ประวัติ ของ จาง_จวีเจิ้ง

จาง จวีเจิ้งได้เผชิญประสบการณ์ความผันผวนอันร้ายกาจทางการเมืองนับแต่เริ่มรับราชการเมื่ออายุยี่สิบหกปีในรัชศกหลงชิ่ง ซึ่งการปกครองอ่อนแอและเกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวาง ก่อนจะไต่เต่าขึ้นมาตามตำแหน่งเรื่อย ๆ ต่อมาจาง จวีเจิ้งได้ร่วมมือกับมหาอำมาตย์เกา ก่ง (จีน: 高拱; พินอิน: Gāo Gǒng) ในการบริหารราชการร่วมกัน ก่อนจะหันไปร่วมมือกับมหาขันทีชื่อ เฝิง เป่า (จีน: 馮保; พินอิน: Féng Bǎo) เพื่อบีบบังคับให้เกา ก่งออกจากราชการกลับไปยังบ้านเกิด และจาง จวีเจิ้งก็เข้าสวมตำแหน่งมหาอำมาตย์แทน

แม้จะได้ตำแหน่งมาโดยวิธีการอันมิชอบ ทว่า การบริหารอย่างประเสริฐ และรัฐประศาสโนบายอันเข้มแข็งด้านการต่างประเทศและเศรษฐกิจ ซึ่งจาง จวีเจิ้งดำเนินไปในระยะเวลาสิบปีของการอยู่ในตำแหน่งมหาอำมาตย์นั้น ส่งผลให้ยุคสมัยของเขารุ่งเรืองที่สุดในราชวงศ์หมิง จาง จวีเจิ้งเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการรวมศูนย์อำนาจการปกครอง การจำกัดเอกสิทธิ์ของชนชั้นสูง และการสำรวจที่ดินเพื่อปฏิรูประบบภาษี ในบั้นต้นรัชศกว่านลี่ซึ่งเสวยราชย์แต่ทรงพระเยาว์นั้น จาง จวีเจิ้งยังปฏิบัติหน้าที่สำคัญหลายประการ ทั้งเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นอาทิ ในฐานะพระอาจารย์นั้น จาง จวีเจิ้งมีอิทธิพลต่อพระมหากษัตริย์ และพยายามประคับประคองพระมหากษัตริย์ตลอดพระชันษาอันเยาว์วัยให้ตลอดรอดฝั่ง ทว่าเมื่อว่านลี่เจริญพระชันษาขึ้น กลับทรงเบื่อหน่ายและมีพระราชหฤทัยรังเกียจจาง จวีเจิ้งขึ้นโดยลำดับ เหตุว่ามีพระราชสันดานใฝ่ในกามราคะ และมีพระราชประสงค์จำนงหมายจะบริหารอำนาจการปกครองโดยลำพัง ขณะที่จาง จวีเจิ้งกลับคอยกวดขันพระราชจริยวัตรเป็นอาจิณ นอกจากนี้ จาง จวีเจิ้งยังมิอาจควบคุมรายจ่ายของราชสำนัก เหตุว่าว่านลี่ทรงใช้พระราชทรัพย์เปลืองไปในทางปรนเปรอพระองค์เป็นอันมาก[3][4]

เมื่อจาง จวีเจิ้งถึงแก่อสัญกรรมใน ค.ศ. 1582 อันเนื่องมาจากความเหนื่อยล้าที่ทุ่มเทเพื่อแผ่นดินจนมิได้พักผ่อนติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนการปฏิรูปของจาง จวีเจิ้งที่กำลังไปได้ก็ดีนั้น ว่านลี่ก็มีพระราชโองการให้ยกเลิกบ้าง และไม่ทรงนำพาบ้าง ทั้งยังไม่ทรงปฏิบัติพระราชกิจเช่นที่เคย ไม่ทรงออกว่าราชการมากขึ้นโดยลำดับ กลับทรงแสวงแต่จะสำราญพระราชหฤทัย ทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์อย่างสุรุ่ยสุร่าย และขูดรีดประชาชนอย่างกว้างขวาง จนส่งผลให้ราชวงศ์หมิงล่มสลายอย่างช้า ๆ

อนึ่ง เมื่อจาง จวีเจิ้งถึงแก่อสัญกรรมแล้วไม่ถึงสองปีนั้น ว่านลี่ก็มีพระราชโองการให้ถอดยศจาง จวีเจิ้งย้อนหลัง ให้ทำลายป้ายเกียรติคุณและผลงานต่าง ๆ ของจาง จวีเจิ้ง ให้ประหารตระกูลจางทั้งตระกูล และให้ริบราชบาตรเสียสิ้น[3]

จนเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษหลังจากนั้น ในรัชสมัยฉงเจิน ผู้ทรงพระราชอุตสาหะจะกอบกู้บ้านเมืองที่กำลังล่มจมลงอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการปกครองอันเหลวแหลกโดยพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน ๆ หน้า ฉงเจินได้ทรงพระอนุสรถึงจาง จวีเจิ้ง และได้มีพระราชโองการให้คืนเกียรติยศทั้งปวงให้แก่จาง จวีเจิ้ง ให้อนุรักษ์บ้านพักที่เขาเคยอาศัยในมณฑลหูเป่ย์ และให้สร้างรูปเคารพของเขาไว้หน้าบ้าน ซึ่งปัจจุบันจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านจาง จวีเจิ้ง[5]