ความเป็นมา ของ ชายแดนไทย–กัมพูชา

ในยุคก่อนหน้าที่รัฐชาติจะใช้เส้นเขตแดนเป็นการกำหนดเขตแดน ประเทศไทยและกัมพูชาไม่ได้มีอาณาเขตระหว่างกันที่ชัดเจนมากนัก ซึ่งแนวคิดของเส้นเขตแดนได้เข้ามาพร้อมกับประเทศอาณานิคมจากตะวันตก[4] โดยมีการเสียดินแดนเขมรส่วนนอกซึ่งขณะนั้นเป็นประเทศราชของไทยในปี พ.ศ. 2410 ให้ขึ้นเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ต่อมาในปี พ.ศ. 2449 ได้ทำสัญญายกพื้นที่มณฑลบูรพา ประกอบด้วยเมืองพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณให้กับฝรั่งเศส เพื่อแลกกับจังหวัดตราด และพื้นที่ทางทะเลที่อยู่ใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดที่ฝรั่งเศสได้เข้ามายึดครอง[5][4]

สำหรับพรมแดนไทย–กัมพูชานั้น เป็นผลมาจากการปักปันเขตแดนร่วมกันระหว่างประเทศสยาม (ประเทศไทยในขณะนั้น) และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมของกัมพูชาในขณะนั้น ออกมาเป็นอนุสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2450 และพิธีสารแนบท้าย โดยได้จัดทำแผนที่เพื่อแสดงเส้นเขตแดนไว้จำนวน 2 ชุด[1] ประกอบไปด้วย

  • แผนที่ 11 ระวาง จัดทำขึ้นมาตามอนุสัญญาที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2447
  • แผนที่ 5 ระวาง จัดทำขึ้นมาตามอนุสัญญาที่ทำขึ้นในปี พ.ศ. 2450

นอกจากนี้ได้มีการดำเนินการปักหลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาไว้จำนวน 73 หลัก ระหว่างปี พ.ศ. 2452 - 2453 และปี พ.ศ. 2462 - 2463 ในแต่ละหลักมีการบันทึกวาจาปักหลักหมายเขตประกอบ (Procès-verbal d'abornement)[1]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 ประเทศไทยในการนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม[4] ที่ดำเนินนโยบายชาตินิยมเป็นหลักซึ่งขณะนั้นประเทศฝรั่งเศสที่เป็นเจ้าอาณานิคมขณะนั้นเริ่มอ่อนแอลง จึงได้ขอปรับปรุงเขตแดนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในอดีต หลังจากลงสัตยาบันในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกันเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ที่ทำร่วมกันกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ทำให้เกิดกรณีพิพาทอินโดจีนที่มีการรบกันระหว่างประเทศไทยและฝรั่งเศส กระทั่งปลายปี พ.ศ. 2483 ญี่ปุ่นได้เข้ามาไกล่เกลี่ยและทำอนุสัญญากรุงโตเกียว พ.ศ. 2484 ทำให้ประเทศไทยได้ดินแดน ไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ และพระตะบอง กลับมาในการดูแล[4] กระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องมอบดินแดนดังกล่าวให้กับฝรั่งเศสอีกครั้ง ตามความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (Accord de rėglement Franco-Siamois) พ.ศ. 2489[6] หรือรู้จักในชื่ออนุสัญญากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เนื่องจาประเทศญี่ปุ่นตกเป็นผู้แพ้สงคราม และไทยที่มีสถานะเป็นกลางจากการปฏิบัติงานของเสรีไทย หากจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติจะต้องทำตามข้อตกลงดังกล่าว[7] ทำให้พรมแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชากลับสู่สภาพเดิมตามที่เคยทำอนุสัญญาไว้กับประเทศฝรั่งเศสอีกครั้ง[4]

การปักปันเขตแดน

จากสนธิสัญญาดังกล่าว ปัจจุบันรัฐบาลไทยและกัมพูชาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ไทย - กัมพูชา (Joint Boundary Commission) เพื่อเป็นกลไกในการหารือการปักปันเขตแดนซึ่งขณะนี้ยังคงดำเนินการอยู่เนื่องจากแนวเขตแดนยังไม่ได้รับการปักปันอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่[8]

ความขัดแย้ง

หลังจากกัมพูชาได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2496 ได้มีปัญหาระหว่างพรมแดนไทยกับกัมพูชาหลายครั้ง อาทิ

ปราสาทพระวิหาร

เขตปลอดทหารชั่วคราว ตามคำสั่งศาลฯ

คดีปราสาทพระวิหาร ที่กัมพูชากล่าวหาว่าประเทศไทยครอบครองสิทธิเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารโดยมิชอบ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก และมีผลการตัดสินในปี พ.ศ. 2505 ว่า

"...ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตกัมพูชา ไทยมีพันธกรณีต้องถอนทหารหรือตำรวจที่ประจำอยู่ที่นั่น และให้คืนวัตถุที่นำออกจากปราสาทตั้งแต่ปี 2497 แก่กัมพูชา..."

โดยฝ่ายไทยได้ประท้วงและสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องปราสาทพระวิหารกลับคืนในอนาคต ทำให้เกิดการประทะกันตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ด้วยกำลังทหารในช่วงปี พ.ศ. 2551 ส่งผลมาถึงการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารอีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 โดยศาลโลกได้ตัดสินยืนตามคำสั่งเดิมเฉพาะตัวปราสาท ไม่รับการตีความพื้นที่พรมแดนโดยรอบปราสาท รวมถึงได้สั่งให้ถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวโดยรอบปราสาท

เกาะกูด

พื้นที่เกาะกูด เป็นพื้นที่ที่ถูกกล่าวอ้างถึงการทับซ้อนระหว่างพรมแดนทางทะเลระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งมีพื้นที่ทับซ้อนกันทางทะเลมากกว่า 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร[9] โดยส่งผลถึงการจัดการสัมปทานแหล่งพลังงานในพื้นที่ทางทะเลดังกล่าว

ฝั่งไทยยืนยันว่าเกาะกูดไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นพื้นที่ของประเทศไทย ตามสนธิสัญญาในปี พ.ศ. 2513[10] ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ประเทศฝรั่งเศส เจ้าอาณานิคมที่ปกครองกัมพูชาในขณะนั้นมีการระบุถึงการยกเกาะกูดให้กับประเทศไทย เพื่อป้องกันปัญหาการอ้างสิทธิในอนาคต[9] มีข้อความว่า

"...รัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้ายแลเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่ง อยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม..."[10]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชายแดนไทย–กัมพูชา http://www.fad.moi.go.th/index.php/%E0%B8%82%E0%B9... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/D/... http://www.mkh.in.th/index.php?option=com_content&... https://www.baanjomyut.com/library_2/extension-2/h... https://www.ryt9.com/s/cabt/2472100 https://www.sarakadee.com/2010/10/22/pratabong-sia... https://www.tcijthai.com/news/2012/10/archived/196 https://www.cia.gov/the-world-factbook/countries/t... https://www.komchadluek.net/news/29886 https://tna.mcot.net/tna-435317