ชินบุตสึชูโง
ชินบุตสึชูโง

ชินบุตสึชูโง

ชินบุตสึชูโง (ญี่ปุ่น: 神仏習合 โรมาจิShinbutsu-shūgō) หรือ ชินบุตสึคงโก (ญี่ปุ่น: 神仏混淆 โรมาจิShinbutsu-konkō) เป็นการผสานความเชื่อระหว่างลัทธิชินโตกับศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น กระทั่งยุคเมจิเมื่อ ค.ศ. 1868 มีการออกกฎหมายแยกการบูชาเทพเจ้าพื้นเมืองญี่ปุ่นออกจากศาสนาพุทธศาสนาพุทธซึ่งมีต้นสายจากดินแดนชมพูทวีป เผยแผ่เรื่อยมาผ่านจีนและเกาหลีจากนักบวชเกาหลี[1][2] เข้าประดิษฐานในแผ่นดินญี่ปุ่นในยุคอาซูกะ ตรงกับคริสต์ศตวรรษที่ 6 เมื่อชาวญี่ปุ่นรับศาสนาใหม่เข้ามา ก็มีการปรับความเชื่อระหว่างลัทธิชินโตที่เป็นความเชื่อพื้นเมืองกับศาสนาพุทธที่เป็นความเชื่อใหม่ มีการสร้างพุทธสถาน (寺) รวมเข้ากับศาลเจ้าชินโต (神社) เรียกว่าจิงงูจิ (神宮寺) รวมทั้งมีการเคารพบูชาทั้งเทวรูปชินโตและพระพุทธรูปอย่างกลมเกลียว จะเห็นได้ว่าศาสนาพุทธส่งอิทธิพลอย่างสูงต่อศาสนาพื้นเมือง อย่างชื่อและโครงสร้างศาลเจ้านั้นได้รับอิทธิพลจากอารามในศาสนาพุทธ[3] การแยกศาสนาพุทธออกจากลัทธิชินโตเกิดขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่การนับถือศาสนาอย่างปะปนกันของชาวญี่ปุ่นยังดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน[4] จากการสำรวจของทบวงวัฒนธรรมญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2558 พบว่าชาวญี่ปุ่นนับถือลัทธิชินโตร้อยละ 70.4 และศาสนาพุทธร้อยละ 69.8 หรือก็คือชาวญี่ปุ่นยังคงนับถือทั้งสองศาสนาปะปนกัน[5][6][7][8][9]ชื่อ "ชินบุตสึชูโง" เกิดขึ้นช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อกล่าวถึงการผสานความเชื่อระหว่างเทพเจ้าชินโตกับพระพุทธเจ้า ที่แตกต่างออกไปจากศาสนาพุทธในปัจจุบัน[10] นอกจากนี้คำนี้ยังมีความหมายเชิงลบ เช่น "การเปลี่ยนแปลงจนต่างไปจากเดิม" (bastardization) หรือ "การนับถืออย่างไม่เฉพาะเจาะจง" (randomness)[11]