ประวัติ ของ จินตนิมิต

Dobrynya ผู้ช่วย Zabana จากมังกร หนึ่งในเทพนิยายและเทพปกรณัมซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวรรณกรรมจินตนิมิต

งานจินตนิมิตชิ้นแรกที่พบเห็นเป็นหลักฐานอาจได้แก่ มหากาพย์กิลกาเมช (the Epic of Gilgamesh) แต่งานจินตนิมิตเก่าแก่มีอยู่มากมายเช่น มหากาพย์โอดิสซีย์ ตำนานเบวูล์ฟ มหาภารตะ พันหนึ่งราตรี รามายณะ จนกระทั่งถึง ตำนานกษัตริย์อาเธอร์ และมหากาพย์ต่างๆ มากมายในยุคกลาง ที่เกี่ยวข้องกับวีรบุรุษ วีรสตรี ปีศาจอันน่าสะพรึงกลัว และดินแดนลี้ลับ ซึ่งดึงดูดความสนใจของผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง กล่าวไปแล้ว ประวัติศาสตร์ของจินตนิมิตกับประวัติศาสตร์วรรณกรรมก็มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันมาก

งานบางชิ้นมีความคาบเกี่ยวกันอย่างใกล้ชิด ไม่ชัดเจนว่าเป็นงานจินตนิมิต หรืองานประเภทอื่น ซึ่งขึ้นกับจุดมุ่งหมายของผู้ประพันธ์ถึงความเป็นไปได้ในเรื่องเหนือจริง เช่น เรื่อง A Midsummer Night's Dream หรือ Sir Gawain and the Green Knight ทำให้จุดเริ่มต้นแท้จริงของวรรณกรรมจินตนิมิตไม่อาจระบุชี้ชัดลงไปได้[1]

สำหรับวรรณกรรมจินตนิมิตยุคใหม่ อาจเริ่มจากผลงานของจอร์จ แมคโดนัลด์ นักประพันธ์ชาวสก๊อตผู้เขียนเรื่อง The Princess and the Goblin และ Phantastes ซึ่งเรื่องหลังนี้นับว่าเป็นงานจินตนิมิตสำหรับผู้ใหญ่เรื่องแรกของโลก แมคโดนัลด์เป็นแรงบันดาลใจสำคัญยิ่งต่อ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน และ ซี. เอส. ลิวอิส นักประพันธ์งานจินตนิมิตอีกผู้หนึ่งในยุคเดียวกันนี้คือ วิลเลียม มอร์ริส กวีชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงที่ได้แต่งนวนิยายไว้มากมาย รวมถึงเรื่อง The Well at the World's End

ถึงกระนั้น วรรณกรรมจินตนิมิตก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ผู้อ่านกว้างขวางนัก เอ็ดเวิร์ด พลังเคทท์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ลอร์ดดันเซนี (Lord Dunsany) เป็นผู้ริเริ่มงานเขียนแนวนวนิยายและเรื่องสั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มของความนิยมที่เข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น นักเขียนงานจินตนิมิตแนวนี้ในยุคนั้นได้แก่ เอช. ไรเดอร์ แฮ็กการ์ด รุดยาร์ด คิปลิง และ เอ็ดการ์ ไรซ์ เบอร์โรส์ รวมถึง อับราฮัม เมอร์ริทท์ ต่างพากันสร้างผลงานจินตนิมิตในแขนงที่เรียกกันว่า "Lost World" ซึ่งเป็นวรรณกรรมจินตนิมิตแขนงที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในช่วงต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผลงานวรรณกรรมจินตนิมิตสำหรับเด็กระดับคลาสสิกได้เผยแพร่ในยุคนั้นหลายเรื่อง เช่น ปีเตอร์ แพน และ พ่อมดมหัศจรรย์แห่งออซ เป็นต้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งานจินตนิมิตแขนง "Juvenile" (จินตนิมิตสำหรับเด็ก) จะเป็นที่นิยมและยอมรับมากกว่าวรรณกรรมจินตนิมิตสำหรับผู้ใหญ่ ด้วยเหตุนี้เหล่านักเขียนจึงพากันสร้างผลงานออกมาเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็กเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดผลกระทบต่องานจินตนิมิตทั้งหมดที่สร้างขึ้นในยุคนั้น ไม่เว้นแม้แต่ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ล้วนถูกจัดกลุ่มไปว่าเป็น วรรณกรรมเยาวชน กันทั้งนั้น

ปี ค.ศ. 1923 ได้มีนิตยสารที่มุ่งเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับ นวนิยายจินตนิมิต โดยเฉพาะ ชื่อว่า Weird Tales หลังจากนั้นก็เกิดมีนิตยสารแนวนี้ขึ้นอีกมาก ฉบับที่มีชื่อเสียงคือ The Magazine of Fantasy and Science Fiction การเผยแพร่งานผ่านนิตยสารทำให้วรรณกรรมจินตนิมิตเผยแพร่สู่ผู้อ่านจำนวนมากขึ้น และเป็นที่นิยมอย่างสูงทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ นิตยสารบางฉบับเริ่มจับแนวทางของนิยายวิทยาศาสตร์ด้วย ทำให้วรรณกรรมสองสาขานี้มีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกันมากกว่าสาขาอื่นๆ

เมื่อถึง ปี ค.ศ. 1950 วรรณกรรมจินตนิมิตแนว "ดาบและเวทมนตร์" ก็สามารถเข้าถึงผู้อ่านเป็นวงกว้าง ดังเห็นในความสำเร็จของ Conan the Barbarian ของ โรเบิร์ต อี. โฮวาร์ด หรือ Fafhrd and the Gray Mouser ของ ฟริตซ์ ไลเบอร์ และแล้วก็เกิดวรรณกรรมจินตนิมิตแขนงใหม่ คือ "จินตนิมิตระดับสูง" (High Fantasy) เรื่องที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือผลงานของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน เรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ซึ่งส่งผลให้มีวรรณกรรมจินตนิมิตเกิดขึ้นสู่บรรณพิภพเป็นจำนวนมาก ผลงานอื่นๆ เช่น ตำนานแห่งนาร์เนีย ของ ซี. เอส. ลิวอิส และ พ่อมดแห่งเอิร์ธซี ของ เออร์ซูลา เค. เลอกวิน ทำให้ความนิยมในวรรณกรรมสาขานี้แข็งแกร่งมั่นคงยิ่งขึ้น

ความนิยมในวรรณกรรมจินตนิมิตยังคงสืบเนื่องต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 21 ซึ่งเกิดปรากฏการณ์หนังสือขายดีที่สุด จากเรื่อง แฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ผลงานของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ขณะเดียวกัน ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมจินตนิมิตก็เกิดขึ้นมากและประสบผลสำเร็จหลายเรื่อง เรื่องที่โดดเด่นที่สุดได้แก่ ภาพยนตร์ไตรภาคเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ของผู้กำกับภาพยนตร์ ปีเตอร์ แจ็กสัน