ชาวจามในไทย ของ ชาวจาม

ดูบทความหลักที่: ไทยเชื้อสายจาม

แขกจามในไทยสะสมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ชาวจามเหล่านี้น่าจะถูกกวาดต้อนมาจากดินแดนของตัวเอง (เวียดนามปัจจุบัน) ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แล้วตั้งถิ่นฐานอยู่ในปริมณฑลของนครธม จนเมื่อถูกเจ้าสามพระยาโจมตีจึงเริ่มถูกกวาดต้อนมาอยู่อยุธยา ในช่วงสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่สอง ชุมชนชาวจามนี้ก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งในการสู้รบกับการรุกรานของพม่าด้วย แต่ภายหลังการหลังเสียกรุง ชาวจามที่เหลือรอดได้เข้าสวามิภักดิ์กับพระเจ้ากรุงธนบุรี และได้ตั้งถิ่นฐานที่บ้านครัว ในรัชกาลพระเจ้ากรุงธนบุรี มีการรุกรานเขมรและกวาดต้อนครัวจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวเพิ่มอีก

ในสงคราม 9 ทัพ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้มีการเกณฑ์เชลยศึกกองทัพอาสาจามไปต่อสู้กับพม่าจนได้รับชนะ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่ดินผืนหนึ่ง เพื่อให้ทำมาหากินอยู่รวมกันเป็นหมู่นอกเขตพระนคร โดยมีต้นไม้ใหญ่เป็นแนวเขต และมีร่องน้ำลำกระโดงตามธรรมชาติไหลผ่านริมคลองมหานาคและคลองแสนแสบ คือชุมชนบ้านครัว เขตปทุมวันในปัจจุบัน[8]

หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนเกี่ยวกับชาวจามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ที่บ้านครัวเป็นแหล่งที่อยู่ของขุนนางและทหารเรือของกรมอาสาจาม ภายใต้การนำของ พระยาราชวังสัน (บัว) ชาวบ้านครัวมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง หญิงชาวจามมีความชำนาญในเรื่องการทอผ้าไหมมาก หญิงบ้านครัวจึงทอผ้าเป็นหัตถกรรมในระยะแรก เพราะตามประเพณีดั้งเดิมของชาวจามจะทอผ้าเอาไว้ใช้เองในครอบครัว [9]

อีกกลุ่มหนึ่ง ลงเรือมาขึ้นปากอ่าวลำคลองท่าตะเภา และปากอ่าวคลองน้ำเชี่ยว อยู่ตำบลน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด อีกกลุ่มขึ้นปากน้ำระยอง และกลุ่มที่สามไปถึงกรุงเทพฯ กลุ่มนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานที่ดินให้อยู่ที่บ้านครัว เขตปทุมวัน มาจนทุกวันนี้