เรื่องราว ของ ชีวกโกมารภัจจ์

บุตรที่ถูกทิ้ง

เอกสารภาษาบาลีซึ่งเป็นเอกสารเก่าแก่ที่สุด[9][2] รวมถึงเอกสารภาษาจีนอย่างธรรมคุปตกะและอามรปาลิชีวกอวทานสูตร[10] ระบุว่า ชีวกะเกิดในราชคฤห์ เมืองหลวงของมคธซึ่งมีพระเจ้าพิมพิสารเป็นพระมหากษัตริย์ มารดาของชีวกะเป็นหญิงงามเมือง พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีและฉบับธรรมคุปตกะระบุนามของนางว่า "สลาวตี" (หรือ "สาลวดี" ในฉบับภาษาไทย) หญิงงามเมืองนั้นเมื่อคลอดบุตรชายแล้วก็ให้คนรับใช้นำบุตรไปทิ้งขยะ Jonathan Silk มองว่า เหตุผลที่นางทิ้งบุตรชาย คงเพราะเห็นว่า มีประโยชน์น้อยกว่าบุตรหญิง (ที่จะได้เอามาเลี้ยงเป็นหญิงงามเมืองเหมือนกัน)[11] ส่วน Y.B. Singh อธิบายว่า นางคงเกรงว่า การมีบุตรจะทำให้ชื่อเสียงและรายได้ในฐานะหญิงงามเมืองของนางถดถอย[12]

เอกสารบาลีว่า เมื่อชีวกะถูกมารดานำมาทิ้งไว้บนกองขยะแล้ว อภัยราชกุมาร พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จมาพบเข้า และตรัสถามคนรอบข้างว่า เด็กนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือ ผู้คนทูลว่า ยังมีชีวิตอยู่ เจ้าชายอภัยราชกุมารจึงทรงเก็บเด็กนั้นมาเลี้ยง ประทานนามว่า "ชีวกะ" แปลว่า "ผู้มีชีวิต"[9][13] เอกสารภาษาบาลีกล่าวอีกว่า ชีวกะได้ชื่อที่สองว่า "โกมารภัจจ์" อันแปลว่า "ผู้รับใช้กุมาร" นั้น เนื่องจากพระราชกุมารทรงเลี้ยงดูอุ้มชูมา แต่นักวิชาการแย้งว่า ชื่อนี้น่าจะมีที่มาจากคำเรียกกุมารแพทย์ตามตำราอายุรเวทของอินเดียโบราณ มากกว่า[1][14]

ตามเอกสารบาลี เมื่อชีวกะเติบใหญ่ขึ้น เขาค้นพบชาติกำเนิดอันต่ำต้อยของตน และตกลงใจจะเรียนให้สูงเพื่อทดแทนภูมิหลังดังกล่าว[13] เขาจึงเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์ โดยมิได้แจ้งเจ้าชายอภัยราชกุมาร[15][9]

เอกสารสมัยต่อ ๆ มา เช่น ชีวกสูตรของจีน เจียระไนเรื่องให้ดึงดูดผู้อ่านมากขึ้น โดยระบุว่า อามรปาลี หญิงงามเมืองซึ่งภายหลังได้เป็นสาวกของพระโคตมพุทธเจ้านั้น เป็นมารดาของชีวกะ ส่วนบิดาของชีวกะซึ่งไม่ปรากฏชื่อในเอกสารสมัยก่อนหน้านั้นก็กลายเป็นพระเจ้าพิมพิสาร[16] เช่น เอกสารสันสกฤตและเอกสารทิเบตสมัยแรกที่แปลมาจากวัฒนธรรมมูลสรวาสติวาทระบุว่า ชีวกะเป็นโอรสลับของพระเจ้าพิมพิสารกับภริยาของพ่อค้าคนหนึ่ง[13][11][10] แต่เอกสารสันสกฤตและทิเบตไม่ระบุนามของภริยาพ่อค้าดังกล่าว และระบุว่า อามรปาลีเป็นมารดาของอภัยราชกุมาร พระโอรสอีกพระองค์ของพระเจ้าพิมพิสาร แทนที่จะเป็นมารดาของชีวกะ[10] เอกสารกลุ่มนี้ให้ข้อมูลว่า พระเจ้าพิมพิสารมีความสัมพันธ์ลับกับหญิงที่เป็นภริยาพ่อค้านั้น เมื่อทรงทราบว่า นางตั้งครรภ์ ก็ตรัสต่อนางว่า ถ้าคลอดเป็นชาย ให้นำมาถวายตัว จะได้ทรงชุบเลี้ยงในราชสำนัก เมื่อนางคลอดออกมาเป็นชาย คือ ชีวกะ นางจึงเอาทารกชายนั้นใส่หีบมาทิ้งไว้หน้าพระราชวัง พระเจ้าพิมพิสารก็ให้นำหีบนั้นเข้ามา และตรัสถามว่า เด็กในนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือ เมื่อข้าราชสำนักทูลตอบว่า ยังมีชีวิตอยู่ พระเจ้าพิมพิสารจึงเรียกเด็กนั้นว่า "ชีวกะ" อันแปลว่า "ผู้มีชีวิต"[11][10] นอกจากนี้ เอกสารสันสกฤตและทิเบตยังพยายามพรรณนาให้ชีวกะกลายเป็น "หมอเทวดา" เหมือนแพทย์จีนอย่างเปี่ยน เชฺว่ (扁䳍) และหฺวา ถัว (華佗) โดยใส่ปาฏิหาริย์เข้าไป เช่น กล่าวว่า ชีวกะเกิดมามีเข็มฉีดยาและสมุนไพรอยู่ในมือ[17] เอกสารสันสกฤตและทิเบตพรรณนาอีกว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงอุ้มชูชีวกะให้อยู่ในราชสำนักจนเติบใหญ่ เมื่อชีวกะพบแพทย์หลวงคนหนึ่ง ก็สนใจในวิชาแพทย์ จึงตัดสินใจไปตักษศิลาเพื่อเรียนแพทย์[18]

ส่วนพระวินัยของธรรมคุปตกะและชีวกสูตรของจีนกล่าวว่า ชีวกะเห็นว่า แพทย์ในวังหลวงมีความรู้น้อยกว่าตน จึงเดินทางไปตักษศิลาเพื่อเรียนวิชาแพทย์กับอาจารย์ที่เก่งกาจ[19]