แหล่งข้อมูล ของ ชีวกโกมารภัจจ์

ชีวิตของชีวกะนั้นปรากฏในเอกสารพุทธสมัยเริ่มแรกหลายฉบับ เช่น พระไตรปิฎกภาษาบาลี, เอกสารภาษาสันสกฤต, เอกสารภาษาจีน (อย่าง ธรรมคุปตกะ, มหีศาสกะ, และสรวาสติวาท ที่แปลจากต้นฉบับภาษาอินเดียเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล), และเอกสารภาษาทิเบต[1]

เอกสารเก่าแก่ที่สุดที่ว่าด้วยชีวิตของชีวกะนั้น คือ พระวินัยในพระไตรปิฎก ซึ่งสามารถกำหนดอายุย้อนไปได้ถึงราวครึ่งแรกของศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล พระวินัยนี้นอกจากมีส่วนที่ว่าด้วยกฎระเบียบทางการแพทย์แล้ว ยังบรรยายชีวิตและผลงานของชีวกะ ซึ่งได้รับการแปลออกเป็นหลายภาษา[2]

ส่วนพระไตรปิฎกภาษาจีนที่เรียกว่า "พระไตรปิฎกไทโช" นั้น มีเนื้อหาสองส่วนที่เกี่ยวกับชีวกะและไม่ได้อยู่ในพระวินัย คือ พระสูตรสองบทที่เรียกว่า "อามรปาลิชีวกสูตร" ซึ่งประพันธ์ขึ้นก่อนศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล กับ "อามรปาลิชีวกอวทานสูตร" ซึ่งประพันธ์ขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 7–10 พระสูตรทั้งสองใช้เอกสารภาษาสันสกฤตหรือเอกสารจากเอเชียกลางเป็นแหล่งข้อมูล เชื่อกันมาตลอดว่า ผู้ประพันธ์พระสูตรทั้งสอง ได้แก่ อาน ชื่อเกา (安世高) แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่า ความเชื่อนี้เป็นเพียงความพยายามจะทำให้พระสูตรดูเก่าแก่และมีความชอบธรรม นักวิชาการอย่าง C. Pierce Salguero เห็นว่า พระสูตรดังกล่าวน่าจะใช้แหล่งข้อมูลที่จู๋ ฝ่าฮู่ (竺法護) แปลมา รวมถึงพระวินัย และเอกสารพุทธสมัยหลังพระไตรปิฎก มากกว่า โดยเป็นการปรับปรุงให้เข้าถึงผู้อ่านที่เป็นฆราวาสมากขึ้น เพราะเนื้อหาในพระวินัยนั้นเน้นให้พระสงฆ์อ่าน อนึ่ง เป็นไปได้ว่า เนื้อหาของอามรปาลิชีวกสูตรนั้นประพันธ์ขึ้นโดยรวมเอาและบางทีตั้งใจจะใช้ทดแทนเรื่องราวจากพระวินัยในสมัยแรก ๆ ที่พบในมหีศาสกะและสรวาสติวาท ส่วนอามรปาลิชีวกอวทานสูตรก็น่าจะอ้างอิงอามรปาลิชีวกสูตรอีกที แต่ขยายความโดยใช้พระวินัยฉบับธรรมคุปตกะเป็นแหล่งข้อมูล[3]

นอกจากเอกสารข้างต้นแล้ว ยังมีเอกสารประเภทอวทานอีกหลายฉบับที่ว่าด้วยชีวกะ ทั้งยังปรากฏการอ้างถึงเขาในวรรณกรรมอินเดียหลายเรื่องที่ไม่ใช่ของพุทธศาสนา เช่น มาฐรวฤตติ ซึ่งเป็นคำอธิบายขยายความสางขยสูตร ตลอดจนกวีนิพนธ์แนวเสียดสีเรื่อง กเษเมนทระ ที่ประพันธ์ขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นภาษากัษมีร์[4]

นักวิชาการอย่าง Kenneth Zysk และ C. Pierce Salguero เปรียบเทียบเนื้อหาฉบับต่าง ๆ เกี่ยวกับชีวิตของชีวกะแล้ว เชื่อว่า ไม่มีฉบับไหนที่เป็นเนื้อหาดั้งเดิมเลย ชีวประวัติดั้งเดิมของชีวกะเป็นอย่างไรนั้นจึงไม่อาจรู้ได้ นอกจากนี้ ทั้งสองยังเห็นว่า เนื้อหาฉบับต่าง ๆ เหล่านี้ผ่านการปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับกับความนิยมในท้องถิ่น[5][2] ตัวอย่างเช่น Salguero เห็นว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ในพระสูตรเกี่ยวกับชีวกะซึ่งอยู่นอกพระวินัยนั้นเขียนขึ้นโดยอาศัยภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน ทั้งวิธีทางแพทย์ที่ทั้งพระวินัยและพระสูตรบรรยายว่า เป็นของชีวกะนั้น ก็ดูจะเป็นการแพทย์แผนจีนมากกว่าแผนอินเดีย[6][1] อนึ่ง คติสอนใจหลาย ๆ อย่างในเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของชีวกะนั้นก็ปรากฏว่า ดึงมาจากตำนานเกี่ยวกับแพทย์ชาวจีนหลายคน[7] Zysk เห็นว่า เอกสารฉบับภาษาบาลีนั้นมีความเป็นจริงมากกว่าเอกสารที่ได้รับอิทธิพลจากคติมหายานที่มีเนื้อหาไปในเชิงเวทมนตร์ปาฏิหาริย์เสียมาก เขายังเห็นว่า เอกสารภาษาทิเบตและสันสกฤตพรรณนาการรักษาโรคไว้มากกว่าที่ปรากฏในเอกสารอินเดียดั้งเดิมอย่างอายุรเวท เนื้อหาแต่ละฉบับยังบรรยายโรคภัยไว้ตามความเข้าใจในท้องถิ่นแล้วดำเนินเรื่องโดยให้หมอชีวกะมารักษา แต่ข้อความที่บรรยายในแต่ละฉบับก็คล้ายคลึงกันในหลายส่วนอยู่[8]