ประวัติศาสตร์ ของ ชาวจาม

รูปสลักในปราสาทบายนเป็นรูปชาวจามบนเรือ และซากศพศัตรูชาวขอมในน้ำ

ชาวจามเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมใกล้เคียงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยในอดีตชาวจามได้ก่อตั้งอาณาจักรจามปา ซึ่งในอดีตพื้นที่ของอาณาจักรจะครอบคลุมเมืองเว้ กว่างนาม ถัวเถียน ฟานรัง และญาจาง ของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน

ราว พ.ศ. 989 กองทัพจีนยกทัพมาตีราชธานีวิชัย (เมืองบิญดิ่ญในปัจจุบัน) ได้สำเร็จช่วงนี้ชาวจีนที่มีชื่อ หม่าตวนหลิน เข้ามาบันทึกเรื่องชาวหลินอี้ (ชาวจาม) ความว่า

...สร้างบ้านด้วยอิฐฉาบปูน หญิงและชายมีผ้าฝ้ายผืนเดียวห่อหุ้มร่างกาย ชอบเจาะหูและห้อยห่วงเล็ก ผู้ดีใส่รองเท้าหนัง ไพร่เดินเท้าเปล่า พระราชาสวมพระมาลาทรงสูง ทรงช้าง และล้อมรอบด้วยบริพารถือธงและกลดกั้น

– หม่าตวนหลิน

อาณาจักรจามปา รุ่งเรืองสูงสุดช่วงพุทธศตวรรษที่ 14-15 แต่ช่วงปลายต้องกรำศึกสงครามกับอาณาจักรไดเวียดทางทิศเหนือ และอาณาจักรขอมโบราณกระหนาบทางทิศใต้อย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 1688 พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้ที่สร้างนครวัด เข้ายึดครองเมืองหลวงได้ ต่อมา ชาวจามปารวมตัวกันติด จัดกองทัพยกมาตีเอาเมืองเมืองหลวงคืนได้ พ.ศ. 1692

ใน พ.ศ. 1720 กองทัพเรือจามปายังยกพลขึ้นบกเข้าโจมตีและปล้นสะดม เผาทำลายเมืองพระนครเสียหายยับเยิน อำนาจอาณาจักรนครหลวงเสื่อมไประยะหนึ่ง จนถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1763?) พระองค์ได้กระทำสงครามปราบกษัตริย์จามปาสำเร็จ โดยปรากฏมีภาพสลักยุทธนาวีกับกองทัพจาม ณ ปราสาทนครธมด้วย โดยได้ผนวกอาณาจักรจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรขอมโบราณถัดจากพระองค์นี้ อาณาจักรก็อ่อนแอลงเรื่อยมา

แม้ชาวอาณาจักรจามปาพยายามรวมตัวถือโอกาสปลดแอกจากอาณาจักรขอมได้สำเร็จ แต่ต่อมาก็ถูกอาณาจักรไดเวียด พ.ศ. 2014 กษัตริย์เลถั่นตองแห่งไดเวียดส่งทัพตีเมืองหลวงวิชัย ยึดสำเร็จ กระทั่ง พ.ศ. 2375 สมเด็จพระจักรพรรดิมิงห์หม่างจึงได้ผนวกดินแดนส่วนที่เหลือของจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม และกลืนชาวจามจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อย

ระหว่างสงครามทำลายล้างชาวจามของขอม และไดเวียดนั้น ชาวจามบางส่วนอพยพเข้าสู่ดินแดนสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199 - 2231) จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้มีผู้อพยพชาวจามเข้ามามากที่สุดอีกช่วงหนึ่ง คือเมื่อฝรั่งเศสเข้ายึดครองกัมพูชาเมื่อกว่า 100 ปีก่อน โดยได้บีบบังคับห้ามนับถือศาสนาอิสลาม ชาวจามจึงเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ไทย[ต้องการอ้างอิง]