การขยายตัวทางจิตวิทยา ของ จิตวิทยา

ห้องปฏิบัติการทดลองทางจิตวิทยาห้องแรก ถูกสร้างขึ้นโดย Wilhelm Wundt ในปี ค.ศ. 1879 ที่เมืองไลพ์ซิจ ประเทศเยอรมนี โดยมีการจัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้น คือ กลุ่มโครงสร้างนิยม (Structuralism) การศึกษาจิตต้องศึกษาส่วนย่อย ๆ ที่ประกอบขึ้นมา ใช้วิธีการพื้นฐานทางจิตวิทยา คือ การสังเกตตนเอง หรือที่เรียกว่า การตรวจพินิจจิต (Introspection)

ในปี ค.ศ. 1890 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มจิตวิทยาขึ้นใหม่อีก คือ กลุ่มหน้าที่นิยม (Functionalism) นักจิตวิทยากลุ่มนี้เห็นว่า จิตวิทยาควรเป็นการศึกษาวิธีการที่คนเราใช้ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวิธีการที่บุคคลนั้นพอใจ และเป็นการเพิ่ม ประสิทธิภาพของบุคคลนั้นด้วย นักจิตวิทยากลุ่มนี้ให้ความสนใจ ความรู้สำนึก (consciousness) เพราะความรู้สำนึกเป็นเครื่องมือที่ทำให้บุคคลเลือกกระทำพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ความรู้สำนึกเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน ไม่สามารถแยกวิเคราะห์เป็นส่วนย่อยได้ นักจิตวิทยากลุ่มนี้สนใจศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมมากกว่าการศึกษาพฤติกรรมที่ปรากฏออกมา ให้เห็น

ในช่วงเวลาเดียวกัน ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ (Sigmund Freud) ได้เสนอทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis theory) โดยมีวิธีการศึกษา จากการสังเกตและรวบรวมประวัติคนไข้ที่มารับการบำบัดรักษา ฟร็อยท์เชื่อว่าความไร้สำนึกมีอิทธิพลต่อการแสดงออกของพฤติกรรม และเน้นถึงความต้องการทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จอห์น บี วัตสัน (John B.Watson) ได้ก่อตั้ง กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behavioralism) โดยเห็นว่า การตรวจพินิจจิตเป็นวิธีการที่ไม่ดีพอ การศึกษาจิตวิทยาควรจะหลีกเลี่ยงการศึกษาจากความรู้สำนึก แล้วหันไปศึกษา พฤติกรรมที่มองเห็นได้ เพื่อให้สามารถทำนายและควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ได้ และเน้นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมว่ามี อิทธิพลต่อพฤติกรรมมากกว่าพันธุกรรมอีกด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศเยอรมนีได้เกิดกลุ่มจิตวิทยาขึ้น ได้แก่ จิตวิทยากลุ่มเกสตัลท์ (Gestalt Psychology) แนวคิดของจิตวิทยากลุ่มนี้เน้นว่า การทำงานของจิตเป็นการทำงานของส่วนรวม ดังนั้นจึงสนใจศึกษาส่วนรวมมากกว่าส่วน ย่อย แนวคิดนี้เริ่มมีบทบาทขึ้นเมื่อนักจิตวิทยาชาวอเมริกันเริ่มให้ความสนใจในปัญหาของการรับรู้ การคิดแก้ปัญหาและ บุคลิกภาพ จนนำไปสู่การเกิดขึ้นของกลุ่มจิตวิทยาการรู้การเข้าใจ (Cognitive psychology) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกลไกภายใน ที่มีอิทธิพลต่อการแสดงพฤติกรรมของบุคคล และต่อจากนั้นมา จิตวิทยาก็เป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปและนิสิตนักศึกษามากขึ้น

ใกล้เคียง

จิตวิทยา จิตวิทยาเชิงบวก จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จิตวิทยาชุมชน จิตวิทยาเกสทัลท์ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการกีฬา จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาบุคลิกภาพ