ผลงาน ของ จิมมี_เวลส์

การพัฒนาวิกิพีเดีย

ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2544 (ค.ศ. 2001) เวลส์และแซงเกอร์ได้ตั้งวิกิพีเดีย ซึ่งเป็นเว็บไซต์วิกิในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับนูพีเดียขึ้น โดยตั้งใจว่าจะใช้วิกิพีเดียเป็นพื้นที่ระดมความคิดสำหรับเขียนเนื้อหาสารานุกรมในขั้นต้น ก่อนที่จะส่งไปที่นูพีเดียเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง การเติบโตอย่างรวดเร็วของวิกิพีเดียในเวลาต่อมาทำให้วิกิพีเดียกลายเป็นโครงการหลักและโครงการนูพีเดียต้องระงับไป ในระยะแรกของการพัฒนาวิกิพีเดียนั้น แซงเกอร์เป็นผู้ดำเนินการเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่เวลส์เป็นผู้ออกเงินทุน เวลส์ถือว่าตนเองเป็นผู้ก่อตั้งวิกิพีเดียแต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ว่าแซงเกอร์จะยังคงเรียกตนเองว่าเป็น "ผู้ร่วมก่อตั้ง" วิกิพีเดียก็ตาม แซงเกอร์ได้ยุติการทำงานในโครงการวิกิพีเดียในเวลาต่อมา โดยประกาศการลาออกไว้ที่หน้าผู้ใช้วิกิพีเดียของเขาเอง หลังจากลาออก แซงเกอร์ได้วิพากษ์วีธีที่เวลส์ดำเนินโครงการ [4] โดยวิจารณ์ว่าเวลส์เป็นบุคคลจำพวก "ต่อต้านพวกหัวกะทิอย่างสิ้นเชิง" ("decidedly anti-elitist") ซึ่งเวลส์ไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ของแซงเกอร์ และกล่าวว่าตนไม่ได้ต่อต้านพวกหัวกะทิ แต่ "น่าจะเป็นจำพวกต่อต้านพวกถือใบประกาศฯ (anti-credentialist) มากกว่า สำหรับผม สิ่งสำคัญคือทำให้ถูกต้อง และถ้ามีใครก็ตามที่เป็นคนฉลาดและทำงานได้น่าอัศจรรย์แล้วล่ะก็ ผมไม่สนหรอกว่าเขาจะเป็นนักเรียนมัธยมปลายหรือศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด งานที่เขาทำต่างหากที่สำคัญ ... คุณหวังพึ่งใบประกาศฯ ของคุณในวิกิพีเดียไม่ได้หรอก ... คุณต้องเดินเข้าตลาดความคิดและสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ"

ในกลางปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) เวลส์ได้ก่อตั้งมูลนิธิวิกิมีเดียขึ้น โดยเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งในเมืองแทมปา รัฐฟลอริดา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนวิกิพีเดียและโครงการพี่น้องอื่น ๆ นับแต่นั้น บทบาทของเวลส์จะเพิ่มขึ้นจากเดิมในด้านการส่งเสริมและการพูดในที่ต่าง ๆ ถึงโครงการของมูลนิธิ นับถึงปี พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) เวลส์ยังคงดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิอยู่

ในปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) มีการอ้างคำพูดของเวลส์ว่าเขาใช้เงินส่วนตัวประมาณ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในการก่อตั้งและดำเนินงานโครงการวิกิต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อสิ้นสุดการระดมทุนของมูลนิธิวิกิมีเดียในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 (ค.ศ. 2005) มูลนิธิได้รับการสนับสนุนที่จำเป็นทั้งหมดจากสิ่งของและเงินบริจาค

เวลส์ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "จอมเผด็จการผู้เมตตา (benevolent dictator)" ของวิกิพีเดียด้วย ถึงแม้เวลส์จะไม่สนับสนุนการใช้คำนี้ก็ตาม เวลส์ยังคงมีอำนาจการควบคุมสูงสุดในมูลนิธิวิกิมีเดีย โดยนอกจากตัวเขาเองจะเป็นกรรมการบริหารมูลนิธิแล้ว เขายังเสนอชื่อหุ้นส่วนทางธุรกิจของเขาจำนวนสองคน ซึ่งมิได้เป็นผู้แก้ไขวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอ ให้ร่วมเป็นกรรมการด้วย ซึ่งเนื่องจากคณะกรรมการบริหารมูลนิธิมีอยู่ด้วยกันห้าคน โดยพฤตินัยแล้วจึงถือว่าเวลส์ครองเสียงข้างมาก (สามเสียง) ในคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม เวลส์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากกรรมการในฟากผู้แก้ไขวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอทั้งสองคนเห็นพ้องกันในญัตติใดญัตติหนึ่งแล้ว ตนจะออกเสียงสนับสนุนด้วย ซึ่งมีผลทำให้กรรมการฟากผู้แก้ไขได้รับเสียงข้างมาก เวลส์ยังกล่าวด้วยว่าคำว่า "จอมเผด็จการผู้เมตตา" ใช้กันมากโดยสื่อมวลชน แต่ชุมชนวิกิพีเดียไม่ยอมรับคำนี้[ต้องการอ้างอิง]

โครงการอื่น ๆ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ เวลส์ได้ก่อตั้งบริษัทวิเกีย ซึ่งเป็นบริษัทแสวงหาผลกำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเว็บโฮสต์ให้โครงการวิกิต่าง ๆ และดูแลโครงการวิกิซิตีส์ซึ่งมีลักษณะเดียวกับวิกิพีเดีย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะอิทธิพลจากความสำเร็จของวิกิพีเดีย