ประวัติ ของ จูล่ง

จูล่งเดิมเป็นชาวเมืองเสียงสาน ต่อมาได้มาเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อ้วนเสี้ยวหยาบช้า ไร้น้ำใจ จูล่งจึงหนีไปอยู่กับกองซุนจ้านเจ้าเมืองปักเป๋ง โดยที่ขณะนั้นกองซุนจ้านได้ทำศึกกับอ้วนเสี้ยว จูล่งยังได้ช่วยชีวิตกองซุนจ้านไว้แล้วสู้กับบุนทิวถึง 60 เพลง จนบุนทิวหนีไป ต่อมาจูล่งได้มีโอกาสรู้จักกับเล่าปี่ ทั้งสองต่างเลื่อมใสซึ่งกันและกัน เมื่อกองซุนจ้านฆ่าตัวตายเพราะแพ้อ้วนเสี้ยว จูล่งจึงได้ร่อนเร่พเนจรจนมาถึงเขาโงจิวสัน ซึ่งมีโจรป่ากลุ่มหนึ่งมีหุยง่วนเสียวเป็นหัวหน้า หุยง่วนเสียวคิดชิงม้าจากจูล่ง จูล่งจึงฆ่าหุยง่วนเสียวตายแล้วได้เป็นหัวหน้าโจรป่าแทน ต่อมากวนอูได้ใช้ให้จิวฉองมาตามหุยง่วนเสียวและโจรป่าไปช่วยรบ จิวฉองเมื่อเห็นจูล่งคุมโจรป่าจึงคิดว่าจูล่งคิดร้ายฆ่าหุยง่วนเสียว จิวฉองจึงตะบันม้าเข้ารบกับจูล่ง ปรากฏว่าจิวฉองต้องกลับไปหากวนอูในสภาพเลือดโทรมกาย ถูกแทงถึง 3 แผล (สำนวนสามก๊กฉบับวณิพกของ ยาขอบ) จิวฉองเล่าว่าคนผู้นี้มีฝีมือระดับลิโป้ ดังนั้นกวนอูกับเล่าปี่จึงต้องรุดไปดูด้วยตนเอง แต่เมื่อได้พบกันจูล่งก็เล่าความจริงทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาจูล่งก็ได้เป็นทหารเอกของเล่าปี่

ในปี พ.ศ. 751 จูล่งสร้างวีรกรรมครั้งสำคัญคือ ฝ่าทัพรับอาเต๊า บุตรชายของเล่าปี่ที่เกิดจากนางกำฮูหยิน ซึ่งพลัดหลงกับเล่าปี่ที่ทุ่งเตียงบันโบ๋ จูล่งทำการครั้งนี้เพียงคนเดียว ท่ามกลางทหารและองครักษ์มากมายของโจโฉที่ยกทัพลงทางใต้หวังรวบรวมแผ่นดิน และได้ฆ่าทหารเอกและทหารเลว ของโจโฉมากมาย ตั้งแต่ 03.00 น. จนถึง 15.00 น. ของอีกวัน จนโจโฉ ถึงกับถามชื่อขุนพลผู้นี้ ซึ่งจูล่งได้ตอบโจโฉว่า "ข้าชื่อจูล่ง แห่งเสียงสาน" โจโฉประทับใจในความกล้าหาญของจูล่ง จึงสั่งไม่ให้ใช้เกาทัณฑ์ยิง ทำให้จูล่งสามารถอุ้มเอาอาเต๊าหนีกลับมาหาเล่าปี่ได้ และครั้งหนึ่งจูล่งได้ไปชิงตัวอาเต๊าคืนมาจากซุนฮูหยิน ที่ต้องกลของซุนกวนที่หวังจะดึงไปเป็นตัวประกันที่ง่อก๊ก

ภายหลังเมื่อจูล่งติดตามเล่าปี่เข้าเสฉวนและรับตำแหน่งแม่ทัพร่วมกับฮองตงไปทำศึกชิงเขาเตงกุนสันที่ฮันต๋ง จูล่งก็สร้างวีรกรรมสำคัญช่วยเหลือฮองตงซึ่งกำลังเสียทีตกอยู่ในวงล้อมกองทัพของโจโฉและตีฝ่าออกมาได้ เมื่อโจโฉนำทัพไล่ตามไป จูล่งก็นำทหารเข้าไปในค่ายและตนเองแต่ผู้เดียวออกมาขี่ม้าถือทวนอยู่หน้าค่าย โจโฉเกิดความระแวง จูล่งจึงอาศัยโอกาสนั้นให้ทหารที่ซุ่มอยู่เข้าตีทั้งสองด้านไล่ทัพโจโฉจนต้องถอยร่นไป เมื่อเล่าปี่มาตรวจค่ายที่จูล่งทำศึกก็ออกปากยกย่องจูล่งว่า มีดีไปทั้งตัว ซึ่งหมายถึงมีความกล้าหาญไปทั่วทั้งตัว

จูล่งเป็นผู้ที่ติดตามเล่าปี่ตลอด แม้จะไม่ได้สาบานเป็นพี่น้องกันเหมือน กวนอูและเตียวหุย แต่จูล่งก็เรียกกวนอูและเตียวหุยว่า "พี่สองและพี่สาม" แต่กับเล่าปี่ จูล่งจะเรียกว่า "นายท่าน" เมื่อครั้งเล่าปี่ต้องการแก้แค้นให้กวนอูและเตียวหุยซึ่งถูกง่อก๊กสังหาร จูล่งเป็นผู้ที่คัดค้านและแนะนำว่าเล่าปี่ควรเห็นละความแค้นส่วนตัว และปราบวุยก๊กของโจผี ซึ่งเป็นผู้ที่ประชาชนมองว่าเป็นศัตรูแผ่นดินตัวจริง แต่เล่าปี่ไม่ฟัง เมื่อเล่าปี่นำกองทัพไปพ่ายแพ้ที่อิเหลง จูล่งซึ่งเป็นทัพหลังและเตรียมพร้อมไว้ก่อนจึงพาเล่าปี่หนีกลับมาพำนักที่เมืองเป๊กเต้เสีย เมื่อก่อนเล่าปี่จะสิ้นใจได้เรียก ขงเบ้งเข้าพบ และเรียกจูล่ง ตรัสด้วยคำพูดว่า "ท่านกับเรานั้นเป็นเพื่อนต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา แต่มาบัดนี้ ชะตากรรมกำลังพรากเราสอง ขอให้ท่านนึกถึงน้ำใจเก่าก่อนช่วยเหลือบุตรเราและท่านขงเบ้ง ฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่นอัญเชิญราชวงศ์ฮั่นกลับสู่ราชธานีลกเอี๋ยงด้วย"

หลังจากที่เล่าปี่เสียชีวิตลง จูล่งเป็นทหารสังกัดของขงเบ้ง เมื่อยามศึกยังสู้แม้ตัวเองแก่แล้ว มีครั้งหนึ่ง ก่อนรบศึกกับฝ่ายวุยก็ก ช่วงนั้นขงเบ้งเลือกทหารให้ไปรบ แต่กลับไม่เลือกจูล่ง เพราะขงเบ้งว่าจูล่งแก่แล้ว แต่จูล่งกลับแย้งขี้นมา และได้เป็นทัพหน้าสมใจ แม้ในวัยชราแล้วก็ยังสามารถนำทหารเข้าต่อสู้และเอาชัยเหนือแม่ทัพหนุ่ม ๆ ของข้าศึกได้ จูล่งเสียชีวิตอย่างสงบในเมืองฮั่นจง เมื่อปี พ.ศ. 772 หลังจากที่จูล่งตาย ขงเบ้งได้รำพันออกมาว่า "แขนซ้ายข้าขาดแล้ว" และเป็นลมสิ้นสติไปด้วยความเสียใจ

จูล่ง ถือได้ว่าเป็นตัวละครที่ผู้อ่านสามก๊กโดยส่วนมาก โปรดปราน ชื่นชมมากที่สุดในบรรดาตัวละครทั้งหมดในเรื่อง เนื่องจากเป็นผู้ที่มีรูปลักษณ์การแต่งกายสง่างาม ฝีมือสัประยุทธ์เป็นเลิศ และมีความซื่อสัตย์ ทำการโดยไม่เห็นแก่ลาภยศ พร้อมมีสติปัญญาเป็นเยี่ยม

ข้อแตกต่างระหว่างนวนิยายกับประวัติศาสตร์

ในจดหมายเหตุชีวประวัติจูล่งของเฉินโซ่ว ซึ่งเป็นบันทึกประวัติศาสตร์สามก๊ก มีข้อแตกต่างกับเรื่องราวของจูล่งในนิยายบางจุด เช่น ในประวัติศาสตร์นั้นจูล่งไม่เคยเป็นทหารของอ้วนเสี้ยว แต่อยู่กับกองซุนจ้านมาแต่แรก และจูล่งก็เข้ามาอยู่ในกองทัพของเล่าปี่หลังจากได้พบกับเล่าปี่ครั้งแรก แต่ยังเป็นเพียงทหารชั้นผู้น้อย จูล่งช่วยเหลืออาเต๊าที่ทุ่งเตียงปันจริง แต่ไม่ได้เกิดเหตุการณ์ที่เขาช่วยแย่งอาเต๊ากลับมาจากซุนฮูหยิน[2]

จูล่งมีบุตรชาย 2 คน ซึ่งปรากฏตัวออกมาในตอนที่มาแจ้งข่าวแก่ขงเบ้งว่าจูล่งถึงแก่ความตายแล้วก็ไม่ปรากฏบทบาทใด ๆ อีก นอกจากกล่าวว่าบุตรคนโตคือเตียวต๋งได้รับตำแหน่งของจูล่งต่อมา ส่วนบุตรคนรองคือเตียวกองได้เป็นแม่ทัพคอยติดตามเกียงอุยออกศึก และไม่ได้มีการกล่าวถึงแน่ชัดว่าจูล่งมีบุตรตั้งแต่เมื่อใด อย่างไรก็ตาม ตัวละครอื่น ๆ ในสามก๊กก็แทบไม่มีบันทึกเรื่องราวเหล่านี้ แม้กระทั่งเล่าปี่เอง ในจดหมายเหตุชีวประวัติชีซีก็ยังมีจุดที่แสดงว่าเล่าปี่เคยมีบุตรมาก่อนอาเต๊าหลายคน แต่นิยายไม่ได้กล่าวถึงเลย

เกี่ยวกับภรรยาของจูล่ง เหตุที่ได้รับความสนใจกันมากนอกเหนือจากเพราะบทบาทของบุตรชายทั้งสองคนซึ่งออกมาหลังจากจูล่งสิ้นแล้ว อาจเพราะมีนิยายสามก๊กในฉบับของ Zhou Dahuang ซึ่งมีชื่อว่า Fan Sanguo Yanyi (反三國演義) ซึ่งเป็นการเสริมเติมฉบับของหลอก้วนจง และแต่งให้ปรากฏบทบาทของภรรยาจูล่ง นั่นคือ ม้าหยุนลู่ (Ma Yunlu) บุตรีของม้าเท้งและเป็นน้องสาวของม้าเฉียว ซึ่งมีความเก่งกล้าสามารถในการรบไม่แพ้พ่อและพี่ชาย โดยกล่าวว่าด้วยความเก่งกล้าและห้าวหาญในการรบและขี่ม้าของเธอทำให้บิดารู้สึกกังวลว่าเธอจะไม่อาจหาสามีที่คู่ควรได้จนกระทั่งอายุ 22 ปี เธอจึงได้พบกับจูล่ง แล้วจึงแต่งงานกันโดยมีเล่าปี่เป็นพยานและขงเบ้งกับหวดเจ้งเป็นพ่อสื่อให้ จากนั้นเธอก็ช่วยเหลือสามีทำงานรับใช้เล่าปี่และจ๊กก๊กอย่างเต็มกำลัง[3]

สำหรับตำแหน่งทางทหาร ในบันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่าจูล่งมีตำแหน่งทางทหารต่ำสุดในบรรดา ห้าขุนพลทหารเสือของจ๊กก๊ก ซึ่งเป็นการยกย่องให้เกียรติอย่างสูง ได้แก่ กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียว ฮองตง จูล่ง

แต่เฉินโซ่ว ผู้บันทึกจดหมายเหตุสามก๊ก ได้ให้การยกย่องจูล่งและฮองตงไว้สูงสุด เหนือกว่ากวนอู เตียวหุย และม้าเฉียว โดยวิจารณ์ไว้ในท้ายชีวประวัติของทั้งห้าคนซึ่งรวมไว้ในบรรพเดียวกัน โดยชี้ว่า ขุนพลทั้งห้ามีความโดดเด่น เปี่ยมด้วยความสามารถและชื่อเสียงอันเกรียงไกร แต่ก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป ดังนี้

"กวนอูและเตียวหุยมีความห้าวหาญ มุทะลุ ทรงพลัง เป็นที่หวาดเกรงของทหารข้าศึก และเป็นที่เลื่องลือว่าพวกเขาทั้งสองสามารถสู้ศึกได้นับหมื่น แต่อย่างไรเสีย กวนอูนั้นมีความแข็งกร้าวและหยิ่งทระนงในตัวเองมากเกินไป ส่วนเตียวหุยนั้นใจร้อนและปราศความเมตตาปราณี ผลสุดท้ายพวกเขาจึงต้องพบจุดจบ ส่วนม้าเฉียวนั้นโดนวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าได้ทรยศต่อญาติพี่น้องและเผ่าพันธุ์ของตนเอง อีกทั้งยังปราศจากซึ่งความกล้าหาญโดยแท้จริง"

"สำหรับจูล่งและฮองตงนั้น บุคคลทั้งสองเปี่ยมด้วยความกล้าหาญและซื่อสัตย์ภักดี เป็นยอดขุนพลที่ดีของผู้เป็นนาย เปรียบประดุจเขี้ยวเล็บและฟันของสัตว์ร้าย พวกเขาทั้งสองจึงสมควรที่จะเปรียบเทียบได้กับขุนพลยุคโบราณที่ยิ่งใหญ่อย่างกวนหยินและแฮหัวหยินได้มิใช่หรอกหรือ"[4]

จูล่งยังควบตำแหน่งองครักษ์ของเล่าเสี้ยนด้วย โดยตำแหน่งทางทหารของจูล่งหลังจากได้รับการยกย่องเป็นห้าทหารเสือคือ General Guardian of Distant (นายพลผู้พิทักษ์ดินแดน) ภายหลังจากขงเบ้งยกทัพบุกภาคเหนือ ตำแหน่งของจูล่งขณะนั้นและเป็นตำแหน่งสูงสุดขณะมีชีวิตคือ Marquis of Shunping และได้เลื่อนยศขึ้นอีกหลังจากสิ้นไปแล้ว เป็น Lord of Shunping[5] แล้วยังมีบันทึกเพิ่มเติมว่า ในระหว่างเล่าปี่มีชีวิตอยู่มีเพียงหวดเจ้งคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการอวยยศย้อนหลัง ส่วนจูล่งกว่าจะได้รับการอวยยศก็คือปี ค.ศ.261 ส่วนในนิยายได้กล่าวว่าเล่าเสี้ยนอวยยศย้อนหลังให้หลังจากจูล่งสิ้นในปีนั้น[6]

ในจดหมายเหตุสามก๊ก ระบุว่าในปีเจียนอันที่ 24 หลังจากเล่าปี่สถาปนาตนเองเป็น ฮั่นจงอ๋อง แล้วก็ตั้ง กวนอูเป็นแม่ทัพหน้า เตียวหุยเป็นแม่ทัพขวา ม้าเฉียวเป็นแม่ทัพซ้าย และฮองตงเป็นแม่ทัพหลัง ไม่ปรากฏชื่อของจูล่งเลย ภายหลังเมื่อมีการอวยยศย้อนหลังนั้น เล่าเสี้ยนอวยยศย้อนหลังให้เพียง กวนอู เตียวหุย ม้าเฉียวและฮองตงเท่านั้น จนกระทั่งเกียงอุยเข้ามาทักท้วงว่าจูล่งมีผลงานมากมายรวมถึงช่วยเล่าเสี้ยนตอนเป็นทารกออกมาจากกองทัพโจโฉ จึงควรอวยยศย้อนหลังให้จูล่งด้วย เล่าเสี้ยนจึงได้อวยยศย้อนหลังให้จูล่งด้วย[6]