญหาสังคมในระดับรวมด้วย"[8]

นักแสดงและผู้กำกับ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ เขียนบทและกำกับอีกครั้งของ หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล (หม่อมน้อย) เป็นผลงานลำดับที่ 11[7][1] ถัดจากภาพยนตร์เรื่อง อุโมงค์ผาเมือง ออกฉายวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

จัน ดารา ภาพยนตร์ครั้งที่ 3 นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ รับบทเป็น จัน วิสนันท์ หรือจัน ดารา ซึ่งถือเป็นบทบาทที่ท้าทายและพิสูจน์ฝีมือที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา เพราะต้องแสดงตั้งแต่วัยหนุ่มถึงวัยแก่ [8][9][10] ร่วมด้วย ชัยพล จูเลี่ยน พูพาร์ต, ศักราช ฤกษ์ธำรงค์, บงกช คงมาลัย[11][12][13], สาวิกา ไชยเดช, รฐา โพธิ์งาม, โช นิชิโนะ[14][4][3], ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, รัดเกล้า อามระดิษ, เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ฯลฯ

ในแต่ละภาค ปฐมบท-ปัจฉิมบท นั้นมีนักแสดงรับเชิญมากมาย อาทิ ชุดาภา จันทเขตต์, ปิยะ เศวตพิกุล, ทวีศักดิ์ ธนานันท์, พงศ์สิรี บรรลือวงศ์, อรุณพงศ์ ชัยวินิตย์, วรรณรท สนธิไชย, กานต์พิสชา เกตุมณี, เกรียงไกร อุณหะนันทน์, เนาวรัตน์ ซื่อสัตย์, ปกรณ์ ลัม ฯลฯ[15]

ภาพยนตร์ทวิภาค

ภาพยนตร์เรื่องนี้ สร้างเป็นสองภาค คือ จัน ดารา ปฐมบท และ จัน ดารา ปัจฉิมบท เพื่อความสมบูรณ์แบบของเนื้อหาและสาระบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม โดยหม่อมน้อยเผยถึงเรื่องนี้ว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้มีรายละเอียดเนื้อหาและตัวละครมากมายที่มีความสำคัญเท่า ๆ กันหมด เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดเนื้อเรื่องหรือตัวละครตัวใดหนึ่งออกมันยาก เพราะทุกตัวละครมีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนและสะท้อนนิสัยซึ่งกันและกัน เรื่องมันจึงยาวมาก มีเหตุการณ์พลิกผันไปมาตลอด คือตัวละครจันดาราเป็นตัวเดินเรื่องก็จริง แต่ตัวอื่น ๆ รอบข้างก็มีปูมหลังและเรื่องราวของตัวเองเช่นกัน พล็อตมันจะพลิกผันไปมาตลอด เรียกว่าเป็นมหากาพย์ภาพยนตร์ได้เลย เพราะว่าเล่าเรื่องผ่านสี่ยุคสมัย แต่ละสมัยก็มีรายละเอียดทางด้านอารมณ์ เหตุผล และความสนุกเกี่ยวเนื่องกันจึงไม่สามารถตัดส่วนใดส่วนหนึ่งออกได้ มันก็เลยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างเป็นสองภาค ภาคหนึ่งคือ 'ปฐมบท' คือวัยเด็กตั้งแต่จันดาราเกิดจนถึงวัยสิบเจ็ด และภาคสองคือ 'ปัจฉิมบท' วัยผู้ใหญ่ตั้งแต่ยี่สิบจนถึงสี่สิบ-ห้าสิบ โดยจะยังคงเนื้อหาสาระและความบันเทิงอย่างเต็มอิ่มเอาไว้ทั้งสองภาค ไม่ได้มีการยืดเพื่อให้เป็นสอง ผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ยังไงผมก็จะรักษาสาระและความสนุกของเรื่องเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด ถ้าได้ชมภาพยนตร์ก็จะเข้าใจดีว่ามันเป็นอย่างนี้จริง ๆ ซึ่งภาคแรกปิดกล้องเรียบร้อบแล้ว ส่วนภาคสองกำลังอยู่ระหว่างการสร้างครับ"[7][16][17]

ฉากถ่ายทำภาพยนตร์

ภาพยนตร์จันดารา ภาคปฐมบท มีฉากถ่ายทำภาพยนตร์ฉากสำคัญ ๆ มากมาย อาทิ บ้านสังคหวังตาล(บ้านตราไก่) เมืองบ้านโป่ง จ.ราชบุรี, หอวัฒนธรรมไทยวน (ไท-ยวน) อำเภอเสาไห้ สระบุรี, โฮมพุเตย, น้ำตกเจ็ดสาวน้อย จ.สระบุรี, ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร และฉากใหญ่ ฉากสำคัญคือ ลานพระบรมรูปทรงม้า รัชกาลที่ 5 ในฉากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 [18]

ส่วนภาคปัจฉิมบท ยังคงมีฉากใหญ่ด้วยเครื่องแต่งกายและการเมคอัพ มีฉากถ่ายทำภาพยนตร์ฉากสำคัญ ๆ อาทิ ถนนราชดำเนิน หน้าวังปารุสกวัน, สถานีดับเพลิงบางรัก, ตึกพัสดุการรถไฟ, หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร และทั้งฉากสงครามโลกครั้งที่ 2, ฉากภายในบ้านวิสนันท์และพิจิตรวานิช, ฉากสำนักโคมเขียวโคมแดง, ฉากกระท่อมกลางป่าลึก, ฉากโรงงานพิจิตรวานิช, ฉากงานแต่งงาน รวมถึงฉากอีโรติก[19][20]

ด้านฉากอีโรติกหรือเลิฟซีนในภาพยนตร์ผู้กำกับ ม.ล.พันธุ์เทวนพ เทวกุล และ นิวัติ กองเพียร ได้กล่าวถึงและยืนยันถึงประเด็นนี้ว่า "ฉากเลิฟซีนมันเป็นส่วนสำคัญสำคัญส่วนหนึ่งของเรื่อง มันต้องมีแน่ๆ แต่ทุกฉากที่ออกมาล้วนแล้วแต่มีความหมายและเจตนารมณ์ในการนำเสนอที่งดงาม เป็นศิลปะและไม่อนาจารแต่อย่างใด" [21]

เครื่องแต่งกาย

การออกแบบเครื่องแต่งกาย ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ควบคุมโดย มนตรี วัดละเอียด เมคอัพอาร์ทติสชั้นครู และ อธิษฐ์ ฐิรกิตติวัฒน์ แฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดัง มาร่วมกันสร้างสรรค์แฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผมย้อนยุคนับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ย้อนยุค แฟชั่นตามยุคสมัยที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย เครื่องแต่งกายออกแบบเข้ากับยุคสมัย อารมณ์ และบรรยากาศของเรื่อง หลากหลายแบบทั้งสากล [22]

เพลงประกอบภาพยนตร์

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องจันดารา ปฐมบท ชื่อเพลง เมื่อไหร่จะให้พบ ประพันธ์คำร้องโดย แก้ว อัจริยะกุล ทำนองโดย หลวงสุขุมนัยประดิษฐ์ ต้นฉบับขับร้องโดย มัณฑนา โมรากุล โดยภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2555 นี้จะขับร้องโดย รฐา โพธิ์งาม และ ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ [1][7]

แหล่งที่มา

WikiPedia: จัน_ดารา_(ภาพยนตร์ทวิภาค) http://morning-news.bectero.com/%E0%B8%82%E0%B9%88... http://www.facebook.com/sahamongkolfilmint/app_338... http://www.filmzick.com/news/weekly-updated-top-20... http://movie.kapook.com/view43045.html http://movie.kapook.com/view45987.html http://movie.kapook.com/view46774.html http://www.kornang.com/profile-thai/jandara/5.html http://www.kornang.com/profile-thai/jandara/9.html http://movie.mthai.com/movie-news/118219.html http://movie.mthai.com/movie-news/126065.html