ประวัติ ของ ชาวดุงกาน

ชาวดุงกานกลุ่มแรกมาจากเมืองกุลจาและเมืองคัชการ์เข้าไปตั้งถิ่นฐานแถบหุบเขาเฟอร์กานาในเอเชียกลางเพราะถูกโจรจับมาเป็นทาส ส่วนใหญ่ชาวดุงกานทำงานอยู่ในเรือนของผู้มั่งมี แต่หลังรัสเซียพิชิตเอเชียกลางได้เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 19 รัสเซียเลิกทาส แต่หญิงดุงกานส่วนใหญ่ยังคงถูกกักตัวไว้ดังเดิม วาลีดีมีร์ เปโตรวิช นาลิฟคิน (Validimir Petrovich Nalivkin) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวรัสเซียและภรรยาบันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ ความว่า "นางทาสีส่วนใหญ่ยังคงถูกกักตัว เพราะพวกนางสมรสกับพวกคนงานและคนรับใช้ของอดีตเจ้านาย หรืออาจเป็นเพราะพวกนางยังเด็กเกินไปที่จะออกไปมีชีวิตอิสระ"[10] นางทาสดุงกานถือเป็นคนชั้นต่ำและถูกดูแคลนอย่างยิ่งในเมืองบูคารา[11]

โจรตุรกีมุสลิมที่จับคนมาเป็นทาสจากเมืองโคคันด์ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างชาวหุยมุสลิมกับชาวฮั่น และการที่พวกเขาขืนใจให้ชาวหุยมุสลิมเป็นทาสถือเป็นการฝ่าฝืนศาสนาอิสลาม[12][13] ช่วงการก่อกำเริบอาฟากี โคจา (ช่วงต้นหรือกลางศตวรรษที่ 19) จาฮันกีร์ โคจา (Jahangir Khoja) ชาวเติร์กมุสลิมยกทัพจากรัฐข่านโคคันด์ไปตีเมืองคัชการ์ แล้วกวาดต้อนมุสลิมจีนหลายร้อยคนไปไว้ที่เมืองโคคันด์ มีชาวทาจิกซื้อทาสชาวจีนสองคนจากส่านซีไปกดขี่ข่มเหงราวหนึ่งปี ก่อนได้รับการสงเคราะห์จากเบก กู-พู-เทอ (Beg Ku-bu-te) ส่งกลับเมืองจีน[14] นอกจากนี้มีพ่อค้าและทหารชาวดุงกานประมาณ 300 คนถูกพวกจาฮันกีร์จับที่เมืองคัชการ์ พวกเขาถูกตัดผมเปียออกแล้วส่งไปเมืองโคคันด์และเอเชียกลางในฐานะคนโทษ[15][16] มีรายงานว่าเชลยส่วนใหญ่นี้ตกเป็นทาส และพบว่ามีบัญชีทาสเชลยของเอเชียกลางเพิ่มขึ้น[17][18] ผมเปียของคนโทษเหล่านี้จะถูกขาย มีคนจำนวนไม่น้อยหนีข้ามไปยังแดนของรัสเซียก่อนถูกส่งกลับจีน ดังปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกการจับกุมในเอกสารจีน[19][20] ส่วนเอกสารรัสเซียบันทึกไว้ว่าพวกเขาช่วยพ่อค้าจีนมุสลิมซึ่งถูกกองทัพของจาฮันกีร์กุมตัวไปไว้ในเอเชียกลาง พวกเขาจึงหลบหนีมาในแดนรัสเซีย และส่งพวกเขากลับแดนจีน[21]

ส่วนชาวดุงกานในสหภาพโซเวียตคือชาวหุยที่ลี้ภัยออกจากจีนหลังเกิดสงครามชนกลุ่มน้อยหุยในศตวรรษที่ 19 จากข้อมูลของริมสกี-คอร์ซาคอฟ (Rimsky-Korsakoff) พบว่ามีชาวหุยสามกลุ่มข้ามแดนไปยังจักรวรรดิรัสเซียทางเทือกเขาเทียนชานในฤดูหนาวหฤโหดช่วง ค.ศ. 1877–1878 ได้แก่

  1. กลุ่มแรกนำโดยหม่า ต้าเหริน (马大人) หรือหม่าต้าเหล่าเย่ (马大老爷) อพยพจากเมืองตูร์ปัน ราว 100 คน ลงหลักปักฐานที่เมืองออช ทางใต้ของประเทศคีร์กีซสถาน
  2. กลุ่มสองนำโดยอิหม่ามหม่า ยูซุฟ หรือหม่า ยู่ซู่ฟู (马郁素夫) หรืออาเย่เหล่าเหริน (阿爷老人) อพยพจากเมืองตี๋เต้าโจว (狄道州) มณฑลกานซู่ มีประชากรเมื่อถึง 1,130 คน ลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านอีร์ดึค (Ирдык, Ырдык) 15 กิโลเมตรจากเมืองคาราคอล ทางตะวันออกของประเทศคีร์กีซสถาน
  3. กลุ่มสามนำโดยไป๋ ย่านหู่ (白彥虎) หรือหู่ต้าเหริน (虎大人) อพยพจากส่านซี มีประชากรเมื่อมาถึง 3,314 คน ลงหลักปักฐานที่หมู่บ้านคาราคูนุซ (ปัจจุบันชื่อมาซันชี) ในจังหวัดจัมบิล ทางใต้ของประเทศคาซัคสถานต่อชายแดนประเทศคีร์กีซสถาน

ช่วง ค.ศ. 1880 มีคลื่นการอพยพใหม่ของชาวจีนสู่เอเชียกลาง หลังข้อกำหนดในสนธิสัญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ค.ศ. 1881 ซึ่งกำหนดให้ถอนทหารรัสเซียออกจากแอ่งอีลี่ตอนบน (แถบเมืองกุลจา) ชาวดุงกาน (หุย) และตารันชี (อุยกูร์) ได้รับอนุญาตให้ย้ายเข้าไปอยู่ในแดนของจักรวรรดิรัสเซีย จากบันทึกสถิติของรัสเซียพบว่ามีชาวหุยย้ายเข้ารัสเซีย 4,682 คน และมีการอพยพเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ช่วง ค.ศ. 1881 และ 1883 โดยตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านโซคูลุค (Сокулук) ซึ่งห่าง 30 กิโลเมตรทางตะวันตกของบิชเคก

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวดุงกาน http://stat.kg/images/stories/docs/tematika/demo/G... http://www.stat.kg/Rus/Home/census.pdf http://www.eurasianet.org/node/60892 http://www.ecsocman.edu.ru/images/pubs/2005/06/13/... http://www.perepis2002.ru/index.html?id=17 http://2001.ukrcensus.gov.ua/eng/results/general/n... https://books.google.com/?id=QVSVux0wIW0C&pg=PA209... https://books.google.com/?id=XYZVvJSdLBkC&pg=PA25&... https://books.google.com/?id=nQbylEdqJKkC&pg=PA15&... https://books.google.com/?id=nQbylEdqJKkC&pg=PA45&...