กลวิธีการประพันธ์ ของ ซาดีก

วอลแตร์แต่งเรื่องซาดีกขึ้นโดยใช้รูปแบบของการเล่าเรื่อง (le conte philosophique) ในแนวนวนิยายเชิงปรัชญา ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้ลับคมฝีปากของเขาอย่างเต็มที่ เขาได้ใช้ฉากที่สมมติขึ้นในประเทศตะวันออก (l’exotisme) มาเป็นฉากในการเล่าเรื่อง เพื่อที่ว่าจะได้ง่ายต่อการเสียดสีวิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ ในสังคมที่เขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม

หากจะกล่าวถึงวอลแตร์กับซาดีก จะเห็นได้ว่าตัวซาดีกนั้นคือวอลแตร์นั่นเอง ซึ่งในเรื่องนี้กษัตริย์ โมอับดาร์ก็คือพระหลุยส์ที่ 15 นั่นเอง โดยวอลแตร์มีความหวังว่าเขาจะได้มีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ และซาดีกก็ได้เป็นอัครมหาเสนาบดีของพระเจ้าโมอับดาร์ และเป็นที่ปรึกษาของพระเจ้านาบุสซันอีกด้วยวอลแตร์ต้องการต่อต้านราชสำนักแวร์ซาย เขาเปิดเผยให้เห็นถึงการคอรัปชั่น ความโง่ ความอิจฉาริษยา การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นและความเสื่อมโดยผ่านตัวซาดีก ท้ายที่สุด วอลแตร์ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ คือการใช้เหตุผลในการตัดสินปัญหา วอลแตร์ยังได้แสดงความสงสัยในเรื่องแผนการของพระเจ้า ซึ่งเราเองเป็นคนธรรมดาไม่อาจเข้าใจได้ แต่นับว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด กล่าวคือเขาไม่ยอมรับคำกล่าวที่ว่า “ความยุติธรรมของพระเจ้าไม่ใช่ความอยุติธรรมของมนุษย์” เขาเชื่อว่าพระเจ้าสร้างจักรวาลอันยิ่งใหญ่ให้อยู่ในกฎเกณฑ์อันไม่เปลี่ยนแปลงและไม่เอนเอียงไปตามคำสวดอ้อนวอนของใคร แต่พระเจ้าก็ได้ประทานเหตุผลและความเมตตาให้แก่มนุษย์ ซึ่งถ้าคนเรารู้จักนำ 2 สิ่งนี้มาปรับใช้กับชีวิตของตนก็จะพบกับความสุขได้ไม่ยาก

  • ภาษาศิลป์

วอลแตร์ได้สอดแทรกความคิดของเขาลงไปในเนื้อเรื่อง โดยใช้ถ้อยคำที่เสียดสีประชดประชันอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้เขาสามารถตีแผ่นิสัยที่แท้จริงของแต่ละคนได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งความงมงาย ความเพ้อคลั่งทางศาสนา ความเพ้อเจ้อของนักอภิปรัชญา ความฟุ้งเฟ้อของราชสำนัก ความไม่ยุติธรรมทั้งหลายในสังคมมนุษย์ได้อย่างแนบเนียนลึกซึ้งและตรึงใจผู้อ่าน ตัววอลแตร์เองได้แอบซ่อนอยู่หลังบรรทัด คอยยิ้มคอยเยาะ เย้ยหยัน เย้าหยอก แดกดัน ประชดประชัน เสียดสีความเป็นไปทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ ด้วยภาษาที่ไพเราะสละสลวย ประณีตบรรจงและงดงาม

  • โครงเรื่องและฉาก

วอลแตร์ได้ผสมผสานโดยอาศัยรูปแบบที่เกี่ยวกับนิยายตะวันออกรวมกับนิยายตะวันตก โดยออกมาในรูปแบบไพรัชนิยาย (les contes éxotiques) ซึ่งหมายถึง นิทานหรือนิยายที่ใช้ฉากในท้องเรื่องดำเนินไปในดินแดนไกลที่สมมติขึ้น ทั้งนี้เพื่อง่ายต่อการเสียดสีสังคม ในเรื่องนี้วอลแตร์ใช้กรุงบาบิโลนเป็นฉาก ซึ่งจริง ๆ แล้วหมายถึงกรุงปารีสนั่นเอง ส่วนจักรวรรดิแคลเดียหรือเฟอร์เซียโบราณนั่นก็คือ ประเทศฝรั่งเศส เรื่องราวที่เกิดขึ้นในเนื้อเรื่องก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศฝรั่งเศส ลักษณะเด่นของ นิทานปรัชญาเรื่องนี้ วอลแตร์ได้สื่อความหมายของชะตากรรมที่เกิดขึ้นและตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น จุดประสงค์หลักของนิทานเรื่องนี้ก็คือต้องการสื่อให้เห็นถึงความหมายของคำว่า “ชะตากรรม”

  • ตัวละครสำคัญ
    • ซาดีก – เป็นชายหนุ่มชาวเมืองบาบิโลนในสมัยโบราณผู้พรั่งพร้อมด้วยคุณสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณธรรมความดี ด้วยความที่เขาเป็นคนฉลาด มีไหวพริบและซื่อสัตย์ ทำให้เขาได้เป็นเสนาบดีที่โปรดปรานของกษัตริย์โมอับดาร์ แต่ชีวิตของเขาก็ต้องผจญภัยกับความทุกข์ยากนานัปการในเวลาต่อมา ซึ่งวอลแตร์ได้ใช้ซาดีกเปรียบเสมือนตัวละครที่ถ่ายทอดชีวิตของเขาออกมา คือชะตาชีวิตที่ผกผันของเขาในราชสำนักระหว่างปี พ.ศ. 2286 - พ.ศ. 2290
    • พระราชาโมอับดาร์ – เป็นพระราชาแห่งกรุงบาบิโลน พระองค์เป็นกษัตริย์ที่มีคุณธรรม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พระองค์มีพระราชประสงค์ให้วางยาพิษราชินีอัสตาร์เต้และรัดคอซาดีก และหลังจากนั้นพระองค์ก็ดูเหมือนจะละทิ้งคุณธรรมไปเพราะความลุ่มหลงในผู้หญิงคนหนึ่ง

ส่วนตัวละครตัวอื่น ๆ แทบทุกตัวเป็นแบบฉบับของความเลวทรามอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สตรีมีแต่จิตใจรวนเร บุรุษล้วนละโมบและริษยากัน พระก็คลั่งศาสนาแบบไม่ลืมหูลืมตา ประชาชนก็เอาแต่งมงาย

ในเรื่องนี้ วอลแตร์ต้องการแสดงให้เห็นว่าการแสวงหาความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนทุกชนชั้นในสังคมโลกต้องการ และเป็นสิ่งที่หาได้ยากมาก ดังนั้นเขาจึงเอาความสุขเหล่านี้ไปผูกกับตัวละครเอกของเรื่องที่ดำเนินชีวิตไปอย่างลุ่ม ๆ ดอน ๆ สุขบ้างทุกข์บ้าง นอกจากนี้ วอลแตร์ยังได้ยกตัวอย่างของมนุษย์ที่เป็นตัวอย่างของความเลวไว้ด้วย ที่ว่าสตรีมีจิตใจรวนเรไม่แน่นอน บุรุษมีแต่ความละโมบและความอิจฉา ชอบโกหก เจ้าเล่ห์และฉ้อโกง พวกพระก็เพ้อคลั่งในศาสนาอย่างไม่ลืมหูลืมตา ความเมตตาล้วนแต่ได้รับความอกตัญญูเป็นสิ่งตอบแทนและความสุขก็เป็นสิ่งที่หายากเสียเหลือเกิน ส่วนในเรื่องความเชื่อที่งมงายทางด้านพิธีกรรม วอลแตร์ได้ต่อต้านโดยการถ่ายทอดความคิดของเขาลงไปในตัวละครคือ การให้ซาดีกไป เกลี้ยกล่อมผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคร่งครัดทางศาสนาให้ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำพิธีสตี ทั้งนี้วอลแตร์ได้สอดแทรกทัศนะทางปรัชญาของเขาไว้ในผลงานชิ้นนี้ด้วย กล่าวคือ เขายกความไม่แน่นอน ความผันแปรทั้งหลายให้เป็นความประสงค์ของพรหมลิขิต (la providence) ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถหยั่งถึงได้ ดังจะเห็นในบทท้าย ๆ ของเรื่อง คือ ซาดีกได้พบกับเทวทูตที่ปลอมตัวเป็นนักพรต โดยได้เปิดเผยความลับแห่งจักรวาลให้แก่ซาดีก ดังนี้

“ทว่าในโลกนี้หาได้มีความบังเอิญแต่อย่างใดไม่ ทุกสิ่งทั้งปวงเป็นการทดสอบ เป็นการลงโทษ เป็นการให้รางวัล หรือเป็นการกำหนดล่วงหน้า เจ้าคงจำคนหาปลาผู้ที่เชื่อว่าตนจักมีความทุกข์ที่สุดได้ ออรอส-มัด ทรงให้เจ้าไปเปลี่ยนชะตาลิขิตของเขา มรรตัยผู้อ่อนแอ จงสิ้นสงสัยในองค์พระผู้ควรแก่การบูชาเถิด”

นอกจากนี้วอลแตร์ยังมีความเชื่อที่ว่า นอกจากชะตากรรมที่กำหนดชีวิตมนุษย์แล้ว ความดีและความเลวยังเป็นอีกสิ่งที่สัมพันธ์กับชีวิตของมนุษย์

ตัวอย่างของเรื่องซาดีก (Zadig)

วอลแตร์ได้สอดแทรกการเสียดสีสังคมและแนวคิดต่าง ๆ ของเขาไว้ในเรื่องซาดีก ซึ่งจะได้เห็นจากตัวอย่างดังต่อไปนี้

“ถ้าเป็นตาข้างขวา” หมอแอร์แมสกล่าว “ข้าย่อมรักษาให้หายได้ แต่บาดแผลที่ตาซ้ายนั้นมิอาจบำบัดเป็นแน่แท้”

“สองวันต่อมา อาการเป็นพิษนั้นปะทุออกมาเอง ซาดีกจึงหายสนิท แอร์แมสแต่งหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่า ซาดีกมิควรหายเจ็บในครั้งนี้”

วอลแตร์ต้องการเสียดสีหมอในสมัยนั้นว่า เป็นคนที่ไม่รู้จริงในการรักษาโรค มักคาดเดาอย่างผิด ๆ และมักจะหาผลประโยชน์จากอาชีพนี้ แต่เมื่ออาการของคนไข้กลับเป็นไปในทางตรงข้ามกับที่หมอได้กล่าวไว้ หมอก็กลับแต่งหนังสือขึ้นมาเพื่อพิสูจน์ว่า เป็นไปไม่ได้ที่อาการเช่นนี้จะสามารถรักษาให้หายได้

นอกจากนี้วอลแตร์ยังได้เสียดสีถึงระบบความยุติธรรมในสมัยนั้นด้วย ดังเช่นในตอนที่ซาดีกถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยม้าของพระราชาและสุนัขของพระราชินีไปโดยที่ไม่มีหลักฐานอะไรเลย

"มหาอำมาตย์แลหัวหน้าขันที ปลงใจว่าซาดีกเป็นคนขโมยอัศวราชของพระราชาและสุนัขของ พระราชินี จึงพาตัวมาต่อหน้าที่ประชุมคณะผู้ให้คำปรึกษาของประมุขมนตรีแห่งเมือง ที่ประชุมตัดสินให้ลงโทษด้วยการโบย แล้วเนรเทศไปไซบีเรียตลอดชีวิต การพิพากษาเพิ่งสิ้นสุดลง ก็มีผู้พบอาชาและสุนัข คณะตุลาการจำต้องกลับคำตัดสินด้วยความทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาตัดสินใหม่ว่า ซาดีกมีโทษฐานกล่าวว่ามิได้เห็นสิ่งที่เขาเห็นและให้ถ่ายโทษด้วยทองคำหนักสิบชั่ง ซาดีกต้องเสียค่าปรับจำนวนนั้นทันที เสร็จแล้วจึงอนุญาตให้แก้ต่างต่อคณะที่ปรึกษาของประมุขมนตรีได้ (…)"

วอลแตร์ต้องการเสียดสีระบบการศาลในสมัยนั้นว่า ไม่มีความยุติธรรม มักจะตัดสินตามอำเภอใจแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดได้ และกฎหมายนั้นมีความรุนแรงเกินเหตุ

นอกจากอาชีพหมอและระบบความยุติธรรมที่วอลแตร์ได้เสียดสีแล้ว เขายังเสียดสีชนชั้นขุนนางในสมัยนั้นอีกเช่นกัน

แขกรับเชิญของเขามาจากตระกูลเก่าแก่แห่งบาบิโลน ที่เป็นสตรีก็น่าชื่นชมไปทั้งสิ้น อาหารที่เลี้ยงก็จัดมาล้วนประณีต และหลายครั้งหลายคราวก็มีการฟังดนตรีก่อน การสนทนาระหว่างเวลาอาหารแฝงเสน่ห์ชวนติดตาม ซาดีกรู้วิธีที่จะมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งโอ้อวดว่ามีสติปัญญา การโอ้อวดเยี่ยงนั้นย่อมแสดงชัดว่า ผู้พูดมิรู้จริงในสิ่งที่กล่าวอ้าง และสังคมน้อยๆที่ปราดเปรื่องนี้จักมิถูกทำลายให้สิ้นความสำราญไป บุรุษและสตรีที่ซาดีกเลือกเชิญมาก็ดี อาหารที่เขาเลือกสรรก็ดี มิได้เป็นไปเพื่อสนองความหลงตน ด้วยซาดีกนั้นนิยมชมชื่นในตัวตนแท้จริงของบุคคลยิ่งกว่าสิ่งที่เห็นจากภายนอก ดังนี้เขาจึงได้รับความนับถืออย่างจริงใจจากคนรอบข้าง โดยที่มิได้เรียกร้องแต่อย่างใด

วอลแตร์ต้องการเสียดสีขุนนางที่มักจัดงานเลี้ยงสังสรรค์อย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือยและใหญ่โตเสมอ เพื่อที่จะโอ้อวดว่าตนร่ำรวย มาจากชนชั้นสูง นอกจากนี้เขายังได้กล่าวถึงบุคคลที่มักชอบโอ้อวด แสดงความรู้ว่าตนเก่ง มีความรู้มาก มีสติปัญญาดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว บุคคลเหล่านี้มิได้รู้จริงในสิ่งที่พูด หรืออาจจะรู้เพียงแค่ฉาบฉวยเท่านั้น

ในทางศาสนานั้น วอลแตร์ได้เสียดสีในเรื่องของความเชื่องมงายในศาสนา เช่นกัน

ทว่าซาดีกมิพอใจที่เซต็อคกราบไหว้บูชาทวยเทพแห่งฟากฟ้า อันได้แก่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และหมู่ดาว ตามธรรมเนียมประเพณีของชาวอาระเบีย ซาดีกตะล่อมพูดถึงเรื่องนี้ ท้ายที่สุดก็กล่าวว่า เทพแห่งท้องฟ้าเป็นเพียงเทพฟากฟ้าดังเช่นเทพวัตถุอื่น ๆ ซึ่งมิคู่ควรแก่การบูชามากไปกว่าต้นไม้ต้นหนึ่งหรือผาหินแห่งหนึ่ง

วอลแตร์ไม่เห็นด้วยที่มนุษย์เรานั้นมีความเชื่องมงายในลัทธิต่าง ๆ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่ง เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้มนุษย์ขาดเหตุผลและเกิดความงมงาย ความบ้าคลั่งทางศาสนา

บทความเกี่ยวกับวรรณกรรมนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:โลกวรรณศิลป์