ซากโบราณถ้ำชิราโฮะซาโอเนตาบารุ
ซากโบราณถ้ำชิราโฮะซาโอเนตาบารุ

ซากโบราณถ้ำชิราโฮะซาโอเนตาบารุ

ซากโบราณถ้ำชิราโฮะซาโอเนตาบารุ (ญี่ปุ่น: 白保竿根田原洞穴遺跡; โรมาจิ: Shiraho Saonetabaru Dōketsu Iseki) เป็นแหล่งบรรพมานุษยวิทยา (paleoanthropological site) ตั้งอยู่บนเกาะอิชิงากิของหมู่เกาะยาเอยามะในประเทศญี่ปุ่น ชิราโฮะ ซาโอเนตาบารุ เป็นถ้ำหินปูน[1] ค้นพบครั้งแรกใน ค.ศ. 2007 เมื่อมีการพัฒนาโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานชินอิชิงากิ[1] สมาคมถ้ำหินปูนโอกินาวะพบซากของศีรษะมนุษย์ เท้า และแขนในระหว่าง ค.ศ. 2007 และ ค.ศ. 2009[2] ตัวอย่างมนุษย์สามร่างสามารถย้อนรอยได้ 20,000–16,000 ปีก่อน[3] นอกจากนี้ ยังพบกระดูกของหมูป่าและนก อีกทั้งจากการสำรวจชั้นหินยังพบกระดูกมนุษย์ราว 300 ชิ้น อายุประมาณ 24,000–20,000 ปี ในระยะเวลาสามเดือนใน ค.ศ. 2011[4]ใน ค.ศ. 2015 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรีวกีวและมหาวิทยาลัยโตเกียวประสบความสำเร็จในการหาอายุคาร์บอนของกระดูกสามชิ้นจากทั้งหมดห้าชิ้น ผลการทดสอบระบุอายุของกระดูกว่าอยู่ในช่วง 22,890–18,100 ปีก่อนปัจจุบัน (Before Present, BP)[1] การสำรวจที่เริ่มขึ้นระหว่าง ค.ศ. 2012 และ ค.ศ. 2016 ทำให้ค้นพบชิ้นส่วนมนุษย์มากกว่า 1,000 ชิ้นจากโครงกระดูกมนุษย์อย่างน้อย 19 โครง โดยโครงกระดูกมนุษย์ชิ้นที่ 4 ที่มีความสมบูรณ์แบบมากที่สุดมีอายุราว 27,000 ปีก่อนปัจจุบัน[5] กลายเป็นโครงกระดูกที่สมบูรณ์ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกและเก่าแก่กว่าโครงกระดูกชาวมินาโตงาวะหลายพันปี[6] โดยพิจารณาจากท่าของโครงกระดูก ซากโบราณได้รับการยืนยันว่าเป็นสุสานแห่งแรกในยุคหินของประเทศญี่ปุ่น[5]

ซากโบราณถ้ำชิราโฮะซาโอเนตาบารุ