ผู้รจนา ของ ชินาลังการ

มีมติแบ่งออกเป็น 2 สายเกี่ยวกับผู้รจนาคัมภีร์นี้ สายแรกระบุว่า พระพุทธรักขิตะเป็นผู้รจนา ขณะที่อีกสายระบุว่า พระพุทธทัตตะเป็นผู้รจนา พระคันธสาราภิวงศ์ ผู้แปลชินาลังการฉบับปี 2552 ระบุว่า พระพุทธรักขิตะชาวโรหนชนบทในเกาะลังกาเป็นผู้รจนาเมื่อพุทธศตวรรษที่ 17 โดยชี้ว่า ตอนท้ายของคัมภีร์ (คาถาที่ 273 - 275) ระบุนามพระพุทธรักขิตะเป็นผู้รจนาชินาลังการ [2]

ขณะที่ Kenneth Roy Norman แสดงทัศนะว่า ผู้ที่รจนาน่าจะเป็นพระพุทธทัตตะ โดยอ้างหลักฐานจากคัมภีร์คันธวงศ์ ที่ระบุว่า ชินาลังการรจนาขึ้นโดยพระพุทธทัตตะตามคำอาราธนาของพระสังฆปาลเถระ นอกจากนี้คัมภีร์คันธวงศ์ยังระบุว่า คัมภีร์ฎีกาของชินาลังการซึ่งใช้ชื่อเดียวกันนั้น รจนาขึ้นโดยพระพุทธรักขิตะ พร้อมทั้งระบุว่า ด้วยว่า ฎีกาฉบับใหม่ หรือ นวะฎีกา ของคัมภีร์นี้ รจนาขึ้นโดยพระภิกษุชาวสิงหลนิรนามรูปหนึ่ง [3]

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์สัทธัมมสังคหะ กลับระบุในบานแผนกว่า ผู้รจนาชินาลังการ คือพระพุทธรักขิตะเมื่อพ.ศ. 1700 ซึ่ง Kenneth Roy Norman ระบุว่า บานแผนกนี้ได้ถูกอ้างอีกครั้งในคัมภีร์ชินากาลมาลี แล้วยังมีการอ้างถึง ชินาลังการวัณณะนา Norman ใช้หลักฐานนี้ยืนยันว่า ชินลังการน่าจะแต่งขึ้นโดยพระพุทธทัตตะมากกว่า ส่วนพระพุทธรักขิตะ น่าจะเป็นผู้รจนาชินาลังการวัณณะนา หรือชินาลังการฎีกา [4]

กระนั้น ก็ยังมีประเด็นปัญหาอยู่ว่า พระพุทธทัตตะท่านใดที่รจนาชินาลังการ ระหว่างพระพุทธทัตตะผู้รจนาคัมภีร์บรรยายสังเขปเนื้อหาในพระวินัยและพระอภิธรรม และพระพุทธทัตตะ ชาวแคว้นโจฬะ ในอินเดียใต้ ผู้รจนาคัมภีร์มธุรัตถะวิลาสินี อย่างไรก็ตาม ความคิดเห็นส่วนใหญ่โน้มเอียงไปทางท่านหลังมากกว่า [5] [6]